ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงหลังผ่อนปรนกิจการ 14 วันหวั่นระบาดเพิ่มจากการสัมผัสใกล้ชิดกัน ย้ำกิจการต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ส่วนผู้รับบริการช่วยตรวจสอบ พร้อมแจ้งรัฐผ่าน THAISTOPCOVID

วันที่ 3 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้เกิด 2 ปรากฏการณ์ คือ 1.ประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัด และ 2.การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์กิจการบางประเภทกลับมาเปิดกิจการได้ จึงต้องร่วมมืออย่างเข้มข้นในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ระดับการระบาดสูงขึ้นอีกครั้งจนเกินควบคุม รอบนี้ต้องยกให้ผู้ประกอบการเป็นแม่ทัพด่านหน้าในการต้านโควิด 19 เพราะต้องเข้มข้นเรื่องมาตรการสกัดการแพร่เชื้อ ส่วนลูกทัพคือประชาชนผู้ใช้บริการต้องร่วมมือรักษาความสะอาด ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง นอกจากนี้ ต้องร่วมตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีความพร้อมเรื่องป้องกันการระบาดหรือไม่ โดยสามารถส่งข้อมูลย้อนกลับผ่าน THAISTOPCOVID (stopcovid.anamai.moph.go.th) เพื่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ

นพ.บัญชา กล่าวว่า หลังจากมีการผ่อนปรนประมาณ 14 วัน ยังห่วงว่าระดับการระบาดจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการสัมผัสใกล้ชิดกัน ซึ่งพบมากถึง 41.53 % เพราะวันนี้พบปรากฏการณ์คนเดินทางออกต่างจังหวัดไปเจอกัน สัมผัสกัน ก็จะเสี่ยงติดจากตรงนี้ได้ ที่น่าห่วงอีกอย่างคือการไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเดิมตอนที่เราคุมโรคได้ดี อัตราการระบาดอยู่ที่ 2.81% ดังนั้นเมื่อเปิดแล้วจะแพร่สูงหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและประชาชนคือส่วนสำคัญ

“มีข้อแนะนำสำหรับป้อมปราการ 5 ด่านต้านโควิดคือ 1. คัดกรองไข้จะสามารถเอาอยู่ส่วนหนึ่ง เพราะผู้ป่วยโควิดกว่า 87% มีอาการไข้ จึงนำมาสู่มาตรการ 2.สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยต้องไม่น้อยกว่า 80% เพื่อลดการแพร่และรับเชื้อฯ 3. ถ้ายังมีเชื้อติดอยู่ที่มือการจัดให้มีที่ล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ก็สามารถฆ่าเชื้อได้ไม่น้อยกว่า 90% 4.มาตรการเว้นระยะห่าง และลดจำนวนคนใช้บริการก็จะลดโอกาสแพร่โรคได้อีก 70%” นพ.บัญชา กล่าว และว่า ถ้าทำทั้ง 4 อย่างนี้อย่างเคร่งครัดเราจะช่วยกันลดการแพร่ระบาดของโรคได้เยอะ ส่วนมาตรการที่ 5 เป็นมาตรการเสริม อาทิ โหลดแอพพลิเคชั่นจัดคิว ลดความแน่น หรือโหลดแอพฯ ติดตามคนป่วยก็สำคัญแต่ไม่ได้บังคับ แต่ถ้าอัตราการแพร่โรคสูงขึ้นอาจจะต้องบังคับ

ทั้งนี้ เมื่อเปิดบริการแล้ว การจะออกตรวจทุกๆ สถานบริการทุกๆ 2 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น คนที่จะร่วมตรวจสอบได้ คือ ประชาชน ซึ่งที่หน้าร้านมีป้ายรับรองที่มีคิวอาร์โค๊ดอยู่ประชาชนสามารถสแกน ตรวจสอบร้องเรียนได้

ด้าน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าชุด ส่วนระดับอำเภอ มอบหมายนายอำเภอเป็นหัวหน้าชุด เข้าตรวจสอบมาตรฐานการเปิดให้บริการของสถานประกอบการ ตลาดสด และตลาดนัดในแต่ละพื้นที่ โดยมีตลาดที่อยู่กำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 4,000 แห่งรวมทั้งตลาดนัดที่อยู่ในควบคุมจำนวนมาก จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบการปฏิบัติตามเงื่อนไข

อนึ่ง สรุปภาพรวมวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย กลับบ้านวันนี้ 7 ราย รวมสะสม 2,739 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 176 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 54 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 2,969 ราย