ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มต้นปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 กระจายไปทั่วโลก สถานการณ์การระบาดของโรคร้ายแรงเช่นนี้ ชวนให้นึกย้อนถึงโรคเอดส์ที่เคยเป็นภัยคุกคามคนทั่วโลก ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ราว 37 ล้านคนทั่วโลก เราทราบกันดีว่าเอดส์ยังไม่มีวัคซีน ยังไม่มีการรักษาให้สามารถหายขาดได้แต่ทั้งโลกต่างยินยอมอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้มายาวนานได้อย่างไร

ไวรัส HIV ย่อมาจาก human Immunodeficiency Virus เป็นไวรัสก่อโรคเอดส์ โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกายเวลาที่เราเจ็บป่วย AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome (โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง) โรคเอดส์จะเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกเชื้อเอชไอวีบั่นทอนให้อ่อนแอลง จนถึงขั้นที่ร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคต่างๆได้อีก จนเริ่มติดเชื้อ หรือเกิดเป็นโรคต่างๆ

ค้นพบโรคเอดส์ครั้งแรก

โรคเอดส์พบครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยเป็นชายรักร่วมเพศป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อ นิวโมซีสตีส แครินิอาย (Pneumocystis Carinii) ทั้งที่เป็นคนแข็งแรงมากมาก่อน และไม่เคยใช้ยากดภูมิต้านทาน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ จากการศึกษาย้อนหลัง พบว่าโรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกในปี 2503 และต่อมาได้แพร่ไปยังเกาะไฮติ ทวีปอเมริกา ยุโรปและเอเชียรวมทั้งประเทศไทยด้วย ผู้ป่วยเอดส์รายแรกในประเทศไทยเป็นชายอายุ 28 ปี เดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกาและมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เริ่มมีอาการในปี 2526 ได้รับการตรวจและรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พบว่าปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis Carinii แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคเอดส์ จึงกลับมารักษาตัวที่ประเทศไทยในปี 2527 และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ดังนั้นในปี 2527 ประเทศไทยจึงเริ่มมีโรคเอดส์เกิดขึ้นตามรายงานครั้งแรก และในช่วง ปี 2527 ถึง 2533 จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเอดส์มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบให้มีคณะกรรมการประสานงานโรคเอดส์แห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2528 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน

ระบาดวิทยาเอดส์ในไทย

ประชากรไทยติดเชื้อเอชไอวีสูงสุดใน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศทางตรง กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศแฝง กลุ่มชายที่มาตรวจกามโรค กลุ่มชายขายบริการทางเพศ กลุ่มหญิงที่มาฝากครรภ์ กลุ่มโลหิตบริจาค และกลุ่มชายไทยที่เข้าเป็นทหารประจำการ

ศูนย์ข้อมูลทางระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่ากลุ่มอายุ 30 - 34 ปี มีผู้ป่วยสูงสุด (ร้อยละ 25.86) รองลงมาได้แก่ อายุ 25 - 29 ปี โดยพบว่ากลุ่มอายุต่ำสุด คือ กลุ่มอายุเพียง 10-14 ปี (ร้อยละ 0.29) เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่าอาชีพรับจ้างเป็นกลุ่มที่เป็นเอดส์มากที่สุด รองลงมาคือ เกษตรกร ว่างงาน ค้าขาย และแม่บ้าน ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อเอดส์นั้น พบว่าร้อยละ 83.97 ติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ รองลงมา คือ การฉีดยาเสพติดเข้าเส้น และติดเชื้อจากมารดา อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุ ถึงร้อยละ 7.30 ส่วนเชื้อฉวยโอกาส ที่สามารถตรวจพบในผู้ป่วยเอดส์มากที่สุด ได้แก่ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดวัณโรค นั่นเอง

รายงานทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ปี 2532 จากการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอดส์ในกลุ่มประชากร โดยการสุ่มตรวจการติดเชื้อเอชไอวีในประชากรเป้าหมาย 8 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น มีอัตราความชุกอยู่ในระดับสูงมาโดยตลอด ในปี 2551 รายงานข้อมูลล่าสุดของสำนักระบาดวิทยา ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นมีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นถึง ร้อยละ 48.15 แต่มีการรายงานเพียง 9 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาในเชิงระบบการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงอยู่มาก ทั้งยังเป็นปัญหาด้านนโยบายการให้บริการการดูแลรักษา การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการลดพฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างมีความซับซ้อนมาก จากข้อมูลได้สะท้อนให้เห็นพื้นที่จังหวัดที่เป็นปัญหา ในขณะที่ (2) กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศทางตรง (3) กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศแฝง และ (4)กลุ่มชายที่มาตรวจกามโรคมีแนวโน้มของการติดเชื้อลดลงจากรอบปีที่ผ่านมา เป็น ร้อยละ 4.67 ร้อยละ 2.64 และร้อยละ 3.19 ตามลำดับ โดยเฉพาะใน (5) กลุ่มชายขายบริการทางเพศ พบร้อยละ 12.21 กลุ่มชาวประมง ร้อยละ 2.5 และกลุ่มแรงงานต่างชาติ พบร้อยละ 1.00

(6) กลุ่มหญิงที่มาฝากครรภ์และ (7) กลุ่มโลหิตบริจาค พบว่าอัตราความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มหญิงที่มาฝากครรภ์มีแนวโน้มลดลง ตั้งแต่ปี 2541-2551 จากร้อยละ 1.53 เหลือร้อยละ 0.72 ส่วนอัตราการติดเชื้อในกลุ่มโลหิตบริจาคมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย ในปี2541-2549 จากร้อยละ 0.40 และมีแนวโน้มที่ลดลงในปี 2551 ร้อยละ 0.18 ในขณะที่ (8) กลุ่มชายไทยที่เข้าเป็นทหารประจำการมีแนวโน้มคงที่ ซึ่งอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายไทยที่เข้าเกณฑ์ทหารส่วนใหญ่พบมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร 2.67 รองลงมาภาคเหนือ 1.62 ภาคกลาง 1.60 (ไม่รวมกรุงเทพฯ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.40 และภาคใต้ 1.00 ตามลำดับ

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้คาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ในปี 2562 จำนวน 77,558 คน เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จำนวน 1,190 คน ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี จำนวน 628 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.8 และมีผู้เสียชีวิตภายในปี 2562 จำนวน 1,877 คน ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NAP Program) ในปี 2561 พบว่า มีผู้ที่ทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่จำนวน 70,747 คน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่จำนวน 55,123 คน และมีผลการตรวจพบว่า มีปริมาณไวรัสในกระแสเลือดน้อยกว่า 1,000 copies/ml จำนวน 41,893 คน

ยาต้านไวรัสและความพยายามหยุดยั้งการติดเชื้อเอดส์

ทั้งโลกต่างยอมอยู่ร่วมกับไวรัสเอดส์มาได้หลายสิบปีเนื่องจากมีการพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง ยาต้านไวรัสหรือที่เรียกว่า "เออาร์วี" (ARV) ย่อมาจาก antiretroviral ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสเอดส์จำนวนมาก ออกฤทธิ์ยับยั้งทำให้เชื้อไวรัสเอดส์ลดน้อยลงได้ และช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ยาต้านไวรัสเอดส์ส่วนใหญ่ใช้ได้ผลดี แต่ยังพบปัญหาของการใช้ยาบางประการ ทั้งปัญหาจากผลข้างเคียงของยา ปัญหาการดื้อยาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตที่ต้องกินยาให้ถูกต้องสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนานตลอดชีวิต สำหรับประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่ยาต้านไวรัสเอดส์ Efavirenz Tablets 600 mg ขององค์การเภสัชกรรม (จีพีโอ) ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อ WHO Prequalification Program (WHO PQ) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ส่งผลให้ผู้ป่วยเอดส์ไทยเข้าถึงยาคุณภาพระดับสากล

ความพยายามล่าสุด นักวิทย์สหรัฐฯ พบโมเลกุล RNA ทำหน้าที่เป็น ‘ปุ่มหยุดการทำงาน’ ของเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส เอชไอวี แบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่แล้ว ในเดือนกันยายน 2562 เว็บไซต์เดอะ ซัน รายงานว่าความหวังของบรรดาผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่นำไปสู่โรคเอดส์ อาจได้รับการรักษาจนหายจากการติดเชื้อร้ายกำลังใกล้เข้ามาอีกขั้น เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซาน ดิเอโก ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ค้นพบโมเลกุล RNA ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็น ‘kill swith’ หรือปุ่มหยุดการทำงาน ที่สามารถหยุดยั้งเซลล์ที่ติดเชื้อเอชไอวี แบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่ หลังจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พยายามค้นหาโมเลกุลนี้กันมานานนับ 30 ปี

ปัจจุบันโรคเอดส์ยังเป็นวาระสำคัญระดับโลก โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ตั้งเป้าหมายถึงการยุติปัญหาเอดส์ทั่วโลกในปี 2573 และมีรายงานถึงจำนวนผู้ป่วยเอดส์ครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกได้รับการบำบัด แต่จำนวนกว่า 17 ล้านคนยังมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบยาต้านไวรัส ส่วนหนึ่งเพราะเขาเหล่านั้นไม่รู้ว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงจาก 3.4 ล้านคนมาอยู่ที่1.8 ล้านคนต่อปีโดยกลุ่มเสี่ยงคือผู้หญิงที่มีอายุน้อย ชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ขายบริการทางเพศและกลุ่มคนข้ามเพศ

อ้างอิง

1.กรมควบคุมโรค :สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

2.กองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

3.วิกิพีเดีย,วันเอดส์โลก

4.The standard, กทม. คาดผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2562 สูงกว่า 7 หมื่นคน ชี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 52.8% เป็นกลุ่มคนอายุไม่เกิน 25 ปี

5.The sun, HIV HOPE HIV cure is step closer as scientists discover ‘kill switch’ that stops virus Reproducing.

“โมเลกุล ที่เรียกว่า 'kill switch' สามารถหยุดยั้งเซลล์ที่ติดเชื้อเอชไอวีแบ่งตัวสร้างเซลล์ใหม่" ภาพจาก The sun