ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เผยสาเหตุไม่ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุมการระบาดโควิด-19 ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง

หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้(26 พ.ค.) จะมีวาระพิจารณาการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.63 เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ นั้น

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 กรณีมีคำถามจากทางบ้าน ว่า เมื่อตัวเลขผู้ป่วยลดลง เพราะเหตุใดยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ก่อนการมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราใช้แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งต้องทำงานเฉพาะกระทรวง แต่พอข้ามกระทรวง ต้องให้กระทรวงอื่น กรมอื่นทำ ก็ต้องมีการสั่งการ ซึ่งการสั่งการโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำได้ไม่ดี แต่แตกต่างจากช่วงหลังเมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะทำได้คล่องกว่า เพราะจะมีกฎหมายอื่นๆ และกฎหมายโรคติดต่อรวมอยู่ในนี้ประมาณกว่า 40 ฉบับ ทั้งหมดคือการควบคุมโรค ทั้งเส้นทางคมนาคม ตม. กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย การจะมีคนมาคุมต้องมีลีดนำเพื่อให้ดำเนินการจัดการได้

“ที่เห็นชัดอีกตัวอย่างคือ การจัดการเรื่องหน้ากากอนามัย ก็มองมาว่า กระทรวงสาธารณสุขพยายามต้องจัดสรรให้พอ แต่จริงๆต้นทางผลิตไม่ใช่ เพราะเขามีสัญญาส่งออกต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้กฎหมายฉบับเดียวจัดการไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นจากกฎหมายอื่นๆ โดยทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมก่อน จึงจะจัดการอย่างอื่นได้ ดังนั้น กฎหมายโรคติดต่อไม่สามารถจัดการได้หมด และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ ทั้งการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ การคมนาคมการข้ามผ่านจังหวัด มีอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้คือ ความสำคัญของการบูรณาการ โรคนี้เป็นโรคใหม่ วิธีการจัดการให้ดีคือ ต้องจัดการเรื่องบุคคลให้ได้ดี นี่คือสิ่งที่จำเป็นเราต้องรวบอำนาจเพื่อจัดการเบ็ดเสร็จให้ควบคุมโรคได้ดี” โฆษก ศบค. กล่าว