ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมกก.นโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพฯ เผยปัญหาเชื้อดื้อยาเพียบ! ผุดโรดแมปปี 63-64 แก้ไข พร้อมเสนอ ก.อุดมฯ ออกหลักสูตรเฉพาะในการเรียนการสอน

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติครั้งที่ 1/2563 ว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศไทยที่พบว่าในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 ราย ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็น 0.6 % ของค่าจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดังนั้น สธ. จึงได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยคณะกรรมการฯได้เห็นชอบโรดแมปปี2563-2564 ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขถาพหนึ่งเดียว 2.ควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ 3.ป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม

รมช.สธ.กล่าวอีกว่า 4.ป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะในภาคเกษตรและสัตว์เลี้ยง 5.ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและสร้างความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแก่ประชาชน และ6.บริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี และฉบับแรกของประเทศไทยจะสิ้นสุดลงในปี 2564 คณะกรรมการฯ จึงได้เห็นชอบให้มีการเตรียมจัดทำแผนฉบับที่ 2 เพื่อรองรับการดำเนินการในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศระยะต่อไปด้วย

“นอกจากนี้ เราต้องให้คนตระหนักรู้เรื่องการลดการใช้ยาปฏิชีวนะ จากที่ผ่านมาพบเพียง 3% ต้องเพิ่มเป็น 20% และต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนถึงผลกระทบที่ได้รับจากการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล จึงต้องเร่งดำเนินการทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ทั้งหมด นอกจากนี้ จะประสานกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ในการบรรจุหลักสูตรความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาเข้าในระบบการศึกษาด้วย ซึ่งระบบการศึกษาก็จะมีหลายระดับ เป็นต้น” ดร.สาธิต กล่าว

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ในส่วนของการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดำเนินกิจกรรมผ่านทางอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน ภาคประชาสังคมสื่อกระแสหลัก และสื่อสังคม รวมทั้งการนำแนวคิดการตลาดเพื่อสังคม (social marketing) มาใช้เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการติดตามและประเมินความรู้เรื่องนี้ของประชาชนโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติควบคู่กันอีกด้วย โดยสรุป การดำเนินการระยะครึ่งแผนฯ ที่ผ่านมา เน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบใหม่ที่จำเป็น และปรับปรุงสมรรถนะของระบบเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งประสานการทำงานร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว เพื่อให้การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศเป็นไปด้วยความยั่งยืนและเป็นเอกภาพ และตั้งอยู่บนรากฐานทางวิชาการที่มั่นคง