ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ่งแวดล้อม คน สัตว์ อาหาร วงจรเชื้อดื้อยา ตัดวงจรการแพร่เชื้อ-รับเชื้อ ด้วยการ "หยุดเป็นเหยื่อเชื้อดื้อยา"

เนื่องด้วยปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลก จากการศึกษาที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในประเทศไทยมากถึงปีละ 38,000 คน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตปีละ 700,000 คน ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงจับมือ 22 หน่วยงานทั้งภาครัฐ สมาคมและองค์กรวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ร่วมปลุกกระแสเชื้อดื้อยา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำผู้เกี่ยวข้องร่วมเปิดงาน “สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก” ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ สไตลิส คอนเวนชั่น นนทบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน

ภายในงาน ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ศูนย์ประสานงานองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ในหัวข้อสถานการณ์เชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ว่า พบความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้ยากับการดื้อยา ไม่ใช่เฉพาะในคน แต่รวมถึงในสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน เช่น การใช้ยาในคนไข้โรคหวัด เมื่อการใช้ยาสูงมาก เชื้อดื้อยาก็เพิ่มเปอร์เซนต์มากขึ้น สอดคล้องกับการใช้ยาน้อยลง อัตราการดื้อยาก็ลดลง เพิ่มความไวของยามากยิ่งขึ้น

สำหรับการดื้อยาต้านจุลชีพ การใช้ และการบริโภคยาต้านจุลชีพในประเทศไทย Antimicrobial Resistance (AMR) แบ่งเป็นชนิดแบคทีเรียดื้อยาและความชุกการดื้อยา Overall 35% Ceftriaxone-resistant E.coli 40% Ceftriaxone-resistant K.pneumoniae 49% Carbapenem-resistant Acinetobacter spp. 70% Carbapenem-resistant P.aeruginosa 28% CRE 8% และ MRSA 16% โดยประเภทการติดเชื้อ แบ่งเป็น 2 ประเภท การติดเชื้อจากชุมชน ความชุกการดื้อยา 14% ส่วนการติดเชื้อในโรงพยาบาล ความชุกการดื้อยา 48%

ศ.นพ.วิษณุ ธรรมลิขิตกุล

ศ.นพ.วิษณุ ยังได้เปิดเผยผลสำรวจในปี 2561 ซึ่งมีการสำรวจผสมผสานอย่างอย่างใน 1 วัน เช่น สำรวจการใช้ยา การบริโภคยา การดื้อยา และการติดเชื้อในโรงพยาบาล ว่า การสำรวจนี้แบ่งทุกระดับ ทุกภาค ในโรงพยาบาล 183 แห่ง ผู้ป่วยกว่า 23,000 คน พบว่า ความชุกเฉลี่ยของการใช้ยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาล Antimicrobial Use (AMU) ความชุกอยู่ที่ 52% ส่วนใหญ่แบ่งเป็นขนาน หนึ่งในสี่ได้ 2 ขนาน ซึ่งการใช้ยาจะแบ่งเป็น 2 แบบ 20% ใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อีก 80% ใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อรักษาการติดเชื้อ โดยกลุ่มที่ใช้เพื่อป้องกัน 70% ใช้ยาไม่เหมาะสม ใช้ยานานกว่า 2 วัน ในคนไข้ที่ป้องกันการติดเชื้อจากการผ่าตัด ด้านคนไข้ที่ใช้ยาจากการรักษา 40% ใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ใช้ยาที่มีฤทธิ์กว้างเกินไป โดยเฉพาะการให้ยา Ceftriaxone ในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ ทั้งที่ควรถนอมไว้ใช้ยามจำเป็นจะดีกว่า หากใช้ยามากไปจะทำให้เชื้อดื้อยาได้ เมื่อเชื้อดื้อยาแล้วก็ต้องให้ยาเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนตัวยา หากเชื้อดื้อยาก็จะพบกับปัญหาใหญ่ขึ้น เพราะเชื้อเหล่านี้ รักษายาก ยาที่มีส่งผลได้ไม่ดีนัก ผลข้างเคียงสูง อัตราตายก็สูง

"การที่เชื้อไม่ดื้อยา กลายเป็นเชื้อดื้อยา มีปัจจัยบางอย่างทำให้เกิดการกลายพันธุ์จากไม่ดื้อยาเป็นดื้อยา 1.หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ หรือยาต้านจุลชีพตกค้างอยู่ในอาหารหรือสิ่งแวดล้อม 2.คนหรือสัตว์ได้รับเชื้อดื้อยาโดยตรงจากอาหาร จากน้ำดื่ม สิ่งแวดล้อม คนและสัตว์ทั่ว ๆ ไป ก็เข้ามาเป็นเชื้อดื้อยาโดยตรงได้ ซึ่งเชื้อดื้อยาอยู่ได้นาน เพราะคนไทยอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ซื้อยาใช้เอง อาหารไม่สะอาด จากการศึกษาในชุมชน พบคนที่มีเชื้อดื้อยา 66 เปอร์เซนต์ ผ่านไป 1 ปีครึ่ง ก็ยังมีเชื้ออยู่ถึง 44 เปอร์เซนต์ เพราะยังใช้ยา กินอาหารไม่สุก"

การแพร่กระจายเชื้อดื้อยาในชุมชน ยังพบการใช้ยาไม่เหมาะสม 30-100% มีการใช้ยามากเกินไป ทำให้เชื้อที่ไวกลายเป็นเชื้อดื้อยา โดยมีการใช้ยา 4 ตัวหลัก ๆ Tetracyclines, Amoxicillin, Ampicillin และ Norfloxacin ศ.นพ.วิษณุ เสริมว่า พาหะเชื้อดื้อยาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีความเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อดื้อยาขึ้นมาได้ ในปัจจุบันมีโอกาสเป็นเชื้อดื้อยาอย่างน้อย 10% ทั้งการใช้ยาในคน ใช้ยาในสัตว์ โดยมียาสำเร็จรูปลักลอบนำมาผสมอาหารสัตว์ จุดประสงค์ เช่น เร่งการเจริญเติบโต และจากการสำรวจในฟาร์มพบว่า สุกรมีเชื้อดื้อยาถึง 80% ไก่ 40% สุนัขที่มีเจ้าของยังพบเชื้อดื้อยา 8% เชื้อดื้อยายังทำให้เกิดโรคเชื้อดื้อยาในสัตว์ได้

นอกจากใช้ในสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง ยังมีการใช้ในการเกษตร เช่น การฉีดยาปฏิชีวนะเข้าไปในต้นส้มเพื่อรักษาหรือป้องกันโรค เชื้อดื้อยาจึงแพร่ไปในอาหารและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบเชื้อดื้อยาสูงมากในเนื้อสัตว์หรือเครื่องในสัตว์ สัตว์น้ำ และผัก ศ.นพ.วิษณุ ย้ำว่า แม้การรับประทานอาหารสุกก็อาจปนเปื้อนได้ และแม้ความร้อนทำลายเชื้อดื้อยาได้ แต่ยีนของเชื้อดื้อยายังคงอยู่ สิ่งแวดล้อมในชุมชนจึงเจอได้เยอะมาก น้ำในแม่น้ำ คลอง ตลาดสด ชุมชน พบได้ทั้งในแมลงสาบ แมลงวัน หนู นอกจากนี้ การทิ้งยาที่ไม่เหมาะสม หรือการขับถ่าย ก็ยังเป็นการแพร่เชื้อไปยังสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

อีกสิ่งสำคัญคือการให้ยาในโรงพยาบาล โดยอัตราการดื้อยาสูงขึ้นในคนไข้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่า อัตราการเป็นพาหะเชื้อดื้อยา ระหว่างแรกอยู่ที่ 50% แต่เมื่อออกจากโรงพยาบาลสูงถึง 72% โดยเชื้อดื้อยายังอยู่ในร่างกายนานหลายปี หากเป็นพาหะก็จะแพร่ไปยังคนไข้คนอื่นหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้ แม้แต่ในการบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลก็ยังพบเชื้อดื้อยาได้

แนวทางเพื่อความปลอดภัยของทุกคนจึงต้องรณรงค์ 3 หยุดให้ประชาชนตระหนัก "หยุดเป็นเหยื่อเชื้อดื้อยา" 1.หยุด! สร้างเชื้อดื้อยา ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ โดยใช้ยาต้านจุลชีพเมื่อจำเป็นด้วยความสมเหตุสมผล 2.หยุด! รับเชื้อดื้อยา 3.หยุด! แพร่เชื้อดื้อยา โดยสองข้อสุดท้ายเน้นเรื่องสุขอนามัยและสุขาภิบาล ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมถึงการงดรับและแพร่เชื้อในโรงพยาบาล