ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. เผยศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้งที่ทำงานชั้นยอด สร้างสุข ลดปัญหาออฟฟิสซินโดรม พร้อมเปิดข้อมูลพบเด็กรุ่นใหม่ทำงานแบบสัญญาจ้างมากขึ้น ทำที่ไหนก็ได้ บ้าน -ร้านกาแฟ

“การงีบกลางวัน 15 นาที ตื่นมาแล้วสมองปลอดโปร่ง ทำงานได้ดีและไม่เครียด ผลที่ได้ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น การหยุด ลา มาสาย ลดลง ลาออกต่ำลง ความกระตือรือร้นในการพัฒนางานมากขึ้น...” น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ ‘ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอด” และ”ถอดรหัสสุดยอดที่ทำงาน: กูเกิล - ดีแทค - ศรีจันทร์" เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

โดยงานเสวนาดังกล่าวภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมีบริษัทชั้นนำในประเทศไทยเข้าร่วม ได้แก่ บริษัทกูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ME by TMB Digital Banking ในเครือธนาคารทหารไทย และบริษัทศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด

น.ส.ณัฐยา อธิบายเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 สสส. ได้เริ่มดำเนินการศึกษาบทเรียนที่ดีของหน่วยงานที่มีความเป็นมิตรต่อครอบครัว (Family Friendly Workplace) จำนวน 17 องค์กร ครอบคลุมตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีอาคารสำนักงานและบริษัทขนาดใหญ่มีพนักงานกว่า 3 หมื่นคน พบจุดที่เหมือนกันคือ ความใส่ใจในชีวิตครอบครัวของพนักงาน/ลูกจ้าง โดยมีนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจน มีนโยบายดูแลพนักงานเกินกว่าที่กฎหมายด้านแรงงานกำหนด เช่น นโยบายการลาดูแลภรรยาที่คลอดบุตรซึ่งกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานราชการต้องดำเนินการ แต่ปัจจุบันหน่วยงานเอกชนหลายแห่งก็ทำนโยบายเช่นเดียวกัน รวมถึงสวัสดิการดูแลสมาชิกในครอบครัวพนักงาน เช่น ศูนย์ดูแลเด็ก ค่าเล่าเรียนและค่ารักษาพยาบาลบุตรจนอายุถึง 20 ปี การจัดรถรับส่งนักเรียนลูกๆ ของพนักงาน หรือแม้แต่ในช่วงเวลาทำงานก็อนุญาตให้ออกกำลังกายในห้องกีฬา จัดให้มีห้องพักผ่อนเพื่อให้หลับกลางวันที่เรียกว่า power nap ซึ่งมีผลการศึกษามากมายยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีแก่พนักงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย

น.ส.ณัฐยา กล่าวว่า บางบริษัทก้าวล้ำถึงขั้นให้พนักงานลาออกชั่วคราวเพื่อไปดูและพ่อแม่ที่ป่วยหนัก บางแห่งมีอุปกรณ์ให้ยืมใช้ เช่น เตียงไฟฟ้าสำหรับผู้ป่วย ฝ่ายบริหารบุคคลขององค์กรเหล่านี้ต่างยืนยันว่านี่คือเคล็ดลับที่ทำให้คนทำงานมีความรักความผูกพันต่อองค์กร ลดปัญหาขาดลามาสาย ลดปัญหาพนักงานลาออกบ่อยๆ กุญแจสำคัญ คือการออกแบบนโยบายองค์กรที่ไม่กดดันให้พนักงานต้องเลือกว่างานหรือครอบครัวมาก่อน ซึ่งองค์กรทั้ง 17 แห่ง ที่พบในการศึกษาได้ช่วยตอกย้ำให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิด “ที่(น่า)ทำงาน” ในสังคมไทย

“คนวัยแรงงานต้องอยู่ในที่ทำงาน วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ถ้านับเวลาเดินทางก็อาจจะมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน เวลาคุณภาพที่จะมีให้สมาชิกในครอบครัวจึงย่อมลดน้อยลง แต่ถ้าหาก 8-10 ชั่วโมงนั้นเป็นเวลาทำงานที่มีสมดุลกับการดูแลสุขภาวะพนักงาน โรคฮิตอย่างออฟฟิศซินโดรมน่าจะลดน้อยลง การงีบกลางวัน 15 นาที ตื่นมาแล้วสมองปลอดโปร่ง ทำงานได้ดีและไม่เครียด ผลที่ได้ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้น การหยุด ลา มาสาย ลดลง ลาออกต่ำลง ความกระตือรือร้นในการพัฒนางานมากขึ้น” น.ส.ณัฐยา กล่าว

ที่สำคัญหากสามารถจัดสมดุลของชีวิตในแต่วันได้ ไม่ว่าจะเป็น work-life balance หรือ work-life integration (การประสานงานและชีวิตส่วนตัวเข้าด้วยกัน) จะช่วยให้สามารถจัดสรรเวลาคุณภาพให้ครอบครัว ซึ่งบทบาทของสถานที่ทำงานมีความสำคัญในแง่ของการช่วยสร้างเงื่อนไขการใช้ชีวิตให้ลูกจ้างสามารถทำหน้าที่ต่อครอบครัวไม่ว่าจะเป็นลูกๆหรือพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา สสส.อยากเห็นว่าเมื่อรัฐมีนโยบายสนับสนุนครอบครัวเข้มแข็งอบอุ่นก็ควรสนับสนุนให้หน่วยงาน/สถานประกอบการช่วยสร้างเงื่อนไขการทำงานที่เอื้ออำนวยต่อการทำบทบาทหน้าที่ของคนทำงานในฐานะผู้ดูแลครอบครัวด้วย

รศ.ดร.พิภพ อุดร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอดีตผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เราเรียกว่า NEW NORMAL คำว่าที่ทำงานหรือออฟฟิศจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ที่ทำงานไม่จำเป็นต้องเป็นออฟฟิศ ทุกที่สามารถเป็นที่ทำงานได้ ทุกตำแหน่งสามารถทำงานที่ใดก็ได้ บริษัทจะมีพื้นที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานของฝ่ายต่างๆ อีกต่อไป

รศ.ดร.พิภพ กล่าวอีกว่า ดัชนีชี้วัดการทำงานจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงาน แต่จะขึ้นอยู่กับผลของงาน ขณะที่องค์กรจะต้องปรับตัวมีระบบความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลทำงานที่ดีเพื่อไม่ให้สิ่งที่เป็นความลับเผยแพร่ออกไปสู่ภายนอก ซึ่งหากองค์กรไม่ปรับตัวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่สร้างแรงจูงใจให้คนมาทำงานด้วย และสุดท้ายองค์กรอาจไปไม่รอด ส่วนเด็กรุ่นใหม่จะทำงานเป็นแบบสัญญาจ้างมากขึ้น ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือร้านกาแฟ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถทำงานอื่นๆ ได้ในเวลาเดียวกัน และเงินเดือนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นแรงจูงใจเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ดังนั้นความหมายของการจ้างงานในอนาคต คือ การทำงานด้วยความรับผิดชอบให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้

น.ส.นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) กล่าวว่า องค์การต้องเริ่มจากการทำให้พนักงานมีความสุขเพื่อเป็นกำไรต่อเนื่องไปถึงครอบครัว โดยให้สิทธิสวัสดิการ การยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น ไม่ให้ความสำคัญกับเวลาเข้าออกที่ทำงาน แต่ไม่ละเลยเป้าหมายและผลลัพธ์ความสำเร็จของงาน การให้สิทธิผู้หญิงสามารถสร้างครอบครัว และมีบุตร โดยไม่ต้องกังวล ว่าคนที่มีครอบครัว หรือมีลูกจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เราคำนึงถึงเรื่องนี้มาก ดังนั้น พนักงานหญิงที่นี่สามารถลาคลอดได้ 6 เดือน โดยให้เงินเดือนครบทุกเดือน มีห้องนมแม่ที่มีอุปกรณ์พร้อม ศูนย์เด็กเล็ก และสนับสนุนให้สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน มีครอบครัวที่มีคุณภาพ พร้อมทำงานอย่างมีความสุข