ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปธ.กก.ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ชี้รอบระบาดโควิดไทยค่อยๆเกิดขึ้น จะเป็นศูนย์รายตลอดไม่ได้ เหตุทั่วโลกยังมี หลายประเทศมีระลอกสอง เราต้องเตรียมพร้อมเพื่ออยู่ได้อย่างสมดุล ชี้เชื้อจะอยู่กับเราอีก 1-1 ปีครึ่ง พร้อมเดินหน้าจัด Smart Hospital ลดคนป่วยมารพ.

เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 22 ก.ค.2563สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) จัดเวที “ Visual Policy Forum :  เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของ Covid-19”  โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ “ผลกระทบของ Covid-19 เมื่อสุขภาพกำหนดวาระทางสังคม”  ว่า  เมื่อ 11มี.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ  อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปัจจุบัน 7เดือนเต็มๆ โดยปัจจุบันสหรัฐมีตัวเลขผู้ป่วยมากที่สุด และแต่ละวันมีคนไข้ใหม่วันละเกิน 2แสนคน จึงเป็นเหตุให้ระบาดทั่วโลก  อย่างไรก็ตาม  โรคนี้ เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ทางการแพทย์ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน จึงส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก และภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาสิ้นสุดของการแพร่ระบาดของโรคได้

“ที่ผ่านมาเราก็ล็อกดาวน์ และที่สำคัญคือ การเว้นระยะห่าง การไม่ไปอยู่ใกล้ๆกัน เพราะเชื้อโรคนี้ผ่านทางเสมหะ ละอองน้ำลาย  ที่ผ่านมาเราทำได้ดี ซึ่งต้องให้เครดิตกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมโรค เรื่องนี้ไม่ใช่ฟลุก แต่เพราะเรามีระบบพื้นฐานที่ดี ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จนเราได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ว่าเราควบคุมโรคได้ดี และคนทั่วโลกอยากมาเมืองไทย  ยิ่งช่วงหน้าหนาวโรคระบาดมากขึ้น เขายิ่งอยากมาเมืองไทย จริงๆเรื่องนี้เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส  แต่เรามีระบบที่ดีจึงไม่ต้องไปกลัว แต่เขาจะเอาเงินมาใช้บ้านเรา เพราะเศรษฐกิจสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้ต้องทำสมดุลให้ดี”

นพ.อุดมกล่าวว่า โรคระบาดเป็นแล้วก็เป็นอีกได้ เพราะเชื้อยังมีอยู่ แต่คนไทยก็ป้องกันตัวดี โดยข้อมูลพบว่า 95 % คนไทยสวมใส่หน้ากากอนามัย ต้องป้องกันและควบคุมให้ได้ ให้เกิดการระบาดน้อยที่สุด เพราะยังไม่มียารักษา เมื่อถามว่าโรคจะยุติเมื่อไหร่ มี 3 วิธี คือ 1.เมื่อมีวัคซีน ซึ่งก็รอประมาณ 1 -1 ปีครึ่ง  2.มีการติดเชื้อจนมีภูมิคุ้มกันในประชากรส่วนใหญ่มากกว่า 70 % ของประชากร Herd Immunity  แต่ปัจจุบันมีน้อยมากไม่ถึง 10 %  และ 3.ไวรัสกลายพันธุ์จนยุติการระบาด ซึ่งโอกาสก็ยาก ดังนั้น ท่านต้องอยู่กับโควิดอีกนาน 1-1 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย

ปรธานคณะกรรมการปรูปประเทศด้านสาธารณสุขกล่าวอีกว่า สำหรับการระบาดโควิดนั้น เริ่มจากการระบาดครั้งแรก หากไม่มีมาตรการใดๆ คนจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่จะสิ้นสุดเร็ว แต่ไม่ต้องการให้คนตายมาก จึงต้องควบคุมให้ค่อยๆ ระบาด เป็นระลอก เพื่อให้สามารถควบคุมได้ เพื่อให้กำลังคนแพทย์พยาบาล เตียงไอซียูเพียงพอ แนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาทำได้ดี แต่เป็นศูนย์ตลอด  ไม่ได้ แบบนั่นไม่เรียกว่าการระบาด การระบาดต้องมี แต่ค่อยๆ เกิดขึ้น จะเป็นศูนย์ตลอดไม่ได้ เพราะรอบประเทศยังมีคนติดเชื้อมาตลอด ไม่ใช่ให้คนดูตัวเลขตั้งความหวังว่าจะเป็นศูนย์ตลอด  หากไม่มีมาตรการใดๆ จะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตจำนวนมาก  แต่หากมีมาตรการดูแลสุขภาพอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปที่แออัด รวมถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม ต้องทำความสะอาดพื้นผิวทั้งหลาย หากมี 3 มาตรการนี้ ซึ่งประเทศไทยทำได้ดีจึงเป็นระลอกการระบาดที่ค่อยๆ มี จะมาบอกเป็นศูนย์ไม่ได้ ไม่ใช่ธรรมชาติของการระบาด

นพ.อุดมกล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค มีการคาดการณ์สถานการณ์ในช่วงเดือนก.ค. 2563  เมื่อเปิดกิจการทุกอย่าง แบ่งออกเป็นสามฉากทัศน์ ซึ่งต้องมีคนติดเชื้อ โดยประกอบดังนี้  ฉากทัศน์ที่ 1 สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 รายต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาเพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน

ฉากทัศน์ที่ 2 สถานการณ์ควบคุมได้ดีมีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศพบผู้ป่วย 50-150 รายต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยา มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง(มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 รายต่อวัน ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

 

 

 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม  กล่าวอีกว่า  หากประเมินสถานการณ์ต่างๆ มีการประเมินจำนวนการรับผู้ป่วยต้องไม่เกิน 150 คน  แบบนี้จะพอไปได้ เศรษฐกิจยังไปได้ อย่างไรก็ตาม  โดยเป้าหมายของการควบคุมการระบาดโควิดไม่ใช่การยืนยันผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเป็นศูนย์ไปตลอด เพราะจะไม่ใช่การระบาด แต่จะค่อยๆเป็นอย่างวันละ 15 คน แต่หากมากขึ้นก็ได้สูงสุด 150 คน เรายังรับได้อยู่ แต่การควบคุมโรคก็ต้องเข้มข้น ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวอย่างหนึ่งคือ การเดินทางมาทางบก เมื่อเชื้อกระจายจะเป็นยกกำลัง ไม่ใช่แค่คูณ 2 เท่านั้น 

นพ.อุดมกล่าวว่า การขอเข้าประเทศเฉพาะประเทศพม่า 6 หมื่นคนลงทะเบียนเข้าประเทศ และอีก 4 หมื่นกำลังขอวีซ่า อันนี้คือมาเป็นด่าน และยังมีใต้ดินอีกเป็นแสนคน จะทำอย่างไรก็ต้องระวังเต็มที่ จะเห็นได้ว่าไม่มีทางเป็นศูนย์ราย แต่ต้องมีมาตรการและตะครุบให้เร็วที่สุด เพราะตัวอย่างจากต่างประเทศก็เห็นอยู่ อย่างกรณีญี่ปุ่น แม้มีมาตรฐานสูง เมื่อเปิดล้อกก็เข้าสู่ระบาดรอบสองได้ ยังมีจน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เราเห็นหมดแล้วรอบบ้านเรา เราจึงต้องระวัง

“นอกจากนี้ ในเรื่องโควิดจะมีเรื่อง Newnormal Healthcare  เป็นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ชะลอวัย  ผู้ป่วยจะลดการมาโรงพยาบาล เวชระเบียนก็จะลดลง ใช้ผ่านมือถือเป็นหลัก โดยจะเป็นรูปแบบโรงพยาบาลเสมือนจริงไปอยู่บ้าน ยิ่งคนแก่มากขึ้น การมาจะเริ่มยากขึ้น ดังนั้น เราต้องเน้นในเรื่องไม่ต้องมารพ. ทุกอย่างจะเป็นสมาร์ทฮอสพิทอลมากขึ้น โดยยุคนี้จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นหลังโควิด ซึ่งในยุคผมจะต้องทำให้ได้ ซึ่งผมเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุขก็จะผลักดันเรื่องนี้ เราต้องลดการแอดมินอยู่ในรพ. ยกเว้นคนไข้หนักจริงๆ และในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งก่อนป่วยและไม่ป่วยจะต้องมีระบบดูแล และเมื่อป่วยก็ต้องมีการรักษา ซึ่งจะเน้นการใช้สมุนไพรด้วย และในวาระสุดท้ายก็ต้องมีระบบดูแลอย่างดีให้เกิดขึ้น" ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม  กล่าว

ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่า ในเรื่องการศึกษาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ออนไลน์จะไม่ใช่มาแทนทุกอย่าง แต่จะเป็นส่วนใหญ่อย่างน้อย 50 %  โดยจะเน้น 3 หลักการ คือ 1. นักเรียนนักศึกษาต้องมีความปลอดภัย ไม่ใช่มาเรียนแล้วติดโรค ต้องมีระบบเว้นระยะห่างที่ดี 2. ต้องไม่แออัด 3.เสมอภาค ให้ไปเรียนออนไลน์ แต่ไม่ได้มีทุกคน ยิ่งต่างจังหวัดชายขอบก็ไม่มี จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้เรียนรู้

ทั้งนี้ ภายในงาน ยังมีการเสวนา 2 ช่วง โดยช่วงแรกภาคเช้า เป็นการเสวนา เรื่อง “แนวโน้ม ผลกระทบ และการเตรียมรับมือการระบาดรอบที่สองของ Covid-19  โดยมีศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 

ส่วนช่วงบ่ายมีการเสวนา  “ วัคซีน - ยา : ความหวัง - โอกาส – วิกฤต” โดย  นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม  รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม  นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa)  และนายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง