ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกออกแถลงการณ์บุหรี่ไฟฟ้าชนิดให้ความร้อน อาจสร้างความสับสนเข้าใจผิดอันตรายน้อยกว่ายาสูบ ด้านนักวิจัยเผยข้อมูลพบอาจเพิ่มจำนวนคนสูบบุหรี่ธรรมดามากขึ้น

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุมัติให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่แบบให้ความร้อนของบริษัทบุหรี่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลดสารอันตราย อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา

“ข้อเท็จจริงแล้วบุหรี่ชนิดนี้มีสารพิษหลายชนิดที่สูงกว่าบุหรี่ธรรมดาและพบสารพิษบางชนิดที่ไม่เคยพบในบุหรี่ธรรมดามาก่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบผลกระทบของสารพิษเหล่านี้ต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งนี้ WHO ให้ความเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบของ WHO และการอนุมัติของเอฟดีเอครั้งนี้เป็นบริบทเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่อาจนำมาอ้างอิงกับประเทศอื่นๆ ได้” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงว่าในหลายประเทศรวมถึงไทยได้อ้างอิงถึงกรณียูเอสเอฟดีเอ(USFDA) อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนนี้เป็นผลิตภัณฑ์ลดสารอันตราย เพื่อหวังจะให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าชนิดนี้ได้ และโฆษณาบิดเบือนข้อมูลว่าปลอดภัย หรือมีอันตรายน้อยกว่าหรือเป็นผลิตภัณฑ์บุหรี่แบบลดความเสี่ยง จึงอยากเตือนผู้บริโภคโดยเฉพาะเยาวชนอย่าได้หลงเชื่อ โดยย้ำว่าบุหรี่ทุกชนิดมีอันตรายต่อสุขภาพ และบุหรี่ประเภทนี้ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แนะนำให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ปรึกษาแพทย์

ด้าน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า รายงานที่ทบทวนงานวิจัยทางระบาดวิทยาของ 4 รายงาน ในปี 2562 พบว่า 10-45% ของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนเป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และ 69% ของคนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน ยังคงสูบบุหรี่ธรรมดาด้วย และแม้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนจะทำให้คนที่สูบบุหรี่ธรรมดาเลิกสูบได้ 11% แต่กลับทำให้คนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ธรรมดา 20% ซึ่งเท่ากับว่าบุหรี่ไฟฟ้าชนิดให้ความร้อนเพิ่มจำนวนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดามากขึ้น