ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอธีระวัฒน์" เผยเวียดนามสำรวจพบแหล่งเพาะเชื้อโควิด พบเป็นไปได้สาเหตุจาก “ค้างคาวมงกุฎ” แต่พฤติกรรมมนุษย์ทำเกิดการระบาด

 

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า มีรายงานกระทรวงเกษตรของเวียดนาม ได้ร่วมกับสมาคมพิทักษ์สัตว์ป่า โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก BTRA สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องไวรัสในสัตว์ โดยทำการสำรวจ 70 พื้นที่ทางตอนใต้ของเวียดนาม พบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาที่ไม่ใช่ ไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่ตัวที่ก่อโรคซาร์ส และไม่ใช่ตัวที่ก่อโรคเมอร์ส รวม 57 แห่ง แบ่งเป็นภัตตาคารที่นำหนูมาประกอบอาหาร 24 แห่ง ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ป่าฟันแทะ 17 แห่ง และพื้นที่ที่ถูกปล่อยให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาว เพื่อเก็บมูลค้างคาวมาเป็นปุ๋ย 16 แห่ง ซึ่งการค้นพบนี้มีนัยยะหลายอย่าง คือ ค้างคาวเป็นต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนา และมีวิวัฒนาการสามารถข้ามจากสัตว์ชนิดหนึ่งไปยังสัตว์อีกชนิดหนึ่งได้ นอกจากนี้ยังสะท้อนการติดโรคมาสู่คนจากพฤติกรรมของคนที่รุกเข้าไปรับเชื้อเหล่านี้มาเอง ผ่านการนำสัตว์ป่ามาเป็นอาหาร   

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อเดือนต.ค.-พ.ย. 2562 ทางจีนก็ได้มีการศึกษาในค้างคาวมงกุฎ พบว่ามีเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีความคล้ายคลึงกันมากกับเชื้อโควิด-19 ซึ่งต่อมาจึงมีรายงานการระบาดของโควิด-19 ในจีนเมื่อประมาณเดือน ธ.ค. 2562 ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าที่จริงแล้วโควิด-19 การจะเกิดการระบาดเร็วกว่านั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อไม่กี่วันมานี้ ระบุว่าการค้นพบต่างๆ เหล่านี้มีนัยยะว่าค้างคาวมงกุฎคือตัวซ่องสุมเชื้อไวรัสที่คล้ายโควิด-19 และสะท้อนว่าข้อกล่าวหาว่าเชื้อโควิด-19 เกิดจากการทดลองอาวุธชีวภาพแล้วหลุดออกมานั้นจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง และเรายังพบข้อมูลว่าเมื่อปี 2004 นักวิทยาศาสตร์จีนได้สำรวจพื้นที่การระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งพบว่าในค้างคาวมงกุฎมีจำนวนไวรัสมากกว่า 1 ชนิด แต่ไม่เกี่ยวข้องกับเมอร์ส ซาร์ส หรือโควิด-19 ซึ่งการมีไวรัสมากกว่า 1 ตัว มีโอกาสทำให้เกิดการควบคุมเป็นไวรัสตัวใหม่ได้อีก ซึ่งข้อมูลนี้ค้นพบก่อนพบโควิด-19

“ค้างคาวมงกุฎ เป็นค้างคาวที่พบได้ทั้งในจีน เวียดนาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาที่ผ่านมาเราก็จะเห็นวิวัฒนาการของไวรัสมาตลอด ดังนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือเชื้อไวรัสโคโรนาตัวอื่นๆ หรือแม้แต่ไวรัสโคโรนา 2019 เองก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม ไปหลายท่อน จนทำให้วิธีการตรวจแบบเดิมที่เจาะจงรหัสพันธุ์กรรมอยู่นั้นตรวจไม่เจอได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง