ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเตรียมระดมความคิดเห็นกรณียกระดับผู้ป่วยบัตรทอง รักษาได้ทุกรพ.ทั่วประเทศ 21 ส.ค.ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กแจงรายละเอียดข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน เพจ Drama-addict ไม่เห็นด้วย หวั่นคนแห่ไป รพ.ขนาดใหญ่แทน

ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศยกระดับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทองประชาชน ด้วยการไปรักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ไม่ว่าใกล้หรือไกล เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน และจากนี้ไปการดูแลจะต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไปนั้น โดยมอบให้ทางสำนักงานเลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ยกระดับบัตรทอง คนไทยต้องรักษาได้ทุก รพ. ไม่มีคำว่า ผู้ป่วยอนาถา)

ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า เมื่อท่านอนุทิน ประกาศเป็นนโยบายออกมา ทางสปสช. ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องทำหน้าที่ในการนำนโยบายแปลงออกมาเป็นรูปธรรม โดยอยู่ระหว่างยกร่างรายละเอียด เพื่อเสนออนุกรรมการต่างๆ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ที่มีรัฐมนตรีฯ เป็นประธานพิจารณา แต่สิ่งสำคัญจะต้องผ่านความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อน ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดในวันศุกร์ที่ 21 ส.ค.นี้ จะมีการเฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านเพจ สปสช. เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งประชาชนสามารถเสนอผ่านความคิดเห็นมาช่องทางนี้ได้อีกช่องทางหนึ่ง

เมื่อถามว่าการยกร่างดังกล่าวจะกำหนดชัดหรือไม่ว่า ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารักษาที่รพ.ไหนก็ได้ นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวว่า สิ่งสำคัญของนโยบายนี้คือ ต้องการอำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชน อย่างการส่งต่อผู้ป่วย หรือการรีเฟอร์ เป็นต้น แต่จะเป็นรูปธรรมอย่างไรอยากให้รอก่อน เพราะอย่างไรเสียจะมีการพิจารณาวางระบบให้ดีที่สุด

เมื่อถามว่าแสดงว่าต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อนใช่หรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ใช่ ต้องมีการระดมความคิดเห็น ซึ่งประชาชนเสนอความคิดเห็นเข้ามาได้

นอกจากนี้ ทางเพจ Drama-addict ซึ่งมีเจ้าของเพจคือ นพ.วิทวัส ศิริประชัย อดีตแพทย์รพ.เกาะลันตา อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องนี้ ว่า

อนุทินบอก “สิ่งที่อยากเห็น คือ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน ก็ต้องได้รับบริการตรงนั้นเลย ไม่ต้องมาแยกว่า จดทะเบียน รพ.แถวบ้านต้องใช้สิทธิ์ตามนั้น ไม่ใช่อีกต่อไป ซึ่งต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็ว เพราะเรื่องสุขภาพประชาชน จะรอไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อว่า สปสช. ก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมทำให้เป็นนโยบาย จะได้มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง จะต้องไม่มีคำว่าอนาถา คนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีในระบบสาธารณสุขของไทย” นายอนุทิน กล่าว
 

เพจ Drama-addict ระบุว่า อันนี้ไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเราให้สิทธิคนไข้รักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องรักษาที่ รพ ที่ขึ้นทะเบียนบัตรทอง ที่เรากลัวคือพอให้รักษาที่ไหนก็ได้ คนจะแห่กันไป รพ ใหญ่ๆกันหมด เพราะคนไข้เชื่อว่ารักษาที่ รพ ใหญ่ๆจะได้มาตรฐานการรักษาดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะคนไข้จะไปกระจุกกันที่ รพ จังหวัด รพ ศูนย์ แล้วงานมันจะโหลดหนักมาก จนหมอตรวจไม่ไหว ระบบของเดิมที่ให้รักษาที่ รพ. ที่ขึ้นทะเบียน อันนั้นคือเพื่อกระจายๆคนไข้ไปยัง รพ. ที่รักษาโรคนั้นไหวตามศักยภาพของ รพ. ที่ต้องทำ ไม่ใช่ให้รักษาที่ไหนก็ได้ (ยกเว้นสิทธิฉุกเฉิน UCEP อันนั้นรักษาที่ไหนก็ได้) แต่ให้ขั้นตอนการย้ายสิทธิมันง่ายขึ้น แบบที่ตอนนี้ สปสช ให้ย้ายสิทธิผ่านแอปมือถือได้ง่ายขึ้น แต่การให้รักษาใน รพ. ที่ขึ้นทะเบียนไว้ยังมีความจำเป็นอยู่ ไม่งั้นมั่วซั่วแน่

“ยังไม่รวมถึงกรณีคนไข้ตระเวนเปลี่ยนหมอไปเรื่อยๆ มันเคยมีมาแล้ว แบบคนไข้ไปรักษาหมอที่นึง แล้วปรกติถ้าไม่หาย มันมีลำดับขึ้นว่าจะส่งตรวจหาโรคต่อไปยังไง ปรากฏคนไข้พอไม่หายก็คิดว่าหมอไม่เก่ง ย้ายไปรักษาที่อื่น พอไม่หายอีก ก็วนลูปไปเรื่อยๆ สุดท้ายกว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งก็สายไปแล้ว ระบบนี้ที่มากับสามสิบบาทแต่แรกเริ่ม คิดมารอบคอบดีแล้ว เราทำให้คนไข้ย้ายสิทธิได้สะดวกขึ้น แต่เรื่องการรักษาเขตที่ขึ้นทะเบียนไว้ ยังมีความจำเป็นอยู่ ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่า และการทำฐานข้อมูลเวชระเบียนคนไข้ให้เชื่อมต่อกันได้ในเครือข่าย รพ รัฐทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำได้ ตอนนั้นเราจะทำให้คนไข้สะดวกขึ้นแบบมหาศาล โดยที่จะไม่เกิดเหตุคนไข้มากระจุกตัวกันใน รพ ใหญ่ๆจนล้นแน่” เพจดังกล่าว กล่าว