ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สอจร. ชู “ภูเก็ต” เมืองท่องเที่ยวต้นแบบ หลังประสบความสำเร็จลด “ตาย” จากอุบัติเหตุทางถนนลงกว่าครึ่งในรอบทศวรรษ พร้อมแนะรัฐพิจารณา 4 ประเด็นความปลอดภัยทางถนน รองรับนโยบายเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว “ลองสเตย์”

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดภูเก็ต จัดอยู่ในอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศไทยมาโดยตลอด แต่ละวันมีผู้สัญจรบนถนนทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ได้รับบาดเจ็บราว 35 คน เสียชีวิตปีละกว่า 300 ราย ในปี 2551 ภูเก็ตจึงได้เริ่มจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการจัดการอันตรายบนถนน ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานภายในจังหวัด และภายนอกระดับประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ SAFER ROAD FOUNDATION, WORLD HEALTH ORGANIZATION และ BLOOMBERG PHILANTHROPHIES ประกอบกับจังหวัดมียุทธศาสตร์อย่างจริงจังเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ด้วยการนำข้อมูลและพัฒนาระบบข้อมูล MIS Ranking มาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ สร้างภาคีเครือข่ายในจังหวัด มีการทำมาตรการองค์กร มีการสื่อสารสู่สาธารณะ และปลูกฝังวินัยจราจรในกลุ่มเด็กเล็กจนถึงเยาวชน เป็นการเปลี่ยนจาก “ความเสี่ยง” เป็น “นโยบาย” สู่การ “ลงมือทำ” มีการตรวจจับดื่มแล้วขับ กำหนดให้มีการสวมหมวกนิรภัย 100% จัดการแก้ไขจุดเสี่ยง นำเทคโนโลยีมาใช้ พัฒนาระบบสัญญาณและสัญลักษณ์จราจรทั่วจังหวัด ทำให้ปัจจุบันสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงถึง 50% อยู่ที่ประมาณ 150 รายต่อปี

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้จังหวัดภูเก็ตเป็นที่จับตามองทุกด้าน เนื่องจากมีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการวิเคราะห์จุดเสี่ยงที่มีการเสียชีวิต และลงมือแก้ไขปัญหาวิศวกรรมจราจร ด้วยความร่วมมือของทางหลวงจังหวัด ทางหลวงชนบท ท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงตอนนี้ได้การดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงมากว่า 200 จุดทั่ว พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขด้านวิศวกรรมจราจร เช่น การปิดจุดกลับรถ การทำเนินชะลอความเร็ว (Speed Hump) ลูกระนาด (Rumble Strip) พร้อมป้ายเตือนความเร็ว ป้ายสะท้อนแสงเข้าโค้ง (Shevron) การติดตั้งไฟจราจรในทางแยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย การติดตั้งไฟเตือนและแสงสว่าง และการทำวงเวียน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอีก 3 ด้าน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ได้แก่ 1. ภาคีเครือข่ายและแกนนำจังหวัดที่เข้มแข็ง มีหน่วยงานร่วมกันทางานกว่า 20 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มูลนิธิ และสื่อมวลชน ร่วมเกาะติดต่อเนื่องยาวนาน 2. ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงของ คน รถ ถนนเพื่อตอบคำถาม How can we prevent it? โดยเริ่มจากการแก้ไขจุดเสี่ยง และ 3. ภาคนโยบาย โดยผู้ว่าราชการและหัวหน้าส่วนระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ร่วมสนับสนนุการทำงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

“ในด้านเทคโนโลยี จังหวัดภูเก็ตได้รับงบสนับสนุนจาก Safer Roads Foundation ทำให้มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Speed Gun ตรวจจับความเร็ว ระบบ Red Light Camera ตรวจจับการสวมหมวกนิรภัย ความเร็ว การฝ่าไฟแดง เครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพื่อป้องกันการบรรทุกเกินและอุบัติเหตุรถตกเขา เครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่มีมากกว่า 70 เครื่อง และป้ายเตือน Your Speed ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยอย่างชัดเจน สำหรับต้นแบบการแก้ไขจุดเสี่ยง โดยการแก้ไขสิ่งแวดล้อมทางถนนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต บริเวณแยกนริศรตัดกับถนนสุรินทร์ เป็นหนึ่งในจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ในปี 2558 เกิดอุบัติเหตุกลางทางแยก 36 ครั้ง บาดเจ็บ 36 ราย เสียชีวิต 5 ราย สาเหตุหลักคือการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ทว่าภายหลังแก้ไขปรับเปลี่ยนจากสี่แยกไฟแดงเป็นวงเวียนสุรินทร์นริศร อุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน” นพ.วิวัฒน์ กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.ธีระพล ทิพย์เจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ภูเก็ตถือเป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยการจับกุมผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยเฉพาะข้อหาเมาแล้วขับ และการตรวจจับผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ทำให้ทุกวันนี้อัตราสวมหมวกหมวกนิรภัยขยับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจาก กทม. โดยปัจจุบันทั่วเมืองภูเก็ตมีกล้องตรวจจับการฝ่าไฟแดง กระจายอยู่ 10 จุด เพื่อลดอุบัติเหตุจากการฝ่าไฟจราจร นอกจากนี้ ยังได้ทำการเก็บข้อมูลจุดเสี่ยงต่างๆ นำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา ดำเนินการควบคู่กันส่วนหนึ่งต้องแก้ทางวิศวกรรมจราจร และอีกส่วนต้องแก้ที่พฤติกรรมการขับขี่ โดยเฉพาะกวดขันการใช้ความเร็ว และตรวจจับการเมาแล้วขับ

“ทุกวันนี้คนละเมิดกฎจราจรมักเป็นคนที่ได้เปรียบ แต่เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวันต่อทุกคนโดยตรง ตำรวจจึงต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่ค่าเฉลี่ยผู้ฝ่าฝืนมาเสียค่าปรับแค่ 10% เท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้ง เมื่อโดนจับกุมมักจะมีการโต้เถียงและไม่พอใจ หรือทำผิดมาอย่างยาวนานจนเข้าใจว่าทำถูกต้องแล้ว เช่น จอดรถทับทางม้าลาย ฝ่าฝืนจุดห้ามจอดขาวแดง หรือจุดให้จอดได้ชั่วคราวขาวเหลือง เป็นต้น ขณะที่ตำรวจบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายหาประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นการบังคับใช้กฎหมาย และยังคงเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข” พล.ต.ท.ธีระพล กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่จังหวัดภูเก็ตได้รับเลือกเป็นพื้นที่ศึกษา และเตรียมความพร้อมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเดินทางสัญจรอีกครั้ง แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เสนอว่าการเตรียมเปิดพื้นที่ของจังหวัด นอกจากในด้านป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ควรมีการสื่อสารถึงการบริหารจัดการความปลอดภัยทั้งระบบ ให้กับประชาชนในประเทศและนักท่องเที่ยวด้วย โดยสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับ ข้อเสนอแนะเพื่อให้ทศวรรษแห่งความปลอดภัยของไทยประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1. ยกระดับความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ ที่กำหนดเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุอย่างชัดเจนและสร้างกลไกการรับผิดชอบของรัฐบาลต่อปัญหาอุบัติเหตุ 2. ปรับปรุงกระบวนการจัดการความปลอดภัยทางถนนระดับชาติโดยมียุทธศาสตร์ เป้าหมายแผนงาน ตัวชี้วัด และกลไกการกำกับติดตามอย่างจริงจัง 3. ตั้งกลไกโครงสร้างเชิงสถาบันที่ทำหน้าที่ประสาน และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบาย และ 4. สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรอย่างเป็นรูปธรรม