ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เผยแนวทางบรรเทาผลกระทบปชช. สิทธิบัตรทอง หลังยกเลิกคลินิกกระทำผิด 190 แห่งทั่ว กทม. กระทบผู้ป่วยรับบริการจริง 4-5 แสนราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.7 แสน พร้อมขยายตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปีหาเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้อง 

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. แถลงข่าว “สปสช.สร้างความมั่นใจประชาชน แจงแนวทางบรรเทาผลกระทบประชาชนสิทธิบัตรทอง กทม. ก่อนยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเพิ่มมีผลวันที่ 1 ต.ค. นี้” ว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากกระบวนการตรวจสอบในเรื่องของการดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในกลุ่ม โรคเมตาบอลิกและตรวจพบความผิดปกติของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลมายังสปสช. และลงไปตรวจสอบมากขึ้นก็พบว่า 18 คลินิกมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการไม่เป็นไปตามสุจิรต จึงขยายผลตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้มีการตรวจสอบในล็อตที่ 3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการดำเนินการ้องทุกข์แจ้งความกับกองปราบปราบและส่งหนังสือยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งหมดจำนวน 108 แห่ง ครอบคลุมประชากรราว 1 ล้านคน ทั้งนี้ มีการยกเลิกก่อนหน้านี้มาแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่ 1 จำนวน 18 แห่ง ล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง รวมทั้ง 3 ล็อตมีจำนวน 190 แห่งครอบคลุมประชากรที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองประมาณ 2 ล้านคน แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริงต้องใช้บริการรักษาต่อเนื่องมีประมาณ 4-5 แสนคน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 273,764 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่องในล็อตแรก 18 คลินิกจำนวน 25,314 คน ล็อตที่ 2 จำนวน 64 คลินิกมีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 104,925 คน และล็อตที่ 3 มีผู้ป่วย143,525 คน

“ สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น เกิดเฉพาะในพื้นที่กทม. ไม่มีต่างจังหวัด โดยสปสช.จำเป็นต้องยกเลิกหน่วยบริการเหล่านี้เพราะมีความผิด และระยะเวลาสั้น สปสช.เร่งดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยบริการที่ขาดแคลน โดยให้สิทธิกับประชาชนหากเจ็บป่วยจะไปใช้บริการในหน่วยบริการของรัฐที่ใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและไม่ต้องมีใบส่งตัว ซึ่งช่วงเวลานี้สามารถใช้ได้เรื่อยๆ อย่างน้อย 2 เดือน และหลังจากนั้นเมื่อ สปสช.จัดหาหน่วยบริการประจำได้ก็จะดำเนินการเลือกให้อัตโนมัติก่อน และประชาชนสามารถไปใช้สิทธิเปลี่ยนสถานบริการได้ตามเดิม” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

เลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า การไปรักษาที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ ยังรวมถึงในจังหวัดรอบข้าง เช่น นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ โดยใช้บัตรประชาชน และไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องนั้นได้มีการประสานจัดหาหน่วยบริการรองรับให้แล้ว ผู้ที่มีข้อสอบถามโทรได้ที่02-554-0500 อีก 80 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่จำเป็นจริงๆ ต้องนอนรพ. เช่น ผู้ป่วยล้างไต หรือรอผ่าตัด เป็นต้น สปสช.ได้ประสานสถานที่ต่างๆพร้อมเรียบร้อยแล้ว หากยังไม่ได้รับการประสานสามารถติดต่อเข้ามาที่สปสช.ได้ 2.กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ หรือกลุ่มที่รับยาสม่ำเสมอประสานเรียบร้อยแล้ว และ3.กลุ่มโรคเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องได้รับยาสม่ำเสมอ พยายามจัดหน่วยบริการภาครัฐเพื่อให้มีความเชื่อมั่น เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครในพื้นที่ทั้ง 69 แห่ง

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สำหรับการยกเลิกคลินิกที่กระทำความผิดงบสร้างเสริมสุขภาพฯ นั้น รวม 3 ล็อต 190 แห่ง แบ่งเป็นคลินิกเอกชน 175 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง คลินิกทันตกรรม 5 แห่ง โดยความเสียหายทั้งหมด 198 ล้านบาท เบื้องต้น สปสช.เรียกคืนมาได้ส่วนหนึ่ง และกำลังดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งพิจารณาจัดหาคลินิกและหน่วยบริการเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ยังอยู่ในระบบและไม่มีการกระทำความผิดประมาณกว่า 20 แห่งจากทั้งหมดราว 200 แห่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจพบความผิดปกติเช่นนี้ สปสช.ต้องมีการพัฒนาระบบตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.การุณย์ กล่าวอีกว่า มีการดำเนินการอยู่แล้ว เพราะการตรวจสอบความผิดปกติครั้งนี้ก็มาจากการตรวจพบของ สปสช. แต่ด้วยที่งบเบิกจ่ายที่พบผิดปกติครั้งนี้ เป็นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค ซึ่งสามารถคีย์ข้อมูลเข้ามาในระบบ ทำให้สามารถปลอมแปลงง่ายขึ้น แต่ข้อดีคือ สปสช.มีระบบตรวจสอบอีกชั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความเข้มมากขึ้นจะมีการทำระบบพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการในอนาคตด้วย

ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ใสฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าความผิดข้อหาใดบ้างแล้ดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด 3 ล็อตรวม 190 แห่ง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ 1. ผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาต หรือเจ้าของ 2.ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือแพทย์ และ3.บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทั้งหมด นอกจากนี้ ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตามพรบ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าสบส.ได้พิจารณาแล้ว พบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าคลินิกที่ถูกยกเลิกจะขึ้นบัญชีดำ หรือแบ็คลิสต์ หรือไม่ และมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นหน่วยบริการได้อีกหรือไม่ นายจีรวุสฐ์ กล่าวอีกว่า คลินิกเหล่านี้ก็จะไม่สามารถกลับเข้ามาเป็นหน่วยบริการคู่สัญญาของ สปสช. แต่หากเปลี่ยนผู้บริหาร ผู้ดำเนินการ เปลี่ยนชื่อ แต่ใช้สถานที่เดิมและเป็นไปตามเกณฑ์ สปสช.ก็มีสิทธิได้

เมื่อถามอีกว่าการตรวจสอบคลินิกเหล่านี้มีการเชื่อมโยงกลุ่มบุคคลเดียวกันหรือไม่ นายจีรวุสฐ์ กล่าวว่า สำหรับคลินิกที่พบการกระทำผิดก่อนหน้านี้มี 18 แห่ง พบว่า น่าจะเป็นกระบวนการ แต่ส่วนที่ตรวจสอบเพิ่มเติมเข้ามาใหม่นั้น พบว่ามีพฤติการณ์คล้ายกัน คือ เบิกเท็จ แต่ไม่น่าใช่กระบวนการเดียวกันกับ 18 แห่งที่ผิดชัดเจน อย่างไรก็ตาม แต่ก็จะมีการพิจารณาเชื่อมโยงว่า เป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบย้อนหลังอีก 10 ปี หลังจากครั้งนี้เป็นการตรวจสอบของปี 2562