ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่า 1 เดือนประชาชนยังได้รับผลกระทบจากความไม่สะดวกใบส่งตัว ด้านเลขาฯสปสช.ย้ำหากผู้ป่วยบัตรทอง ที่จำเป็นต้องส่งต่อรักษา รพ. แต่ไม่ได้รับความสะดวกจากคลินิก ร้องเรียนได้สายด่วน 1330 พร้อมนำเรื่องเข้าบอร์ดควบคุมคุณภาพ ชี้หากจำเป็นอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินใหม่อีกครั้ง  ด้านรองเลขาฯ เผย 3 ระดับอาการพิจารณาส่งต่อหรือคลินิกรักษาเองได้

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาผลกระทบกว่า 1 เดือนหลังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือคลินิกบัตรทองในกทม. จากโมเดล 5 จ่ายตามรายการจริง เป็นผสมโมเดล 2 คือเหมาจ่าย หรือที่เรียกว่า OP New Model 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ปรากฎว่ามีประชาชนสิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบเรื่องใบส่งตัว ว่า  สปสช.มีการดำเนินการสร้างความเข้าใจให้แก่คลินิกในกทม.และโรงพยาบาลที่รับใบส่งตัวตลอดว่า หากผู้ป่วยจำเป็นต้องส่งตัวก็ต้องส่ง และไม่ควรให้เป็นภาระประชาชนในการมาขอใบส่งตัวเพื่อรักษาทุกครั้ง ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งรักษารพ.ระดับสูงกว่า หรือเกินศักยภาพการรักษาของคลินิก

 

มีใบส่งตัว ไม่ใช่ว่าต้องฉุกเฉินทุกครั้ง

 

“กรณีการต้องมีใบส่งตัวไม่ใช่ว่าต้องฉุกเฉิน แต่หมายถึงต้องมีเหตุสมควรว่า ประชาชนหรือผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในรพ.ระดับสูงกว่า เช่น เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น แต่หากอาการดีขึ้นแล้วต้องพักฟื้นที่บ้าน ต้องมีการตรวจเยี่ยมอาการ อย่างกรณีติดบ้านติดเตียง ต้องใส่สายยางก็สามารถให้คลินิกมาดูแล ตรวจเยี่ยมที่บ้าน ซึ่งก็จะเข้าข่ายการดูแลแบบปฐมภูมิได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ทั้งคลินิก โรงพยาบาล หรือประชาชนสามารถสอบถามมาที่สายด่วน 1330 ได้ตลอด หรือแม้แต่มีเรื่องไม่เป็นธรรม มีความจำเป็น แต่คลินิกไม่ยอมส่งตัว หรือ รพ.ไม่ยอมรับจะเอาใบส่งตัวทุกครั้งติดต่อมาที่สายด่วน 1330 ได้เช่นกัน” นพ.จเด็จ กล่าว

สปสช.ยันมีเงินจ่าย

ผู้สื่อข่าวถามกรณีคลินิกกังวลเรื่องงบประมาณหรือไม่ เพราะเป็นรูปแบบเหมาจ่ายอาจไม่เพียงพอ บางแห่งจึงมองว่ารักษาได้ และไม่ส่งตัวไปยังรพ. นพ.จเด็จ กล่าวว่า เราซักซ้อมทำความเข้าใจกับคลินิกตลอด อย่างข้อกังวลงบประมาณ ยืนยันว่าสปสช.มีงบประมาณในการจัดสรรให้ อย่างหากจำเป็นต้องส่งต่อทางคลินิกจ่ายไม่เกิน 800 บาทต่อครั้งเท่านั้น โดยส่วนต่างส่วนเพิ่มทาง สปสช.จะไปตามจ่ายให้รพ.เอง 

ปชช.ร้องเรียนได้ หากไม่ได้รับความสะดวก

เมื่อถามว่าหากประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกและต้องมาเอาใบส่งตัวทุกครั้งจะทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ติดต่อมาที่สายด่วน 1330 หรือหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงๆ สามารถร้องเรียนกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควรได้ ซึ่งจะเข้าเกณฑ์มาตรา 57 และมาตรา 59 โดยเมื่อได้รับเรื่อง ทางสปสช.จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและนำเรื่องเข้าสู่ อปสข.เขตพื้นที่พิจารณา กระทั่งนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม จริงๆ สปสช.ไม่ได้ต้องการใช้มาตรการทางกฎหมาย จึงพยาบาลทำความเข้าใจเรื่องนี้มาตลอด ก็ขอให้ทางคลินิกเข้าใจ หากจำเป็นขอให้ส่งต่อผู้ป่วยรักษา

เมื่อถามว่าปัญหาไม่เพียงแค่คลินิก แต่รพ.นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลายแห่งยังมองว่าต้องใช้ใบส่งตัวทุกครั้ง เลขาฯ สปสช.กล่าวว่า ล่าสุดทางกทม.มีการหารือว่า รพ.ในสังกัด หากจำเป็นให้ดูตามความจำเป็น ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีก ซึ่งกทม.กำลังทำระบบร่วมกันอยู่ นอกจากนี้ ในส่วนของรพ.สังกัดอื่นๆ อย่างรพ.ทหาร ตำรวจ ทางสปสช.จะประสานเพื่อขอเข้าหารือเรื่องนี้เช่นกัน 

 

“ชลน่าน” สั่งหากจำเป็นต้องพิจารณาหารูปแบบจ่ายเงินใหม่

 

เมื่อถามว่าหากยังมีปัญหาไม่หยุด จะต้องมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินอีกหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพิจารณาเช่นกัน ซึ่งนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.มีความเป็นห่วงและให้พิจารณาว่า หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ให้พิจารณาและดำเนินการเพื่อลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด

 

ไม่มั่นใจต้องส่งตัวหรือไม่โทร 1330

 

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.  กล่าวว่า ประเด็นคือ หากผู้ป่วยเกินศักยภาพของคลินิกในการรักษา จำเป็นต้องส่งตัว ซึ่งการพิจารณาจะมี 3 ระดับ คือ 1.เป็นโรคทั่วไป อย่างปวดหัว ตัวร้อน เป็นหวัด ลักษณะนี้รักษาที่คลินิกได้ 2.เป็นโรคที่ต้องรักษาที่ รพ.เท่านั้น ไม่สามารถรักษาที่คลินิก เช่น จอตาเรตินาลอกออก เป็นต้น และ3.เป็นกลุ่มอาการที่ก้ำกึ่ง เทาๆ แบบอาจต้องถึงขั้นรักษาที่รพ. หรืออาจไม่ต้อง ตรงนี้สามารถสอบถามมาที่สายด่วนสปสช. 1330 ได้