ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ฯ- ชมรม รพศ./รพท. - ชมรม สสจ.- ชมรมผอ.รพ.สต.  - ผู้แทนคลินิกในกทม. ร่วมแสดงความคิดเห็น “พัฒนาหลักเกณฑ์บริหารกองทุนฯ” เพื่อระบบสุขภาพยั่งยืน เผยเห็นด้วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ด้านผู้แทนคลินิกชี้ "เงินมางานเดิน"  พร้อมเสนอการจ่ายร่วม (Co pay )

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 13.00-16.00 น. สปสช.จัดงานรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ และผ่านระบบออนไลน์

โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.รพ.ราชบุรี ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป นพ.ศุภโชค ก่อวิวัฒน์สกุล รองประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย)และว่าที่ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้แทนคลินิกใน กทม.ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “ระดมความเห็นพัฒนาการดำเนินงานและบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เพื่อประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”ดำเนินรายการโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ในนามผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุขในระดับจังหวัดสิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมให้เกิดความสอดคล้องในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ประเด็นแรกคือ ในเรื่องของกองทุนที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นว่าในอนุกรรมการเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีการสอดรับกับเรื่องของนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เป็นลักษณะของนโยบายที่เป็นภาพใหญ่เนื่องจากเป็นของกลุ่มใหญ่ระดับประเทศ

จึงอยากจะเสนอว่านอกจากช่องทางที่ให้ระดับเขตได้มีการนําเสนอแล้ว ถ้าหากมีไปถึงระดับจังหวัดให้มีการจัดบริการหรือว่ามีการตอบสนองนโยบายให้ตรงตามบริบทที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทยนั้น มองว่าถ้าตรงนี้สามารถขยายลงสู่ระดับเขต ระดับจังหวัดได้ คิดว่าน่าจะตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนในเรื่องของการได้มีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมทําและก็ร่วมพัฒนาแก้ปัญหาสุขภาพในระดับพื้นที่ได้

ส่วนประเด็นที่สอง ในส่วนของการบริหารจัดการในเรื่องของกองทุนที่สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการขับเคลื่อนและการบริหารในเรื่องของงบประมาณนั้น อย่างที่ทราบกันว่าในปีที่ผ่านมามีเรื่องของนโยบายการถ่ายโอนรพ.สต. อย่างร้อยเอ็ดเองถ่ายโอนไปทั้งหมด 229 แห่ง ซึ่งโชคดีมีโอกาสมาเป็นอนุฯกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่ต้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าภาพรวมในการขับเคลื่อนภาพอนาคตของประเทศไทยในการถ่ายโอนรพ.สต. จึงอยากเสนอที่ประชุมว่าอาจจะต้องมีข้อตกลงตรงกลางเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนคนไทย 70 ล้านคน ควรจะต้องมีรูปแบบหรือว่ามีสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เครือข่ายสถานพยาบาลสมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า หากดูประกาศของ สปสช. เรื่องเกณฑ์ของคณะกรรมการและประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เมื่อย้อนไป 10 ปี ดูว่ามีอะไรที่ต่างไปหรือไม่ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่า 10 ปีผ่านไป(2557-2567) งบบัตรทองสูงขึ้น 40% และทุกคนอยู่ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงเพราะมีเงินเฟ้อ ถามว่า 40% อยู่ได้ไหมอันนี้คือสิ่งที่เราต้องคิด และเมื่อดูงบรายหัว พบว่า 10 ปีผ่านไป(2557-2567) งบรายหัวบัตรทองสูงขึ้น 20% 

ในส่วน 10 ปีผ่านไป (2557 - 2567) แรงจูงใจด้านการเงินที่เหมาะสมแก่ผู้ให้บริการ ระบุไว้ว่า ข้อ 4. เพื่อให้มีแรงจูงใจด้านการเงินที่เหมาะสมแก่ให้บริการในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและให้บริการที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2557 กำหนดภายใต้แนวคิดหลัก ดังนี้ 4.1 การสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข ข้อ 8 เพื่อให้มีแรงจูงใจด้านการเงินที่เหมาะสมแก่ผู้ให้บริการในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและให้บริการที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกันการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กำหนดภายใต้แนวคิดหลักการ ดังนี้ 8.1 การสร้างความเป็นธรรมต่อผู้มีสิทธิและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข
 

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.รพ.ราชบุรี ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป  กล่าวว่า ประเด็นสําคัญวันนี้มีเสนอ 7 ประเด็น คือ 1. การจ่ายค่าบริการ ต้องสะท้อน "ต้นทุน" (เหมาจ่ายรายหัว OP,PP , อัตรา xX บาท/ADJRW , FEE SCHE DULE , ราคาเบิกของรายการต่างๆ ฯลฯ) 2. การเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ต้องมีแหล่งเงินที่ชัดเจน (งบเหมาจ่ายเท่าเดิม แต่ประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ XXX) 3. อัตรา หรือ ราคาที่ประกาศแล้ว ห้าม ปรับแก้ลดลงระหว่างปี จนกว่าจะผ่านอนุกก. PROVIDER BOARD หรือ สมาพันธ์ผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขก่อน 

4. ลด สัดส่วน กองทุนเฉพาะโรค ให้น้อยกว่า 5% จนกว่างบที่จ่ายจะไม่ต่ำกว่าต้นทุน  5. กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมายให้ดำเนินการเหมือนกันในทุกกองทุน (จ่ายต่ำกว่าทุนมากอยู่แล้ว)  - เกลี่ยจากกองทุนย่อยอื่น หรือ ใช้จากกองทุนรายได้สูง (ต่ำ) กว่ารายจ่ายสะสม หรือ ของบกลางเพิ่มจากรัฐบาล (ถ้ายังไม่พอ) บันทึกบัญชี สปสช.เป็น "ลูกหนี้" ของหน่วยบริการ แล้วตั้งเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายที่สปสช.ต้องตามจ่ายหนี้ ให้หน่วยบริการในปีถัดไป

6. สปสช.ต้องตระหนักว่า เป็นตัวแทนรัฐบาลในการ ซื้อ "บริการ" ให้ประชาชน ไม่ใช่ ซื้อ "ข้อมูล"  และ 7. สปสช.ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุน โดยการกระจายอำนาจ จาก สปสช.กลาง ไปสปสช.เขต เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่

 

นพ.ศุภโชค ก่อวิวัฒน์สกุล รองประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนภารกิจของโรงพยาบาลชุมชนจะดูแลในเรื่องของการส่งเสริมป้องกัน การคัดกรอง การรักษาเบื้องต้น ซึ่งโดยทั่วไปที่ผ่านมาโรงพยาบาลชุมชนจะพึ่งจากกองทุนของสปสช.เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเรื่องของต้นทุน op (ผู้ป่วยนอก) โรงพยาบาลชุมชนมีการประชุมและพูดถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันต้นทุน op สอดคล้องกับรายจ่ายรายหัวหรือไม่ เพราะช่วงหลังที่มีการถ่ายโอน อนาคตอาจจะมีการแบ่งตรงนี้ไป ซึ่งตรงนี้อนาคตอาจจะทําให้โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถอยู่ได้ เพราะว่าค่ารักษาในบางเคสอยู่ใน NCDs ค่อนข้างเยอะ

การที่ประชาชนได้ประโยชน์ในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในมุมของสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนเราเห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นคิดว่าแหล่งงบประมาณที่ได้มาก็ควรจะต้องแยกให้ชัดหรือมีเพิ่มเติมมาจากรายจ่ายที่เหมามาแล้ว เพราะฉะนั้นสุดท้ายค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต้นทุนที่มีส่วนต่างก็จะตกกับหน่วยบริการ ซึ่งโดยทั่วไป อย่างรพ.ชุมชนงบก็ไม่ได้เยอะมากเหมือนโรงพยาบาลใหญ่  ส่วนเรื่องของกองทุนฟื้นฟูฯ ยังคงสนับสนุนให้มีต่อ แต่ถามว่ากองทุนที่ค้างท่อเราจะทํายังไงให้มีหลักเกณฑ์ที่ใช้ง่ายขึ้นเพื่อให้ท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลชุมชน ภาคประชาชน ได้ดึงงบไปก่อให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพได้มากขึ้น ถ้าเรามีหลักเกณฑ์ซับซ้อนมาก แล้วทําให้ดึงงบประมาณตรงนี้ออกมาใช้ให้กับประชาชนน้อย สุดท้ายมันก็อาจจะเป็นผลเสียของประชาชน เพราะว่าเงินก็กองอยู่ในระบบที่ไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ได้

 

ขณะที่นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการภายใต้ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉลี่ยมีบุคลากรที่ทำงานยู่รพ.สต.ประมาณ 2-3 คน เราทํางานภายใต้บุคลากรเท่านี้ "ผมเป็นคนหนึ่งที่ ไปเขียนคู่มือการถ่ายโอนไป อบจ. แล้วก็เกิดการสําเร็จ การสําเร็จไม่ใช่เป็นความภาคภูมิใจ แต่การถ่ายโอนเกิดจากปัจจัยข้อจํากัดเรื่องของทรัพยากรโดยเงินไปตอบสนองทรัพยากร เปรียบคือ คนถ้าไม่มีเงินกําลังคนก็จะไม่มา ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีเงินเราไม่สามารถจัดการเรื่องคนได้"

เสนอนโยบายร่วมจ่าย

ตั้งแต่เรามี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ต้องยอมรับว่ามีวิวัฒนาการมา 22 ปี แต่ปัจจุบันระบบสุขภาพแห่งชาติสามารถทําให้ประชาชนคนไทยตายอย่างมีศักดิ์ศรีได้ สิทธิในการบริการอันนี้ต้องยอมรับว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดีและจะต้องดําเนินการต่อไป แต่ทิศทางข้างหน้านั้นจะทําให้เกิดความมั่นคงอย่างไร ภายใต้เงินที่มา 3,472 บาทต่อหัวประชากร และบอกว่า 10 ปีที่แล้วผ่านมาโตขึ้น 20% และอีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้าจะโตอีกเท่าไหร่ วิธีการแก้ไขปัญหามีมุมมองว่าทําอย่างไรที่จะหาเงินเข้ามาเติมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ เพราะภายใต้ทรัพยากรงบประมาณของชาติมีอยู่จํากัด แล้วการหาเงินเข้าระดับประเทศยังมีไม่มากพอกับภารกิจภาพรวมของประเทศ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองไปในอดีตเรื่องของระบบสงเคราะห์ ระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นการซื้อหลักประกันที่ 500 บาท จนวิวัฒนาการเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค

"มองว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องทําให้เกิดความมั่นคงให้ได้ในระยะยาว ถ้าเราไม่กล้าคิด นับแต่วันนี้ในอนาคตข้างหน้า เราจะเดินสะดุดและเกิดความไม่มั่นคงได้ ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เพราะเม็ดเงินมันจะจํากัดอยู่เท่านี้ สิ่งที่ต้องทำคือ นโยบาย โดยเฉพาะ สปสช. สธ. ต้องกล้าที่จะเสนอนโยบายกับทางการเมืองกับรัฐบาลว่าต้องตัดสินใจที่จะใช้นโยบายร่วมจ่ายมาให้ได้ นโยบายร่วมจ่ายต้องมี แล้วค่อยไปคิดว่าจะร่วมจ่ายอย่างไร" นายสมศักดิ์ กล่าว

 

ด้านว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้แทนคลินิกใน กทม. กล่าวว่า เนื่องจากในกทม.เป็นการบริหารงานที่ยากกว่าต่างจังหวัด แต่วันนี้ที่อาจารย์พูดว่า "เงินมางานเดิน" นี่คือสิ่งสําคัญมาก และเห็นด้วยอีกอย่างคือ ค่าใช้จ่ายร่วม (Co pay หรือ Co-Payment) ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนไข้ทุกคนต้องได้ฟรีและทุกอย่างฟรีหมด เพราะว่าต่างคนต่างมีรายได้ต่างกัน เช่น ประชาชนเกิดมาหนึ่งคนบอกว่ามีสิทธิรักษาฟรีแต่ประชาชนคนนั้นเริ่มทํางานมีรายได้ รายได้ตรงนี้แบ่งมาช่วยเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เหมือนอย่างที่อาจารย์ท่านนึงพูดว่า "ให้เอามาแบ่งจ่ายสิทธิข้าราชการ" อย่างไรก็ตาม

"มองว่า ในเมื่อเรามีเงินที่สามารถช่วยประเทศชาติเราได้ เราก็ควรให้ประชาชนร่วมจ่ายน่าจะดีกว่า เป็นเหมือนกับว่าไม่ต้องจ่ายกับหน่วยบริการโดยตรงก็ได้ อันนี้สําคัญเพราะตอนนี้ประเทศชาติเราคือเตี้ยอุ้มค่อม นี่คือความจริงของประเทศเรา งบประมาณเราจํากัดและเราก็ให้สิทธิประโยชน์อันมากมายมหาศาลโดยที่ไม่ถามว่าเงินตรงนั้นพอหรือไม่ มาจากไหน แหล่งงบประมาณจะขอได้จริงหรือไม่ หรือมีแต่ตัวเลขหรือเปล่า "

ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ กล่าวต่อว่า ในร่างประกาศมาตรา 46 ไม่มีวงเล็บสอง ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ดังนั้นจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายคลินิกเอกชนที่เสียสละมาเพื่อดูแลประชาชนช่วยโรงพยาบาลรัฐในกทม. ช่วยโรงพยาบาลศูนย์ ถามว่าอยากได้เงินหรือไม่ก็อยากได้ แต่ว่าก็ต้องเห็นใจด้วยว่าจะไม่ติดลบเหมือนที่ อาจารย์สุรศักดิ์ กล่าว. ส่วนเรื่องยา มีการพูดถึงว่าจะทําอย่างไรให้ยาราคาถูกที่สุด ดังนั้นคลินิกเอกชนในกทม.เหมือนกัน หมายความว่า ต้องหายาให้ได้ถูกที่สุดเท่ากับโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลราคาเท่าไหร่ คลินิกเอกชนในกทม.ที่ร่วมกับ สปสช. ก็ต้องได้ราคาแบบนั้นด้วย 

อีกเรื่องคือขอให้คณะกรรมการฯ แยกงบที่รักษาไม่ได้ของคลินิกปฐมภูมิออกไปจากคลินิกปฐมภูมิเราจะได้มีโอกาสดูแลประชาชนได้เต็มที่ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับ คน เงิน งาน และคุณภาพ ที่ต้องมาด้วยกัน  รวมทั้งขอให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกสถานพยาบาล ประชาชนสามารถไปใช้ได้ทุกที่ในกทม. แต่ถ้าถามใจประชาชนจริงๆแล้วไม่ได้อยากไปใช้ปฐมภูมิในกทม. แต่ประชาชนอยากไปใช้บริการในโรงพยาบาลมากกว่า

 

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

- เครือข่ายสมาพันธ์แพทย์ฯ -ชมรม รพศ.รพท. จี้รื้อระบบ สปสช. ก่อนสุมปัญหาจนระเบิดอีก 3-5 ปี