ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นเสนอข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นของ สปสช. ก่อนจะออกร่างประกาศการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพฯ ปีงบฯ 2567 ชู 4 แนวทาง มีของบรบ.เพิ่ม และแนวทาง Co-payment

เมื่อวันที่ 3 เมษายน  นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ หนึ่งในสมาชิกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรณีเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการต่อ (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา  ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า หลักๆ มีข้อเสนอดังนี้

1 แยกกองทุน OP REFER ในกลุ่มผู้ป่วย ประเภท Hospital care  หมายถึงควรใช้เงินทั้งประเทศจะได้เฉลี่ยกันได้ เพราะที่ผ่านมามีคนต่างจังหวัดย้ายสิทธิมาอยู่กทม. อยู่ในเมืองใหญ่ เพื่อต้องการได้รับการรักษาในรพ.ระดับสูง หรือรพ.โรงเรียนแพทย์ก็มี จริงๆเป็นรูปแบบผสมระหว่างโมเดล 2 และโมเดล 5 คือ จ่ายเงินแบบโมเดล 2 แต่ทำงานแบบโมเดล 5 (โมเดล 2 เป็นการจ่ายตามหัวประชากร แต่โมเดล 5 เป็นการจ่ายตามจริง)

2 ให้นำมาตรา 46 ที่มีเรื่องหลักเกณฑ์หน่วยบริการ แต่ไม่มีส่วนคลินิก ขอให้เพิ่มเติมนำมาใช้ทั้งหมด ทั้งมาตรา โดยจัดสรรเงิน ต้องคำนึงถึง โรค อายุ และ บริบทพื้นที่ ที่เปราะบางด้วย

3 ทำความเข้าใจ กับ ประชาชน โรงพยาบาล และหน่วยบริการ  ว่า ประเทศไทยมีเงินจำกัด ทาง สปสช. ได้รับ งบประมาณจำกัด จะร่วมกันไปข้างหน้าได้อย่างใด

4 เสนอการพิจารณาถึงเรื่อง ค่าใช้จ่ายร่วม (Co pay หรือ Co-Payment)  และสปสช.ก็ควรของบประมาณรัฐบาลเพิ่มเติม เพราะเป็นเรื่องจำเป็น

เมื่อถามว่าตอนนี้กทม.มีปัญหาเรื่องใบส่งตัวของคลินิกไปรพ.ระดับสูง  นางศิรินทร กล่าวว่า ต้องคำนึงหลายๆอย่าง อย่างคนไข้มาขอใบส่งตัว ปรากฎว่าถ้าส่งไปหมด กลายเป็นว่า ไม่ได้มีอาการถึงขนาดที่รพ.ระดับสูงต้องรักษา ตรวจทุกอย่างหมดไปเป็นแสนบาท แต่ไม่เจออะไร ที่จะบอกคือ คลินิกรักษาได้ ตรงนี้ก็ต้องชัดเจน ยิ่งไปรพ.ระดับศูนย์ หมออยากตรวจเพื่อความชัวร์ ก็มีค่าใช้จ่ายไปแล้ว แต่ผู้ที่ต้องจ่ายกลายเป็นเงินก้อนของคลินิก แบบนี้ใครแบกรับ ก็ตัดที่เงินส่วนของคลินิกอีก

“ถ้าเกินศักยภาพเราจริงๆ เราส่งต่ออยู่แล้ว แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้อยากรักษาที่คลินิก แต่อยากไปรพ.ระดับสูงกว่า ทั้งที่รักษาคลินิกได้ หรือแม้แต่ติดเตียง เราก็ไปเยี่ยมบ้านได้ เรามีถังออกซิเจน มีเครื่องมือในการไปดูที่บ้านได้ ปัญหาตรงนี้ สปสช.ก็ต้องช่วยสื่อสารด้วย ขณะเดียวกันเราไม่ได้อยากต้องมีใบส่งตัวตลอด บางครั้งรพ.ระดับสูงก็เรียกใบส่งตัวเช่นกัน ตรงนี้สปสช.ก็ต้องสื่อสารให้เข้าใจเช่นกัน” ผู้แทนสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่นกล่าว

เมื่อถามว่าทางสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น เอาป้ายดำลงแล้วหรือยัง นางศิรินทร กล่าวว่า ยัง เพราะปัญหายังมีอยู่

ขณะเดียวกัน ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้แทนคลินิกใน กทม. กล่าวตอนหนึ่งภายในการแสดงความคิดเห็นว่า เนื่องจากในกทม.เป็นการบริหารงานที่ยากกว่าต่างจังหวัด แต่วันนี้ที่อาจารย์พูดว่า "เงินมางานเดิน" นี่คือสิ่งสําคัญมาก และเห็นด้วยอีกอย่างคือ ค่าใช้จ่ายร่วม (Co pay หรือ Co-Payment) ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนไข้ทุกคนต้องได้ฟรีและทุกอย่างฟรีหมด เพราะว่าต่างคนต่างมีรายได้ต่างกัน เช่น ประชาชนเกิดมาหนึ่งคนบอกว่ามีสิทธิ์รักษาฟรีแต่ประชาชนคนนั้นเริ่มทํางานมีรายได้ รายได้ตรงนี้แบ่งมาช่วยเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้

"มองว่า ในเมื่อเรามีเงินที่สามารถช่วยประเทศชาติเราได้เราก็ควรให้ประชาชนร่วมจ่ายน่าจะดีกว่า เป็นเหมือนกับว่าไม่ต้องจ่ายกับหน่วยบริการโดยตรงก็ได้ อันนี้สําคัญเพราะตอนนี้ประเทศชาติเราคือเตี้ยอุ้มค่อม นี่คือความจริงของของประเทศเรา งบประมาณเราจํากัดและเราก็ให้สิทธิประโยชน์อันมากมายมหาศาลโดยที่ไม่ถามว่าเงินตรงนั้นพอหรือไม่ มาจากไหน แหล่งบประมาณจะขอได้จริงหรือไม่ หรือมีแต่ตัวเลขหรือเปล่า "ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ กล่าว

 

 

อ่านรายละเอียดข้อเสนอ : 

ผู้แทน 6 องค์กร ร่วมแสดงความเห็นประกาศการบริหารกองทุน 30 บาทฯ เพื่อระบบสุขภาพยั่งยืน

เครือข่ายสมาพันธ์แพทย์ฯ -ชมรม รพศ.รพท. จี้รื้อระบบ สปสช. ก่อนสุมปัญหาจนระเบิดอีก 3-5 ปี