ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจอาหารเจ 4 กลุ่ม ผลวิเคราะห์ภาพรวมอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มลดลง แต่ยังพบสารห้ามใส่ ทั้งกรดเบนโซอิก และ ซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสีย หากรับปริมาณสูงอาจทำให้เกิดอันตรายได้

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลกินเจ ซึ่งเป็นเทศกาลบุญที่สำคัญที่คนไทยเชื้อสายจีนและคนไทยทั่วไป นิยมบริโภคทุกเพศ ทุกวัย การกินเจ คือ การงดการบริโภคเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุน อาหารที่นิยมบริโภคในเทศกาลนี้ที่นอกเหนือจากผักและผลไม้ ได้แก่ ผักกาดดอง เกี่ยมฉ่ายยำ หัวไชโป้ว กาน่าฉ่าย โปรตีนเกษตร หมี่กึง ซึ่งอาหารเจในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาวิธีการแปรรูปต่างๆ ให้มีหน้าตา รสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์อย่างมาก อาหารเจเหล่านี้มีทั้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีฉลากและชนิดตักขาย ไม่มีฉลาก ซึ่งผู้ผลิตมีการขายตลอดทั้งปี เนื่องจากมีผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ซึ่งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นม โดยไม่ใช่สำหรับทำอาหารเจ แต่ขายเป็นอาหารเจ โดยไม่เข้าใจหรือไม่ได้ตรวจสอบ และบางครั้งการผลิตอาจใช้สายการผลิตเดิมที่ใช้ในการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้ทำความสะอาดที่ดีพอก็จะทำให้พบการปะปนของเนื้อสัตว์ในอาหารเจได้

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจเฝ้าระวังอาหารที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการขยายการเฝ้าระวังตลอดทั้งปีไม่เฉพาะช่วงเทศกาล โดยแบ่งอาหารออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1.อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ 2.ผักดอง 3.อาหารประเภทเส้น และ 4.ผักและผลไม้ โดยสุ่มตัวอย่างอาหารจากทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่ายและในปี 2563 ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมีแนวโน้มลดลง ดังนี้

1.กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ตรวจพบ DNA ของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน คิดเป็นร้อยละ 3.8

2.กลุ่มผักดอง เช่น ผักกาดดอง, ไชโป้วยำ, เกี๋ยมฉ่ายยำ, ไชโป้วฝอย เป็นต้น ตรวจพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐานกำหนด ตรวจพบในตัวอย่างอาหารมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา

3.กลุ่มอาหารประเภทเส้น เช่น เส้นใหญ่, เส้นหมี่, เส้นเล็ก, เส้นหมี่ซั่ว เป็นต้น ตรวจพบกรดซอร์บิกร้อยละ 34.5 และสีอินทรีย์สังเคราะห์ในเส้นหมี่ซั่ว ร้อยละ 20 ซึ่งทั้ง 2 ชนิดไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหารประเภทเส้น อ้างอิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 389 (พ.ศ. 2561) เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ฉบับที่ 5

สำหรับกรดเบนโซอิก และ ซอร์บิก เป็นวัตถุกันเสียที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้ เช่น เกิดผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

สำหรับสีสังเคราะห์ทุกชนิดมีอันตรายไม่มากก็น้อย อันตรายอาจเกิดจากตัวสีเองหรือการปนเปื้อนโลหะหนัก ในกระบวนการผลิต ถ้ารับปริมาณน้อยร่างกายสามารถกำจัดออกได้ แต่ถ้าบริโภคมากและต่อเนื่องจะสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ผื่นคัน หรือขัดขวางระบบการดูดซึมอาหาร เป็นต้น

4.กลุ่มพืชผักและผลไม้ ในปี 2563 พบว่า ผักสดที่นิยมบริโภคและใช้ประกอบอาหารในช่วงเทศกาล ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงพบสารตกค้าง ได้แก่ กวางตุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว คื่นไช่ พริกหวาน หัวไชเท้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ส่วนผลไม้สดกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ส้ม และชมพู่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบผลการตรวจวิเคราะห์กับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง พบว่า ตัวอย่างผักและผลไม้สดดังกล่าว ไม่ผ่านมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 20.8

“การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหารควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจ และอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสารบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้ง อาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นมหรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน สำหรับผักสดและผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคและได้รับความสุขทั้งกายและใจตลอดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย