ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปสถานการณ์เตรียมพร้อมรับมือโควิดรอบใหม่ ย้ำทางการแพทย์มียารองรับการรักษา แม้ปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการ และไม่ได้รักษาด้วยยาตัวเดียว แต่ผสมหลายอย่างเพื่อลดความรุนแรง ชี้ การนอนคว่ำช่วยอาการไม่รุนแรงได้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวสรุปประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ภายในงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี สำนักข่าว Hfocus The Reporters และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(คนที่ 1) เป็นประธาน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ไวรัสโควิดมีคนถามว่า มีการกลายพันธุ์หรือไม่ ทุกไวรัสมีการกลายพันธุ์ แต่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุแล้วว่า การกลายพันธุ์ไม่ได้หมายความว่าต้องรุนแรงเสมอไป ส่วนที่ถามว่า น่ากลัวหรือไม่ อัตราเสียชีวิตประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์แต่เสี่ยงรุนแรงในผู้สูงอายุ สำหรับการวินิจฉัยนั้น ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อรวม 226 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี RT-PCR เป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในขณะนี้ โดยไทยถือเป็นประเทศเดียวก็ว่าได้ หากมีข้อสงสัยไปตรวจสามารถทำได้ฟรี ดังนั้น พี่น้องประชาชนไม่ต้องกังวล ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พยายามขยายแล็ปเพิ่มขึ้น

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการรักษาผู้ติดเชื้อนั้น หลักๆ คือรักษาตามอาการ และพบว่า การนอนคว่ำช่วยได้ ทำให้อาการไม่รุนแรงมากนัก และการใช้ยาต้านไวรัสและสเตียรอยด์ในผู้ป่วยหนัก แน่นอนว่า ยาตัวเดียวไม่ได้ผล ซึ่งมีรายงานจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยา Flavipiravia ภายใน 4 วัน ลดความรุนแรงได้ และในประเทศไทยก็ใช้ยาเป็นแบบคอกเทล ไม่ได้ใช้ยาตัวเดียว ซึ่งพบว่าอัตราการตายของไทยน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยต่างๆ มีการอัปเดทข้อมูลตลอดเวลา

“มีคนถามว่า ถ้ามีคนหลุดเข้ามา 50 รายต่อเดือน นอกเหนือจากการกักกันโรคจะทำอย่างไร ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค คาดการณ์ว่า จะมีผู้ป่วยสะสม 15 เดือน เท่ากับ 7,800 ราย โดย 1 เดือนจะมีผู้ป่วย 500 ราย หากเป็นเช่นนั้นทางการแพทย์เรามีเตียงรองรับอย่างน้อยวันละ 1,000 คน จึงขอให้มั่นใจ วินิจฉัยก็ฟรี การรักษาก็ฟรี ยกเว้นชาวต่างชาติที่เขาเดินทางเข้ามา เขามีประกันสุขภาพ เขาเข้ามา พวกเขาทราบว่ามีความเสี่ยง จึงต้องมีการเก็บค่าใช้จ่าย สำหรับศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจที่โรงพยาบาลราชวิถี ก็ยังดำเนินการอยู่ทุกวันเช่นเดิม และเราก็มีการเทสระบบตลอดเวลา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากมีการระบาดระลอก 2 ในกรมเองไม่หยุดบริการผู้ป่วย แต่เป็นการให้บริการการแพทย์วิถีใหม่ เรามีห้องความดันลบ มีระบบระบายอากาศแบบใหม่ ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขก็มีระบบป้องกันตัวเอง ส่วนยามีการเตรียมพร้อม อย่างยา Flavipiravia มีเป็นแสนเม็ด และหลายคนกังวลจะหมดอายุในปีหน้า ซึ่งทางไทยก็ดูว่าจะนำไปใช้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร ขณะที่วัคซีนโควิดนั้น ก็ต้องย้ำว่า ไม่ใช่ยาผีบอก ยังไม่มีหลักฐานว่าผุ้ติดเชื้อจะมีภูมิคุ้มกันที่ทำให้ไปเป็นซ้ำ ดังนั้น วัคซีนดีที่สุด คือ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ เช่นเดิม

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “นพ.ยง” ชี้โควิดทั่วโลกอาจพุ่ง 80-100 ล้าน ห่วงอีก 1-2 เดือนมรสุมหมดเสี่ยงลักลอบเข้าไทย)

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เผยทั่วโลกพรีออเดอร์จองวัคซีนโควิด 4.6 พันล้านโดส  )