ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยคืบหน้าความหวังวัคซีนโควิด-19 ล่าสุดทั่วโลกสั่งจองวัคซีน 4.6 พันล้านโดส ถูกสหรัฐ-อียูจองแล้ว 2.8 พันล้านโดส ชี้หลายปท.ยอมรับความเสี่ยง ต้องจ่ายเงินจองแม้วัคซีนยังไม่สำเร็จ 100% ด้าน “นพ.สุวิทย์” ย้ำวัคซีนไม่ใช่ยาครอบจักรวาล

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่โรงพยาบาลราชวิถี นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความก้าวหน้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ความหวังของคนไทย ภายในงาน Virtual Policy Forum : Updating on Diagnosis, Treatment and Vaccine of COVID-19 ซึ่งจัดโดยกรมการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี สำนักข่าว Hfocus The Reporters และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ซึ่งมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(คนที่ 1) เป็นประธาน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “นพ.ยง” ชี้โควิดทั่วโลกอาจพุ่ง 80-100 ล้าน ห่วงอีก 1-2 เดือนมรสุมหมดเสี่ยงลักลอบเข้าไทย)

นพ.นคร กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจำลองรูปแบบของวัคซีนโควิด-19 อยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.ไม่มีวัคซีนโควิด19 เลยประสบความสำเร็จ 2. มีวัคซีนล้นไปหมด และ3.มีวัคซีนแต่ไม่พอใช้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีวัคซีนไหนใช้ได้ต้องไปหนักที่กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ในการรักษา แต่หากวัคซีนล้นก็ไม่ยาก แต่ปัญหาคือ มีวัคซีนแต่ไม่พอใช้ แย่งกันมาก ซึ่งปัจจุบันการผลิตวัคซีนก็มีทั้ง DNA หรือ mRNA หรือใช้วิธีการสังเคราะห์โปรตีนออกมา หรือเอาไวรัสตัวอื่นไม่ก่อโรคและเอาโควิด-19 เข้าไป ปัจจุบันเราก็หวังว่า เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปจะกระตุ้นจนเกิดภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น หรือง่ายๆ ทำอย่างไรให้ร่างกายรู้จักเชื้อโดยไม่ก่อโรค ไม่ให้เชื้อเพิ่มจำนวนในร่างกายนั่นเอง

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับแนวทางดำเนินการ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด19 นั้นก็จะมี 3 ขั้นตอน คือ 1.วิจัยพัฒนาในประเทศ เราต้องทำเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ แม้เราจะติดกับดักว่า ซื้อต่างประเทศถูกกว่า แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ เวลาต่างประเทศไม่ผลิต ไม่มีให้ ไทยก็เดือดร้อน 2.ทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ อันนี้เป็นเหมือนทางลัด ไปเจรจาและเรียนรู้กับเขา ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่เราต้องมีบุคลากร มีทรัพยากรที่พร้อมในการรับความรู้ด้านวัคซีนด้วย และ3.จัดซื้อ จัดหานำมาใช้ในประเทศไทย

นพ.นคร กล่าวว่า ในเรื่องการจองวัคซีน เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องความมั่นคง ต้องทำหลายๆทางในการได้วัคซีนมาใช้ในประเทศไทย โดยการจองวัคซีนนั้นต้องแสดงความจำนงและจ่ายเงินจองไปก่อน แต่ ณ เวลานี้ยังอยู่ในเฟส 3 ทั้งสิ้น ซึ่งหากจองแล้ว แต่วัคซีนไม่สำเร็จก็ต้องยอมเสียเงิน เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เนื่องจากหากไม่จอง และผลิตสำเร็จ ประเทศที่จองก่อนก็จะได้รับวัคซีนไปใช้ ส่วนประเทศที่ไม่ได้จองก็จะไม่ได้ ข้อมูลล่าสุด ก.ย. 2563 ทั้งโลกมีการส่งพรีออเดอร์วัคซีนไปแล้วจำนวน 4,600 ล้านโดส ถูกจองด้วยสหรัฐอเมริกา 1,600 ล้านโดส และอียูอีก 1,200 ล้านโดส แค่ 2 เจ้าก็ครึ่งหนึ่งแล้ว หากเราไม่จอง ก็ต้องรอ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) กล่าวถึงสองประเด็นสำคัญไวรัสโควิด19 ว่า ก่อนอื่นต้องเรียนว่า ตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโควิด แต่เป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุข จึงมีคำถามอยู่ 2 ประเด็น โดยประเด็นที่ 1 คือ วัคซีนโควิดไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ที่จะกวาดล้างไวรัสโควิด เพราะโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน โดยมีคำถามมากเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด คือ โควิดจะได้ผลหรือไม่ และได้ผลอย่างไร เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจริง ไม่เช่นนั้นไม่ถึงขั้นเฟส 3 แต่ต้องถามว่าป้องกันได้ลักษณะไหน คือ ไม่ติด ไม่แร่เชื้อ หรือติดและแพร่เชื้อได้ แต่ไม่เป็นโรค หรือยังเป็นโรคได้ แต่อาการไม่รุนแรงไม่เสียชีวิต ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ มีการคาดการณ์ว่า หากป้องกันคน 50% ไม่ติดไม่แพร่เชื้อก็จะป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไวรัสหายไป

“สิ่งสำคัญที่อยากได้มากที่สุด ต้องให้ได้อย่างวัคซีนไข้เหลือง ซึ่งป้องกันได้ยาวเป็น 10 ปี ล่าสุดยังมีความรู้ใหม่จาก WHO ว่าป้องกันได้ตลอดชีวิต เมื่อฉีด 1 เข็ม เป็นต้น ซึ่งก็ต้องถามว่าวัคซีนป้องกันโควิดจะป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ 99% หรือไม่ ดังนั้น เมื่อมีวัคซีนก็ไม่ใช่ว่าจะไปได้ทั่วโลก และไม่ระวังตัว ซึ่งส่วนตัวคิดว่าแนวโน้มไม่ติดไม่แพร่ ได้ผลประมาณ 50-70% ซึ่งผมคิดว่าดีมากแล้ว” นพ.สุวิทย์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาในเรื่องความปลอดภัยว่า ปลอดภัยแค่ไหน คุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่ เพราะการทดลองอยู่หลักพันคน แต่เมื่อใช้จริงเป็นล้านคน และผลิตได้มากน้อยแค่ไหน

ประเด็นที่ 2 แนวคิด “เอาตัวรอด” หรือชาตินิยมวัคซีน” แนวทางทำอย่างไร คือ การกว้านจองซื้อวัคซีนเกินจำนวนประชากร เช่น 200-300 ของจำนวนประชากร หรืออาจดักซื้อกลางทางก็ได้ รวมถึงยอมเจรจากับบริษัทวัคซีนเป็นรายๆ ในลักษณะเสียเปรียบและยอมรับความเสี่ยงทั้งหมด ตรงนี้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลางเดือดร้อน เพราะไม่มีเงินมาก จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับโคแว็กซ์ การเจรจาทวิภาคี ให้ประเทศต่างๆลงขันและเจรจากับบริษัทวัคซีน เจรจาเป็นกลุ่ม เพราะถ้ารายเดียวจะเสียเปรียบได้ สำหรับประเทศไทย เป็นชาตินิยมวัคซีนอย่างอ่อน โดยตั้งเป้าให้ได้วัคซีน 50% ของประชากร จึงต้องร่วมโคแวกซ์ เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงเจรจาทวิภาคีเพื่อการผลิตในประเทศไทย และยอมให้ส่งออกได้ โดยไทยลงทุน 600 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงโรงงานของสยามไบโอ ไซเอนซ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และแอสตราเซเนกา และหากผลิตได้ไทยก็ต้องซื้อเช่นกัน

ทั้งนี้ ความเสี่ยงก็มี เนื่องจากแอสตราเซเนกามีวัคซีนตัวเดียว ซึ่งต้องรอผลก่อน ว่า ถ้าเฟลก็ไม่ได้เช่นกัน ตรงนี้ทางสถาบันวัคซีนฯ ต้องชี้แจงและอธิบายแก่คนไทย ว่า เหตุการณ์นี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะโทษกันไม่ได้ แต่ก็ต้องทำ ดังนั้น งานต่อไปคือ ต้องทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า เรื่องวัคซีนโควิดมีความเสี่ยง การเจรจาย่อมมีการเสียเปรียบ แต่เรื่องความมั่นคงของประเทศถือว่าเราเตรียมพร้อม เพราะอย่างไรเสียเราก็ทำอย่างมีสติ ดังนั้น สรุปได้ว่า อย่าคาดหวังว่า วัคซีนคือการแก้ปัญหาทั้งหมด ต้องใช้ร่วมกับวัคซีนทางสังคม คือ ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง