ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศิริราชมอบรางวัล นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ และนพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล อุทิศตนเพื่อคนชายขอบ

ด้วยเล็งเห็นในคุณค่าของการอุทิศตนทำงานอย่างหนัก ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มีรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทเป็นประจำ โดยปีนี้ ได้ประกาศรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2562 และ 2563 ในวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุมจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราช

ผศ.นพ.สมุทร จงวิศาล ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาคุณสมบัติหลายประการ ประกอบด้วย การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งเชิงรุกและเชิงรับ การบริหารงานภายในโรงพยาบาล มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล มีความเสียสละ จริยธรรม ความใฝ่รู้ในวิชาการ ความเป็นผู้นำที่ดี และมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งระยะเวลาในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในชนบทติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช

ด้านศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มอบรางวัลแก่ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และ นพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล ผู้อำนวยการ รพ.พบพระ อ.พบพระ จ.ตาก พร้อมกล่าวว่า แพทย์ในชนบทเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย ต้องเสียสละความสุขเพื่อส่วนรวม โดยยึดมั่นในการทำงานเพื่อลดความทุกข์ของผู้ป่วย เช่นเดียวกับแพทย์ทั้งสองท่านที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งงานด้านบริหาร รักษาพยาบาล และการพัฒนา โดยได้เสียสละดูแลประชาชนทุกเศรษฐานะ ทุกเชื้อชาติ อย่างเท่าเทียมกันตลอดมา อีกทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แพทย์ที่จบใหม่และนักศึกษาแพทย์เห็นคุณค่าของการทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเรียนรู้ถึงความสุขของชีวิตแพทย์ในชนบทในยุคดิจิทัล

นพ.ธวัชชัย ได้กล่าวถึงการได้รับรางวัลครั้งนี้ว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณแพทย์ศาสตร์ที่เห็นความสำคัญของแพทย์ที่ทำงานในชนบท เดิมตนใช้ชีวิตอยู่ในเมือง แต่อยากลองทำงานในชนบท เพราะเคยได้ออกหน่วยหรือค่ายพัฒนาชนบท ได้เห็นผู้ป่วยที่กลับหมู่บ้านไม่ถูกเพราะไม่เคยออกจากหมู่บ้านเลย จากวันนั้นจึงได้เข้าไปทำงานที่รพ.ท่าสองยาง มาตั้งแต่ปี 2544 สมัยก่อนชาวบ้านพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ การเดินทางก็ลำบาก ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 19 ปี พบเห็นความลำบากของชาวบ้านที่แตกต่างจากการอาศัยอยู่ในเมือง ถึงแม้ว่าจะยากลำบากแค่ไหนก็มีน้ำใจอยู่เสมอ การทำงานในพื้นที่ห่างไกลนั้นมีความท้าทาย ยากลำบาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ถึงแม้ว่าที่อำเภอจะอยู่ห่างจากอ.แม่สอด 80 กว่ากิโลเมตร แต่ก็มีการเตรียมพร้อม ตรวจหาเชื้ออยู่ตลอด เช่นในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาตรวจไปกว่า 1,000 ราย ไม่พบเชื้อทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นเหมือนทหารคอยเฝ้าระวังสุขภาพให้กับคนในประเทศ ถ้าป้องกันได้ไม่ดี ก็มีโอกาสแพร่เชื้อมาที่ไทยได้ จึงต้องเฝ้าระวังอย่างถึงที่สุด

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการ รพ.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

ขณะที่ นพ.ศักดิ์บัญชา เสริมว่า ตลอดการทำงานที่นี่มา 15 ปี มีบางช่วงที่อยากจะย้ายออก แต่พบกับปัญหาอย่างต่อเนื่องจึงตัดสินใจที่จะอยู่ช่วยเหลือต่อไป การทำงานที่ผ่านมาทำให้ค้นพบว่า ความสุขคือความพอเพียง ความสุขที่ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วย ตอนนี้รู้สึกภาคภูมิใจมากที่ได้ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและพิการของชาวบ้านลงได้ โดยในช่วงที่เริ่มเข้าไปในพื้นที่ใหม่ ๆ ชาวบ้านแทบพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ซ้ำยังมีค่านิยมที่ผิดหลักการแพทย์ ทั้งชาวบ้านและบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน จนทุกอย่างดีขึ้นตามลำดับ ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงพยาบาลพบพระอยู่ติดกับอ.แม่สอด มีจำนวนแรงงานต่างด้าวที่รองลงมา แต่ก็มีการคุมเข้มชายแดน เลือกรับผู้ป่วยเฉพาะที่มีอาการหนัก โดยใช้เจ้าหน้าที่ใส่ชุดไปรับที่แนวชายแดน เพื่อไม่ให้ลักลอบข้ามมารักษาเอง เพราะจะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อของประชาชนในพื้นที่นั้นได้ แต่อย่างไรก็ต้องให้การรักษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ไม่ต่างจากคนไทย

นพ.ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล

นอกจากทำหน้าที่แพทย์แล้ว แพทย์ทั้งสองยังทำหน้าที่ของ "คน" ที่ไม่เลือกรักษา แต่ดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างเต็มที่และเท่าเทียม สมกับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท