ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จับมือประกาศนโยบายนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ 23 คณะทั่วไทย ปลอดบุหรี่เป็นต้นแบบเลิกบุหรี่
 

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เปิดเผยว่า กสพท. มีสมาชิกเป็นคณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ 23 คณะ ได้มีมติสนับสนุนให้คณะแพทยศาสตร์ทั่วประเทศดำเนินนโยบายนักศึกษาแพทย์ไทยปลอดบุหรี่ โดยมีวัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบาย 5 ประการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมค่านิยมให้นักศึกษาแพทย์ไม่สูบบุหรี่ 100% 2.ป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ในขณะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ 3.ช่วยนักศึกษาแพทย์ที่สูบบุหรี่ให้เลิกสูบ 4.ปลูกฝังนักศึกษาแพทย์ให้เป็นผู้ชี้นำสังคมไทยให้ปลอดบุหรี่ และ 5.ชี้นำสังคมในการสร้างค่านิยมให้นักเรียนที่สนใจจะศึกษาในคณะวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่นๆ ให้ไม่สูบบุหรี่

ศ.นพ.อาวุธ กล่าวว่า จากข้อมูลการติดตามแพทย์กว่า 30,000 คนในอังกฤษ ต่อเนื่อง 50 ปี พบว่า โดยเฉลี่ยแพทย์ที่สูบบุหรี่ระยะยาวมีอายุสั้นกว่าแพทย์ที่ไม่สูบบุหรี่ 10 ปี ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่น่าเสียดายมาก การป้องกันนักศึกษาแพทย์ไม่ให้เสพติดบุหรี่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้การสำรวจจะพบว่านักศึกษาแพทย์ไทยมีจำนวนน้อยที่สูบบุหรี่ และส่วนใหญ่มีการสูบเป็นครั้งคราว แต่ตามสถิติหากมีการทดลองสูบบุหรี่จนถึง 100 มวน ครึ่งหนึ่งจะเกิดการเสพติดและเลิกสูบยากมาก

"นโยบายนี้ ถือเป็นการตัดวงจรให้แพทย์ที่สูบเป็นครั้งคราวสามารถเลิกสูบอย่างถาวร โดยแพทย์ถือเป็นบุคคลต้นแบบด้านสุขภาพของสังคม ถือเป็นการสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และยังเป็นการสื่อสารค่านิยมนี้ไปถึงนักเรียนมัธยมปลายที่ต้องการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ให้อยู่ห่างไกลจากบุหรี่ และจะถือเป็นประเทศแรกของโลกที่ดำเนินนโยบายนี้” ศ.นพ.อาวุธ กล่าว

ศ.นพ.อาวุธ กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สำคัญที่สุดของโลก ในแต่ละปีทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 7 ล้านคน และจากการได้รับควันบุหรี่มือสองถึง 1.2 ล้านคน ส่วนประเทศไทยการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันดับหนึ่งของคนไทย แต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 50,000 คน เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองเกือบ 10,000 คน และมีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่กว่าหนึ่งล้านคน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง