ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านดิจิทัล ม.หอการค้า เสนอ How to ดิจิทัลทรานสฟอร์มเมชันระบบสาธารณสุขอย่างไร ลดต้นทุน “30 บาทรักษาทุกโรค” แต่ยังคงคุณภาพการบริการ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้า อดีตกรรมการผู้จัดการหน่วยงานเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ภูมิภาคอาเซียน กล่าวภายในงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ซึ่งจัดโดยสมาคมนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข และสำนักข่าว Hfocus ที่อาคารสถาบันทันตกรรม โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน นายกสมาคมนักบริหารสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน

โดยดร.ธัชพล กล่าวว่า ในเรื่องงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรค มีประเด็นท้าทายในอนาคต เนื่องจากต้นทุนของการใช้บริการจะสูงขึ้นอย่างแน่นอนในแง่การบริการสาธารณสุข และประชากรของเราจะมีอัตราสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เห็นได้ว่า 2 เรื่องนี้จึงมีความท้าทายมาก ดังนั้น ในเรื่องของ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่สามารถต่อเนื่องได้หากยังเป็นต้นทุนเหมือนเดิม หรือต้นทุนเพิ่มขึ้น

“วิธีที่จะมาช่วย อาทิ 1.การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทเลเฮลธ์ 2.การที่จะมีกระบวนการทำงานแบบเดิม แต่หากใช้ดิจิไทซ์ (Digitize) ตัวโปรเซส (Process) ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพก็จะลดขั้นตอนลงได้ และ 3. ที่สำคัญคือ ต้องปรับตัวโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ รวมทุกอย่างในที่เดียว ซึ่งคงไม่ได้อีก แต่ต้องปรับให้ออกเป็นเซกเมนต์ย่อยๆ เหมือนธนาคารที่แบ่งย่อยเป็นเรื่องฝากถอน หรือ บิซิเนส เซนเตอร์ (BUSINESS CENTER) แต่แยกเฉพาะเรื่อง ซึ่งสาธารณสุขสามารถทำได้ด้วยการ Redesign เช่น การรับบริการเฉพาะทาง การแยกย่อยจะทำให้ต้นทุนถูก การบริการจะได้สเกลเพิ่มขึ้นและเฉพาะทางขึ้น ซึ่งตรงนี้สำคัญมากในการจะเป็น Digital transformation” ดร.ธัชพล กล่าว

ดร.ธัชพล โปษยานนท์

เมื่อถามว่ากรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) นับเป็นหนึ่งในการทำเซกเมนต์ได้หรือไม่ ดร.ธัชพล กล่าวว่า ถือว่าเป็นโมเดลที่ดี และหากเราดิจิทัลเข้าไปใช้ อย่างเทเลเฮลธ์ โดยเอาความเชี่ยวชาญของหมอมาผ่านการใช้เทเลเฮลธ์ได้ ส่วนเรื่องงบประมาณในการพัฒนานั้น จริงๆ การใช้ดิจิทัลนั้นหากลงทุนไป 1 บาท ผลตอบรับจะกลับคืนทวีคูณ ต้องมองว่างบเมื่อไปลงทุนจุดไหนจะคุ้มค่าในแง่ของการใช้ดิจิทัลมากที่สุด

ดร.ธัชพล กล่าวอีกว่า ในมุมมองทางด้านเฮลธ์แคร์ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลนั้น ยังจำเป็นต้องพิจารณาว่าจะสร้างทักษะดิจิทัลตรงไหน ส่วนใหญ่มักนำดิจิทัลมาใช้เฉยๆ แต่ไม่ได้สร้างศักยภาพให้ในองค์กรของเราเอง ซึ่งศักยภาพทางด้านดิจิทัลสำคัญมาก เราต้องรู้ว่าจะประยุกต์ใช้อย่างไรให้เป็น ยกตัวอย่าง ทางด้าน สาธารณสุขจำเป็นต้องมีการบูรณาการข้อมูลคนไข้ เพราะหากไม่มีจะไปต่อก็ลำบาก หรือการบริการรักษาแบบเทเลเมดิซีน เป็นอีกเรื่องสำคัญ เพราะในอนาคตเราไม่สามารถสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และรับคนไว้ในที่เดียวกันได้อีก เป็นต้น

ดร.รัชพล กล่าวว่า นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ต้องพิจารณาว่าจะ scale และ speed อย่างไร เพราะสิ่งที่ดิจิทัลช่วยได้และเป็นประโยชน์มาก คือ การขยายบริการได้และทำได้อย่างรวดเร็ว เช่น จากรับคนไข้วันละ 100 คน แต่รับได้ 1,000 คนหรือไม่ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็น Digital transformation ส่วนสปีดจะทำให้เร็วขึ้นได้หรือไม่ จากรอคิวนานก็ให้เร็วขึ้นได้หรือไม่

เมื่อถามว่าสำหรับประชาชนที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงบริการดิจิทัลของโรงพยาบาลได้อย่างไร ดร.ธัชพล กล่าวว่า กรณีในแง่ของสาธารณสุขอาจต้องมีการศึกษาในแง่ของคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีว่าควรทำอย่างไร ยกตัวอย่าง แต่อย่างทางด้านการเงิน การปล่อยกู้เงินนั้น ที่ผ่านมามีคนกว่า 80% ไม่สามารถเข้าถึงการปล่อยกู้จากธนาคาร แต่ปัจจุบันธนาคารสามารถเข้าไปถึงตัวเกษตรกรโดยร่วมมือกับทางไปรษณีย์ เพราะอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง แต่ไปรษณีย์ไปถึงทุกบ้าน ซึ่งตรงนี้มีช่องทางในการดำเนินการหลากหลายรูปแบบ อย่างกรณีการจัดส่งยาที่บ้านด้วยไปรษณีย์ที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ดำเนินการนั้น ถือว่าเดินมาถูกทางของการใช้ดิจิทัลเช่นกัน

ติดตามเพิ่มเติมผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Hfocus 

https://fb.watch/27t7tprKlj/