ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ร่วมคณะวิศวกรรมฯ มธ. พัฒนาซอฟต์แวร์คัดกรองผู้ป่วยด้วย AI Chest 4 All (DMS TU) คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก ซอฟต์แวร์ฟรีติดตั้งแล้ว 45 แห่ง ย่นระยะเวลาทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการแพร่เชื้อ เนื่องจากพบความผิดปกติของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น

สมาคมนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องประชุมสุทธาสิโนบล ชั้น 8 สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ในหัวข้อการเสวนา "New Normal Medical Service with Digital Health" 

 

โดย พญ.น้ำทิพย์ หมั่นพลศรี ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 8 รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี กล่าวว่า รังสีแพทย์ในประเทศไทยมีเพียง 1,400 คน ตามโรงพยาบาลในอำเภอและชุมชนจึงไม่มีรังสีแพทย์ ทั้งที่การเอกซเรย์เป็นพื้นฐานการวินิจฉัยโรคบางอย่าง จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากทางโรงพยาบาลต้องการปรับตัวด้วยการเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ เปลี่ยนจาก Hospital Base เป็น Personal Base คนทุกคนจะต้องมีข้อมูลสุขภาพส่วนตัวเป็นของตัวเอง ในตอนนั้นพบว่าเว็บไซต์กูเกิลสามารถวินิจฉัยและเอกซเรย์ได้ ในเมื่อต่างชาติทำได้ทำไมไทยจะทำไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดพัฒนาซอฟต์แวร์คัดกรองผู้ป่วย AI Chest 4 All (DMS TU) หรือ AI คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก โดยร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพียง 1 ปีก็สามารถผลิตซอฟต์แวร์ออกมาได้สำเร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 และเป็นซอฟต์แวร์ฟรีที่ติดตั้งไปแล้ว 45 โรงพยาบาล ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดการแพร่เชื้อเนื่องจากพบความผิดปกติของผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพราะปกติแล้วคนไข้ 1 คนมาเอกซเรย์กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคก็ข้ามวันข้ามเดือน และถ้าคนไข้เป็นโรควัณโรคอาจแพร่ไปยังญาติพี่น้องได้เร็ว การมีซอฟต์แวรตัวนี้จึงช่วยให้รู้ได้เร็วขึ้น คนไข้จะได้รับการวินิจฉัย รักษา และแนะนำว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

ประโยชน์สำคัญของ AI Chest 4 All จึงช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์ ช่วยเรื่องการรักษา เมื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้น จะทำให้ผลของการรักษาออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พญ.น้ำทิพย์ เพิ่มเติมว่า AI Chest 4 All จะช่วยในการรวบรวมข้อมูลสุขภาพของประชาชนเพื่อวิเคราะห์ในอนาคต เกี่ยวกับกลุ่มโรคที่สำคัญ เช่น เนื้องอกและวัณโรค โรคที่พบได้บ่อยและต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน ต้องนำข้อมูลนั้นมาประกอบการวิจัย วิเคราะห์และพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

ในสถานการณ์โรคระบาดจากโคโรนาไวรัส 2019 การใช้ AI จะยิ่งช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้ดียิ่งขึ้น เพราะโควิด-19 คนไข้จะมีทั้งกลุ่มที่มีอาการและไม่มีอาการ...

พญ.น้ำทิพย์ เสริมว่า กลุ่มที่ไม่มีอาการเลย ถ้าเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง จะรู้ได้อย่างไร เพราะกว่าผลที่ตรวจเพาะเชื้อออกต้องใช้เวลา แต่ถ้าเอกซเรย์แล้วพบข้อมูลได้เร็วว่า ปอดของคนไข้ผิดปกติมีความเสี่ยงโควิด-19 จะสามารถแยกคนไข้ออกมาได้เร็วขึ้น ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าเดือนพฤษภาคม 2564 ซอฟต์แวร์ AI Chest 4 All จะอัปเกรด เพื่อช่วยดูแลเรื่องโควิด-19 และนิวมอเนีย (โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม) ได้ และในอนาคตก็มีแนวคิดที่อยากพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อยอดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ขณะนี้กำลังมองหาบุคลากรทางการแพทย์และเครือข่ายในการพัฒนาการแพทย์เพื่อประชาชนต่อไป

การใช้ AI ช่วยงานด้านรังสีวิทยาเป็นสิ่งที่จะช่วยลดงานของรังสีแพทย์ ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นและใช้เวลาน้อยลง นายชัยวัฒน์ พู่พิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายฏิบัติการ (COO) บริษัทเพอเซ็ปทรา จำกัด เพิ่มเติมว่า งานของรังสีแพทย์ต้องดูฟิล์มเอกซเรย์จำนวนมาก ๆ ต่อวัน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า แต่ตัว AI จะช่วยประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่ วิเคราะห์ผลเบื้องต้นจากภาพเอกซเรย์ได้ ซึ่งการใช้ AI เข้ามาช่วยจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับช่วงนอกเวลาทำการของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็น Second Opinions ให้กับแพทย์ทั่วไป เมื่อต้องเจอกับเคสฉุกเฉิน

นายพงษ์ชัย เพชรสังหาร รองนายกสมาคมเฮลท์เทคไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท พรีซีชั่นไดเอกทช์ จำกัด ผู้พัฒนาระบบ Telehealth ในการดูแลผู้ป่วย NCDs กล่าวว่า ปัจจุบัน Telehealth ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมาก ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดูแลและติดตามการรักษา ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระงานให้กับแพทย์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรค เช่น โรคเบาหวาน ที่ต้องใช้นักกำหนดอาหารหรือนักโภชนาการในการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

"เราได้มี AI Assistant ที่มีข้อมูลของเมนูอาหาร ความรู้เกี่ยวกับโรค วิธีใช้ยาและผลข้างเคียง พร้อมด้วยวิธีปฏิบัติตัว เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามาศึกษาถึงวิธีการดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ซึ่งช่วยลดการทำงานได้ทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร" นายพงษ์ชัย กล่าว

ปัจจุบันหลาย ๆ โรงพยาบาลเป็น Smart Hospital ทำให้การดูแลและรักษาผู้ป่วยนั้นสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ผช.ศ.ดร.เศรษฐชัย ชัยสนิท Business and Innovation Development Manager บริษัท Expert Technology Development และบริษัทในเครือ อดีตคณบดี วิทยาเขตนนทบุรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี อธิบายว่า Smart Hospital คือ โรงพยาบาลที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการจัดบริการภายในโรงพยาบาล ลดขั้นตอนการปฏิบัติ จึงดีต่อสถานการณ์ในตอนนี้ที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้บริการในโรงพยาบาลนั้นสูงขึ้นด้วย แต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์นั้นมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย เช่น นวัตกรรมใหม่-ระบบคัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติ Smart Easy OPD โดย Smart BP Kiosk เชื่อมต่อกับเครื่องวัดความดันเดิมของโรงพยาบาล ช่วยคัดกรองและบันทึกค่าต่าง ๆ ส่งต่อข้อมูลไปยังแผนกที่เกี่ยวข้องได้อย่างอัตโนมัติ จึงช่วยในการบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประยุกต์ใช้ AI ในยุค New Normal จึงช่วยลดงาน แพทย์ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยคัดกรองผู้ป่วยในสถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น