ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสวนา "ยกระดับคุณภาพ จัดการความเหลื่อมล้ำ ลดข้อร้องเรียน" สธ.ตั้งเป้า 2 ปี เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลให้ใกล้เคียงกัน

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเครือข่ายรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ ในหัวข้อเสวนา ยกระดับคุณภาพ จัดการความเหลื่อมล้ำ ลดข้อร้องเรียน

โดย นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายมุ่งเน้น กระทรวงสาธารณสุข ปี 2564-2565 ประกอบด้วย 1.ให้ความสำคัญสูงสุดต่อโครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 2.ระบบสุขภาพ มุ่งพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และ อสม. คนไทยทุกคนต้องมีหมอประจำตัว 3 คน, พัฒนาระบบบริการทุติยภูมิให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ, ดูแลสุขภาพองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม 3.ระบบบริการก้าวหน้า เสริมสร้าง พัฒนา Basic Excellence ให้มีศักยภาพ ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ, New Normal Medical Care, ยกระดับสู่ Innovative Healthcare Management, สนับสนุน 30 บาท รักษาทุกโรค 4.เศรษฐกิจสุขภาพ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ, ให้ความสำคัญกับสมุนไพร กัญชา กัญชง ทางการแพทย์, เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอย่างปลอดภัย 5.สุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) สร้างความมั่นใจและความพร้อมในการจัดการกับโรคอุบัติใหม่ Covid-19, สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพประชาชน สุขภาพดีวิถีใหม่ 3 อ, ให้บุคลากรทุกคนสวมหน้ากากอนามัย 100% 6.บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล บริหารด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ สร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากร ผู้รับบริการ, งานได้ผล คนเป็นสุข มีความเป็น พี่ เพื่อน น้อง, สร้างผู้นำรุ่นใหม่ และพัฒนาคนให้เก่งกล้า (อัศวิน สธ)

นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์

"โควิด-19 เกิดมา 1 ปี เรามีองค์ความรู้มากพอสมควร จนกลายเป็นวิถีปกติ ตัวอย่างโควิดเป็นสิ่งที่บอกเราได้ว่า ถ้าเราไปป่วยที่ไหนหรือเกิดโรคอยู่จุดใด การเข้าถึงบริการยังเข้าถึงได้เร็วหรือไม่ หรือในระบบของสาธารณสุข ตามเข้าไปควบคุมได้หรือไม่ สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาคือ ศักยภาพโรงพยาบาลในทุกระดับ โรคที่มีอาการป่วยเจ็บเรื่อย ๆ เช่น ตา ไต สุขภาพจิต แม่และเด็ก อายุรกรรมต่าง ๆ พวกนี้เจอเป็นประจำควรดูแลได้ รวมถึงสร้างความเชี่ยวชาญในเขตสุขภาพ 12 เขต ต้องทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ทำอย่างไรให้การส่งต่อน้อยลง มีศักยภาพในการดูแลโรคมากขึ้น อีก 1 เขต (กทม.) ต้องพยายามให้เข้าถึงได้ดี การเข้าถึงบริการทางรัฐต้องปรับ และสิ่งที่เป็นความท้าทายของเราคือการปลูกถ่ายอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้หรือผู้รับต้องมีความพร้อม มาตรฐานต้องมี เพราะเราตั้งเป้าในการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการมาตรฐาน ลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย สำหรับการยกระดับต้องกำหนด Optimal Service บูรณาการ ดำเนินการตามแผน ทั้งเรื่องลงทุน กำลังคน ระบบบริการ โดยวางกรอบความสำเร็จไว้ที่ 2 ปี จึงเป็นความท้าทายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้เหลือน้อยที่สุด"

ส่วนการร้องเรียนคุณภาพการให้บริการนั้นลดลง ในปี 2563 มีร้องเรียน 380 ราย นพ.สินชัย กล่าวว่า การลดข้อร้องเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทำอย่างไรให้เกิดความชัดเจนหรือความเข้าใจร่วมกันมากกว่า ในปัจจุบันช่องทางการร้องเรียนมีหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ กล่องรับเรื่องร้องเรียน หรือแม้แต่การร้องเรียนเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข แต่หากนำมาวิเคราะห์จะพบว่า เกิดจากความไม่เข้าใจ การสื่อสารที่ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า หลายเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่ออารมณ์เย็นจะคลี่คลายลงด้วยดี เช่นการทำงานของภาคประชาชน อย่างหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน เป็นคนกลางที่รับรู้ปัญหาคล้ายกัน เมื่ออธิบายโดยคนกลางจะคุยกันได้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะแพทย์อาจมีบางมุมที่มองไม่เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่า หากให้เวลาจะช่วยให้คุยกันรู้เรื่อง

นพ.สินชัย เพิ่มเติมว่า ส่วนการยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลมี 2 ส่วน 1.การทำให้การรักษาพยาบาล การส่งเสริม การป้องกันโรค งานสุขภาพครอบคลุมทั้งหมดเป็นมาตรฐานทุกที่ กระทรวงสาธารณสุขก็ดูแลเรื่องมาตรฐาน ให้มีบุคลากรเพียงพอ ส่วนคุณภาพนั้นสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะมาช่วยดู เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการบริการไม่ต่างกัน ในเชิงประสิทธิภาพก็ต้องมองในระบบของเขต ในเขตสุขภาพ ซึ่งมีประชากร 3-5 ล้านคน ควรจะมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกัน จะเห็นว่าบางแห่งที่มีศักยภาพในบางเรื่องมากกว่า ต้องพยายามให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ด้านนพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เสริมว่า สรพ.มุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำในมุมของสถานพยาบาล โดยทำหน้าที่รับรองคุณภาพสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ เน้นการมี 2P Safety P แรก ต้องปลอดภัยทั้งทางเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ P ที่ 2 คือผู้ป่วย เป็น 2P ที่ต้องให้ความสำคัญ โดยมีโรงพยาบาลทุกสังกัดเข้าร่วม 2P Safety แล้ว 764 โรงทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ทั้งยังเปิดให้โรงพยาบาลรายงานข้อผิดพลาด ร้องเรียน ซึ่งจะมองไม่เห็นว่าโรงพยาบาลไหน แต่ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นว่า ในเรื่องเดียวกันหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกัน เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้ จะนำไปทบทวนเพื่อออกมาตรฐานใหม่ ให้แต่ละโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังชวนประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยเครือข่าย PFPS ให้คนไข้ที่เคยมีประสบการณ์รับบริการที่เกิดความไม่ปลอดภัยมาเปิดเผยข้อมูลกับเรา โดยใช้ประสบการณ์จากผู้ป่วย มาพัฒนาเป็นกระบวนการภาคประชาชน

ขณะที่การดำเนินงานภาคประชาชน นางสาวอรกัลยา พิชชาออน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า การทำงานของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน มาตรา 50 (5) ช่วงแรกนั้นทำงานเรื่องการรับรู้สิทธิ สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้หน่วยบริการรับรู้สิทธิ จากนั้นก็มีการค้นหาผู้ด้อยโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงบริการเพื่อคุ้มครองสิทธิ กลไกรับเรื่องร้องเรียนก็จะจัดระบบ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นหากได้รับผลกระทบจากการรักษาพยาบาล ทำเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย บางครั้งเป็นการเข้าใจผิด จึงต้องทำงานกับผู้ให้บริการเพื่อลดการเกิดซ้ำ การทำงานจึงมุ่งในการลดเรื่องร้องเรียน ด้วยการทำงานกับทางเจ้าหน้าที่ คอยประสานกับผู้ป่วย หน้าที่หลักของหน่วยงานต้องรับรู้ รับฟัง ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง วิธีนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและทำให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ความมุ่งหมายในอนาคต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจ ลดเหลื่อมล้ำ ลดข้อร้องเรียน ให้ได้มากที่สุด