ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสวนาผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จากนโยบายระบบเบิกจ่ายตรงค่ายารักษามะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางภูมิคุ้มกัน (OCPA RDPA DDPA) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

ด้วยระบบเบิกจ่ายตรงค่ายารักษามะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง มีข้อกำหนดปลีกย่อยในการได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาล ทางสมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ จึงร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) จัดทำแบบสำรวจสอบถามความคิดเห็นและทัศนคติของผู้มีส่วนได้เสียหลักจากนโยบายระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาด้วยยามะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางภูมิคุ้มกัน ซึ่งประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและราชวิทยาลัย ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

โดยสมาคมฯ ได้จัดงานประชุมเชิงเสวนาผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จากนโยบายระบบเบิกจ่ายตรงค่ายารักษามะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางภูมิคุ้มกัน (OCPA RDPA DDPA) ณ ห้องประชุม VIP 1 สโมสรทหารบก เพื่อหาหนทางและแนวปฏิบัติที่ดี พร้อมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำไปหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดทำแบบสำรวจ ก็เพื่อดูผลกระทบของระบบ OCPA, RDPA และ DDPA ที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานให้การรักษาโรคมะเร็งและโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ข้าราชการและผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และผู้กำหนดนโยบายด้านสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวของข้าราชการ ทั้งนี้ ได้มีการรวบรวมข้อมูล 2 วิธี 1.แบบสอบถาม โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 100 ตัวอย่างจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางผู้ปฏิบัติงานให้การรักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน, ผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา และโรคทางระบบภูมิคุ้มกัน, ผู้กำหนดนโยบายหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบเบิกจ่ายตรงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และข้าราชการผู้ทราบเกี่ยวกับระบบ OCPA, RDPA และ DDPA 2.การสัมภาษณ์เชิงลึก รูปแบบการดำเนินการจะมีลักษณะเป็นการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยกลุ่มเป้าหมายได้แก่ หน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบ จำนวนอย่างน้อย 20 ตัวอย่าง

ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง รองผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้สรุปผลและวิเคราะห์ผลการสำรวจและการสัมภาษณ์ว่า 1.จากผลการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า แนวทางการรักษาของระบบ OCPA, RDPA และ DDPA เป็นการกำหนดการใช้ยาตามขั้นตอนมาตรฐานการรักษา โดยที่แพทย์ไม่สามารถเลือกใช้ยาที่ให้ผลการรักษาสูงสุดหรือตอบสนองคนไข้ดีที่สุดตั้งแต่ในขั้นตอนการรักษาระยะเริ่มต้น เพราะยาบางชนิดถูกกำหนดไว้ช่วงท้ายของมาตรฐานการรักษาส่งผลให้โรคมีโอกาสลุกลามมาก 2.ถึงแม้ว่ากรมบัญชีกลางจะอนุญาตให้สถานพยาบาลยื่นขออนุมัติใช่ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติตามดุลพินิจของแพทย์ แต่กระบวนการขอล่าช้า ต้องชะลอการรักษา เพราะยาบางชนิดมีค่ารักษาสูง ผู้ป่วยไม่สามารถสำรองจ่ายไปก่อนได้ 3.ข้อมูลเกี่ยวกับระบบ OCPA, RDPA และ DDPA เผยแพร่และประชาสัมพันธ์อย่างจำกัดไม่ครอบคลุมและไม่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

"4.ผู้ให้ความเห็นต้องการให้ปรับปรุงระบบ OCPA, RDPA และ DDPA เน้นไปที่การเพิ่มการเข้าถึงยา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นทางการแพทย์ ตามความต้องการของผู้ป่วยในระยะเวลาที่เพียงพอ และมีค่าใช้จ่ายต่ำ 5.การใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการควรมีการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และ 6.แม้ว่าข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ยาจะถูกรวบรวมเข้าสู่ฐานข้อมูลโดยสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แต่ขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น สัดส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้าถึงยาตามสิทธิการรักษาและเศรษฐานะและต้นทุนตรงทางการแพทย์"

ด้านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดร.รพีสุภา เพิ่มเติมว่า กรมบัญชีกลางควรพิจารณาปรับปรุงกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการเข้าถึงยาเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ตลอดจนเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานที่ทำหน้าที่พิจารณายาเพื่อเข้าบัญชี OCPA, RDPA และ DDPA ทั้งยังต้องกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายที่ชัดเจน เพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสม เพิ่มช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านระบบเรียลไทม์ระหว่างสถานพยาบาลกับสำนักวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจสอบการบริการสาธารณสุข (สพตส.)

"กรมบัญชีกลางควรร่วมกับทุกภาคส่วนออกแบบชุดข้อมูลมาตรฐานและสร้างฐานข้อมูลกลาง เพื่อวิเคราะห์การเข้าถึงยาระดับประเทศ ต้นทุนและผลลัพธ์ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยาในอนาคต ด้านคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติควรพัฒนากระบวนการเฝ้าติดตามการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติภายใต้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อศึกษาผลกระทบด้านความปลอดภัย ภาระงบประมาณ ภายใต้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เพื่อให้การสั่งยาก่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วย"

ส่วนข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับกรมบัญชีกลาง ดร.รพีสุภา กล่าวว่า ควรปรับปรุงรูปแบบการลงทะเบียนผู้ป่วยให้มีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน และควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบ OCPA, RDPA และ DDPA เป็นพื้นที่สำหรับการแจ้งเรื่องร้องเรียนและขอคำแนะนำ ทั้งยังควรปรับปรุงเนื้อหาการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงจัดอบรมเจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล ให้สามารถตอบข้อสงสัยของผู้ป่วยได้ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอย่างถูกต้อง

"สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา การกำหนดข้อบ่งชี้ของยาควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของคนไข้ พัฒนาไปสู่การรักษาจำเพาะบุคคล จะช่วยให้การรักษานั้นตรงจุดและเห็นผลเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการกำหนดยาที่ใช้สิทธิเบิกตรง ยาที่ต้องสำรองจ่ายก่อน และยาที่ไม่สามารถเบิกได้ ภายใต้ความโปร่งใสในการดำเนินการ โดยคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกยาเข้าสู่ระบบ ควรติดตามสถานการณ์ในตลาดโลก เพื่อพิจารณาปรับปรุงรายการยาและข้อบ่งชี้ในการรักษา โดยที่ปรึกษาฯ เสนอให้มีการพิจารณาปรับปรุงรายการยาและข้อบ่งชี้ในการรักษาทุก 6 เดือน" ดร.รพีสุภา ทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง