ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมศบค.พิจารณาตามข้อเสนอ รมช.สธ. เข้ม 5 จังหวัดระบาด “สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด” ไม่ขอใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” แต่เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”พร้อมขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 28 ก.พ.64

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 5 ม.ค.2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ศบค.ชุดใหญ่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า หลังจากมีการพิจารณาข้อปฏิบัติและการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ขณะเดียวกันมีการประกาศใช้หนังสือของกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยหลักๆ คือ 1.มาตรการสำหรับทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด ไม่ว่าจะสีแดง สีส้ม สีเหลือง ต้องมีการเน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นนระยะห่าง และสแกนไทยชนะ พร้อมทั้ง ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักแก่ประชาชนกรณีทราบว่า ตนเองเดินทางไปยังพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ หรือเข้าไปพื้นที่ควบคุมสูงสุดขอให้กักกันตนเอง 14 วัน หลีกเลี่ยงพบปะผู้อื่น หากมีอาการให้พบแพทย์ รวมไปถึงให้นำข้อสั่งการนายกฯ ไม่ให้พื้นที่มีบ่อนการพนัน โดยให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการหาเบาะแสต่างๆด้วย

2.มาตรการสำหรับจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ปิดสถานที่เสี่ยง ห้ามนั่งบริโภคในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น. ตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด กับรอยต่อพื้นที่ควบคุมให้มีการบันทึกข้อมูล ซึ่งหมายถึงการใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และดำเนินการตามมาตรการสธ. งดการเดินทามงข้ามพื้นที่เว้นแต่เหตุจำเป็น หรือขนส่งสินค้า แต่คนที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการตรวจคัดกรองตามมาตรการป้องกันโรค และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกรณีมีแนวโน้มว่าการแพร่ระบาดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นภาพได้จากจ.สมุทรสาคร นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์ และต้องชี้แจงความเข้าใจประชาชนเพื่อลดปัญหาเรื่องการต่อต้าน

“เมื่อวานคณะกรรมการชุด ศบค. พื้นที่ที่มีการระบาดมาก อย่าง จ.สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เสนอว่าให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดมากกว่าสีแดง เพิ่มมาตรการในการเดินทางมากขึ้น เพราะมาตรการเดิมเราก็จะเห็นว่า คนติดเชื้อมาจากการเล่น และย้ายที่เล่นไปมากมายหลายที่ การตรวจตอนนี้จึงต้องเข้มงวด และต้องใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ เช็กกันทุกคน ดังนั้น จึงขอใช้คำว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำกัดกรอบให้ได้ ดังนั้น คนที่จะเดินทางไปจะไม่ได้รับความสะดวก เพื่อเราจะได้ควบคุมโรคได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ ในการดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ คณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดเห็นว่าพื้นที่ระบาดมากขึ้น หรือขาดความร่วมมือ สามารถเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นกว่าได้ อย่างหากร้านอาหารไม่ให้ความร่วมมือก็สามารถเลื่อนเวลาเร็วขึ้นเป็น 19.00 น. จาก 21.00 น.ได้ และมีการประกาศต่อพรก.ฉุกเฉิน ออกไปจากวันที่ 15 ม.ค.645 เติมเป็น 16 ม.ค.-28 ก.พ.2564

เมื่อถามว่า 5 จังหวัดไม่ใช้ล็อกดาวน์ใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราไม่ใช้คำว่า ล็อกดาวน์ หากยังจำกันได้ตอนช่วงระบาดแรกๆ เที่ยวบินก็ปิด ถนนร้าง หากพูดว่าล็อกดาวน์ก็ต้องเต็มชุดเลย แต่นี่ไม่ใช่ เพราะการเดินทางยังเดินทางได้ อย่างขนส่งอาหารส่งได้ แต่ต้องมีมาตรการ ต้องมีการใช้แอปพลิเคชัน คือ จะมีความยุ่งยากมากขึ้น แบบนี้ไม่ใช่ล็อกดาวน์ นี่ไม่ใช่เล่นคำ แต่เป็นการอำนวยความสะดวกในช่วงที่เราต้องเผชิญโรคติดต่อ ล็อกดาวน์ไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพียงแต่ 5 จังหวัดนี้จะถูกเข้มงวดมากกว่า 23 จังหวัดที่เหลือในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะมีความละเอียดในการเข้มงวดมาตรการมากขึ้น

“อย่าลืมว่าพฤติกรรมของคนไม่ใช่เล่นบ่อนที่เดียวแล้วเลิก แต่ยังมีการเคลื่อนย้ายไปเล่นที่อื่นอีก ระหว่างสาธารณสุขเห็นเหตุ บวกกับฝ่ายปกครองเข้าใจ จึงต้องปิดเป้าหมายให้ได้ สถานที่ลักลอบเล่นการพนันต้องเข้ม ต้องไม่มี และการเคลื่อนย้ายต่างๆ ก็ต้องเข้มต้องลำบากมากขึ้น ขอย้ำตรงนี้ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการทำให้เกิดความเข้มงวดขึ้นมา” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว และว่า ส่วนกรณีคนใน 5 จังหวัดหากมีความจำเป็นต้องเดินทางข้ามพื้นที่ไปโรงพยาบาลไปพบแพทย์ ก็มีใบนัดก็สามารถโชว์ได้