ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์กลุ่มคนทำงานบ่อนพนันฝั่งเมียนมาเดินทางเข้าไทย ล่าสุดติดเชื้อ 17 ราย จากเข้ามา 40 ราย เหตุโควิดระบาดเมียนมาจนบ่อนปิด จึงประสานขอรักษาในไทย ข้อมูลเบื้องต้นคนทำงานกาสิโนฝั่งเมียนมารวม 300 คน เป็นคนไทย 200 คน

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีพบมีกลุ่มคนเดินทางข้ามมาจากชายแดนเมียนมา เข้า อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ 17 ราย เป็นชาย 8 คน หญิง 9 คน จากที่เดินทางเข้ามา 40 ราย เป็นกลุ่มพนักงานทำงานในบ่อนกาสิโนฝั่งเมียนมา ซึ่งเป็นบ่อนที่เปิดให้คนมาเล่น แต่มีโควิดระบาดเลยปิดทำเป็นออนไลน์ และมีการติดเชื้อในบ่อน โดยประสานขอเข้ารับการรักษาและกลับมารักษาในไทย อายุอยู่ในช่วง 20 ปีต้นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นประวัติกลับไปก่อนหน้านี้มีผู้เดินทางข้ามแดนธรรมชาติที่ลักลอบกลับมา ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 1 ราย เป็นหญิงอายุ 27 ปี โดยเล่าให้ฟังว่าบ่อนเริ่มมีผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้นและกลับมาหลายคน มารักษาคัดกรองใน รพ.เอกชน อ.แม่สอด เมื่อพบติดเชื้อเข้ารักษาในรพ.แม่สอด

“ผลการประเมินเบื้องต้นของทีมสอบสวนโรคพบว่า ข้อมูลเบื้องต้นบ่อนดังกล่าวมีพนักงาน 300 คน เป็นคนไทย 200 คน และคนเมียนมา 100 คน มีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างพนักงานทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อมาก ทั้งนี้ มีการประสานงานระหว่างทางการไทยและเมียวดี เฉพาะตรงบ่อนให้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นจากแรปพิดเทสต์น่าจะมี 10 กว่าคน ที่ผลบวกกำลังข้ามกลับมาวันนี้ โดยฝ่ายความมั่นคงประสานให้พนักงานคนไทยกลับเข้ามาอย่างถูกต้องช่องทางปกติ และตรวจสอบระวังการลักลอบข้ามแดน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า จากการสอบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ ธ.ค.เป็นต้นมา มีคนข้ามมาวันที่ 27 ธ.ค. พบ 3 รายจากที่ข้ามมา 6 ราย วันที่ 4 ม.ค. พบเชื้อ 2 รายจากข้ามมา 9 ราย วันที่ 6 ม.ค. มีหญิงตั้งครรภ์มาคลอดมีการติดเชื้อ 1 ราย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ใส่ชุดป้องกันผ่าตัดคลอด และวันที่ 7 ม.ค. พบ 17 รายจากเดินทาง 40 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่มาก บางรายไม่มีอาการ ทำให้รพ.แม่สอดต้องรองรับ 17 รายทันทีในเวลาสั้นๆ ขอย้ำทุกคนว่าคนใดพบเห็นหรือทราบการลอบข้ามแดนมาให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ

นอกจากนี้ รพ.แม่สอดกำลังเตรียมความพร้อม รพ.เพื่อมีเตียงรองรับ และอาจทำ รพ.สนาม เพื่อรองรับคนไทยกลุ่มนี้อีก อย่างไรก็ตาม คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย เพราะอยู่ในวัย 20-30 ปี ถ้ามีการกักตัวในสถานที่ชัดเจน ดูแลจนครบกำหนดก้จะปลอดภัย เป็นภาระที่จะดำเนินการต่อในฝั่งสาธารณสุข

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนคนที่รอเดินทางกลับมานั้น หากจำกรณีแม่สาย จ.เชียงรายนั้น มีคนข้ามกลับมา ก็ต้องไม่ทำให้เกิดการเดินทางลักลอบเข้ามา หากเดินทางเข้ามาและกักตัว 14 วันจะปลอดภัยต่อตัวเองและชุมชน โดยมีการตั้ง Local Quarantine ซึ่งพอกลับมาอย่างถูกต้องเข้ารับการกักตัว ก็ทำให้สถานการณ์คนไทยกลับมาจากท่าขี้เหล็กผ่านไปด้วยดี กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้ากลับมาที่แม่สอดกรณีนี้จะคล้ายกัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดคนไทยพยายามกลับมา ทำให้พบผู้ป่วยที่มาจากการลักลอบจำนวนมากก็ต้องจัดให้เข้ามาถูกกฎหมาย เข้าสถานกักกันโรคมาตรวจสอบ คนไหนป่วยดูแลรักษา คนไหนไม่ป่วยกักกันให้ครนบ 14 วันเพื่อไม่นำโรคไปกระจายชุมชน ที่ต้องช่วยกันคือต้องไม่ลักลอบเข้ามาผิดกฎหมาย เพราะจะเป็นอันตรายกับประชาชนทั่วไปและประเทศไทย ต้องไม่มีอีก เมื่อเข้ามาถูกกฎหมายควบคุมได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่เราประเมินว่าอาจมีการตกค้างเป้นร้อยคน ทั้งที่ติดเชื้อไม่ติดเชื้อต้องรอการพิสูจน์ ต้องตั้งสถานกักกันโรคในอ.แม่สอดให้เพียงพอรับการสถานการณ์ ก็เป็นภาระหนักของจังหวัดและสาธารณสุข แต่ก็ต้องดำเนินการ เราต้องการความร่วมมือไม่ลักลอบเข้ามาอีก ประชาชนเป็นหูเป็นตาแจ้งเจ้าหน้าที่

นพ.จักรรัฐ ยังกล่าวถึงกรณี จ.หนองบัวลำภู ค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายแรกของจังหวัด ว่า หนองบัวลำภูได้ค้นหาในผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น กทม. เมื่อเดินทางมาก็มีเจ้าหน้าที่ อสม. แนะนำ พาไปตรวจคัดกรอง รายแรกเป็นชายไทยอายุ 23 ปี ติดเชื้อไม่มีอาการ มีประวัติเดินทางมา กทม.เพื่อสอบคัดเลือกตำรวจ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. และเดินทางกลับไปวันที่ 4 ม.ค. และกักตัววันที่ 5-6 ม.ค. วันที่ 7 ม.ค.มาตรวจหาเชื้อก็พบเป็นบวก เข้ารับการรักษาใน รพ. ประเด็นสำคัญคือตามไทม์ไลน์มีการเดินทางสอบคัดเลือกตำรวจ จำนวนคนอาจมีพอสมควร แต่เท่าที่สอบถามใส่หน้ากากเกือบทั้งหมด ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีความสุ่มเสี่ยงใกล้ชิดในสถานที่นี้ ให้ติดตามสังเกตอาการ หากมีอาการให้พบแพทย์หรือ รพ.ใกล้บ้าน สงสัยปรึกษา 1422 ต้องชื่นชมเจ้าหน้าที่ และเจ้าตัวที่ร่วมมือในการป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น