ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ก้าวสู่ปีที่ 20 ตั้ง 2 หน่วยงาน “ศูนย์กิจการสร้างสุข - สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ” ทำงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมสร้างธุรกิจ หารายได้ลดการพึ่งพางบประมาณภาครัฐ พร้อมเผยผลงาน 20 ปีสร้างความเปลี่ยนแปลงจนได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลา ขององค์การอนามัยโลก

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดให้สัมภาษณ์ในโอกาสได้รับรางวัลเนลสันแมนเดลา ขององค์การอนามัยโลก และการขับเคลื่อนงานในโอกาสที่ สสส.ครบรอบ 20 ปี ว่า สำหรับในปี 2564 เป็นปีที่ สสส.ครบรอบ 20 ปี สู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” โดยจะเปิดตัว 2 หน่วยงานภายใต้การกำกับ คือ ศูนย์กิจการสร้างสุข (SOOK Enterprise) ทำหน้าที่ขยายผลองค์ความรู้ ข้อมูลวิชาการ สร้างเสริมประสบการณ์ด้านสุขภาวะให้เข้าถึงประชาชน ผ่านกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาวะที่สร้างสรรค์ และสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) เพื่อพัฒนาศักยภาพ และให้คำปรึกษาภาคีเครือข่าย ยกระดับนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ และเดินหน้างานโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” จากปัญหา PM2.5 การนำระบบฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” (Big Data) มาใช้ป้องกันดูแลสุขภาพ และสานต่อเรื่องโควิด-19 การจ้างงานคนพิการ และสนับสนุนมาตรการทางราคาและภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ลดเสี่ยงโรค NCDs

“โดยที่ผ่านมา สสส.ทำงานขับเคลื่อนด้านการสร้างเสริมสุขภาพมาตลอด มีภาคีเครือข่ายร่วมกันทำงานจำนวนมาก แต่ในทศวรรษใหม่นี้ สสส.จะเพิ่มไลน์ธุรกิจเข้ามา เพื่อสร้างรายได้และลดการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งในส่วนของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ จะเป็นอีกเครื่องมือที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ เช่น อาจเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดเข้ามาด้วย ซึ่งก็จะมีเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาทำงานตรงนี้ ขณะที่ศูนย์กิจการสร้างสุขนั้น โดยวัตถุประสงค์เราก็หวังว่าจะสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยในอนาคต เนื่องจากจะเป็นการดึงนวัตกรรมสุขภาพในชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆมา เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ได้ ตรงนี้ก็เป็นอีกจุดที่เราให้ความสำคัญเช่นกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 2564 จะมีความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการใช้ระบบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า(Big Data) มาให้ความรู้นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ด้านหลักประกันสุขภาพ อย่างวิธีการป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ หรือข้อมูลด้านสุขภาพที่สำคัญที่บุคคลนั้นๆสนใจ โดยระบบ AI จะทำการคัดกรองว่า กลุ่มอายุ เพศ หรือความสนใจของคนๆหนึ่งสนใจเรื่องอะไร ก็จะมีการจัดส่งข้อมูลนั้นไปถึง เช่น การดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศูนย์กิจการสร้างสุขนั้น ตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารศูนย์กิจการสร้างสุข พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมสประสบการณ์ด้านสุขภาวะด้วยกิจกรรมและผลิตภัณฑ์สุขภาวะที่จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความรอบรู้ และแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมสำหรับประชาชนและองค์กร บริการนำชมภายในอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ บริการออกบูธเผยแพร่ประเด็นสุขภาวะ บริการสื่อเรียนรู้ในช่องทางออนไลน์ และบริการศูนย์เด็กเล็ก(อยู่ระหว่างเตรียมการ ส่วนผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นการจัดทำและจำหน่ายหนังสือ ชุดสื่อการเรียนรู้ จัดทำและจำหน่ายผลิตภัณ์สุขภาวะ ร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อพัฒนา ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาวะ

ส่วนสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งขึ้นตามระเบียบกองทุนสนับสนุนว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2563 โดยสถาบันดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ เป็นสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยมีภารกิจหลักๆ 3 ด้าน คือ 1. งานพัฒนาหลักสูตร เช่น พัฒนาวิทยาการหลักสูตรต่างๆ จัดกิจกรรมการอบรม ประเมินและติดตามผล และพัฒนารูปแบบและช่องทางการเรียนรู้ เช่น อี-เลิร์นนิ่ง

2.งานพัฒนาเครือข่ายและชุมชนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น จัดเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามประเด็น/พื้นที่ สร้างแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อต่อยอดการปฏิบัติงานจริง พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานสถาบัน และบริหารจัดการสมาชิก/ลูกค้าสัมพันธ์ และ3.งานจัดการความรู้และวิจัย เช่น เป็นหน่วยจัดการองค์ความรู้และงานวิจัย ให้บริการทางวิชาการ เผยแพร่องค์ความรู้หรือแนวทางปฏิบัติที่ดี ยกระดับมาตรฐานการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพผ่านการสำรวจ วิจัย หรือเทียบเทคียง กับหน่วยงานหน่วยงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศไทยและแนวทางปฏิบัติสากล

นอกจากนี้ ดร.สุปรีดา กล่าวถึงการทำงานตลอด 20 ปี ว่า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยหลายด้าน เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาพกว่า 3,000 โครงการต่อปี ครอบคลุมประเด็นเชิงสุขภาวะที่หลากหลาย มีภาคีเครือข่ายมากกว่า 20,000 ราย เข้าร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพกับ สสส. กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับถึงงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศไทย รางวัลเนลสันแมนเดลา ด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021) คือความสำเร็จของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทุกคน ที่อุทิศตนทำงาน ในระดับนานาชาติ ถือเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจของไทย

สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ จะจัดขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ สสส. ขอชวนคนไทยร่วมภาคภูมิใจไปด้วยกัน เป็นพลังสร้างสรรค์งานสร้างเสริมสุขภาวะ กับรางวัลเนลสันแมนเดลา รางวัลเกียรติยศของคนไทยทุกคน