ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบออกใบรับรองวัคซีนพาสปอร์ตของไทย แต่ประเทศปลายทางจะยอมรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลกอยู่ระหว่างพิจารณาระดับสากล ส่วนลดวันกักตัวแบ่งเป็น 3 กรณี เหลือ 7 วันจาก 14 วัน ยกเว้นผู้เดินทางเข้าไทยมาจากทวีปแอฟริกายังคงเดิม เพราะหวั่นเชื้อกลายพันธุ์ ทั้งหมดจ่อเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 8 มี.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯ มีมติในเรื่องการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือวัคซีนพาสปอร์ต โดยกลุ่มแรกที่จะได้ คือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 และเข็มที่ 2 ในวันที่ 21 มี.ค.2564 ซึ่งเว้นห่าง 3 สัปดาห์ระหว่างเข็ม เมื่อมีการฉีดครบทั้ง 2 เข็ม สถานพยาบาลที่ฉีดจะออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับใช้ภายในประเทศ ส่วนกรณีที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนำเอกสารรับรองมาขอสมุดเล่มเหลืองที่รับรองการฉีดวัคซีนโควิด19 หรือวัคซีนพาสปอร์ตได้ที่สถานพยาบาลที่ทำการฉีด โดยมีค่าธรรมเนียมกรณีเป็นเล่มกระดาษ 50 บาท และกรณีเป็นเล่มดิจิทัล 50 บาท โดยเบื้องต้นจะมีอายุ 1 ปี

“ส่วนการใช้วัคซีนพาสปอร์ตนั้น ประเทศไทยสามารถออกให้ได้ แต่ประเทศปลายทางที่จะเดินทางไปนั้นจะยอมรับอย่างไร เป็นเรื่องของแต่ละประเทศจะพิจารณา ซึ่งเล่มแสดงการฉีดวัคซีนสีเหลืองนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ก็มีการดำเนินการมาแล้ว กรณีที่จะต้องใช้วัคซีนพาสปอร์ต ในการแสดงการฉีดวัคซีนไข้เหลือง ก่อนเดินทางไปแอฟริกา”นายอนุทินกล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า กรณีผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยนั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนโควิด19ทั่วโลกไปแล้วกว่า 250 ล้านโดสและมีสถานการณ์การติดเชื้อในอัตราที่ลดลง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงพิจารณาลดวันกักตัว โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1. ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด19ครบถ้วน อย่างน้อย 14 วัน แต่ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนเดินทาง และมีใบตรวจยืนยันปลอดโควิด19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงกักตัว 14 วัน เนื่องจากเกรงเรื่องเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

2. ผู้ที่มีสัญชาติไทย มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด19ครบถ้วน อย่างน้อย 14 วันและไม่เกิน 3 เดือน ก่อนเดินทาง แต่ไม่มีเอกสารรับรองการปลอดโควิด19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 7 วันยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงกักตัว 14 วัน

และ3.ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยบ ไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด19ครบถ้วน แต่มีเอกสารรับรองการปลอดโควิด19 ให้ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกายังคงกักตัว 14 วัน

“ทั้งหมดนี้จะนำเข้าสู่การพิจารณาของศบค.ชุดใหญ่ และจะมีผลเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป และในระยะต่อไปซึ่งคาดว่าราวเดือนต.ค.2564 หากมีการฉีดวัคซีนโควิด19ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยแล้วมีอาการรุนแรง และประชาชนในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวครอบคลุม 70 %แล้ว ก็อาจจะพิจารณาผ่อนคลายเป็นการเข้าประเทศไทยไม่ต้องกักตัวก็เป็นได้ ซึ่งจะเป็นช่วยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการทำมาหากินของคนไทยทั่วไป ”นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมยกเว้นเฉพาะทวีปแอฟริกา ในเมื่อมีการกลายพันธุ์ในประเทศบราซิลและอังกฤษด้วย นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการฯพิจารณาตามหลักวิชาการ เนื่องจากในข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นนั้น วัคซีนโควิด19ยังไม่ครอบคลุมไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาที่มีการกลายพันธุ์ จึงจำกัดวงกลุ่มเสี่ยงประเทศในแอฟริกา

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมฯยังได้พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมาด้วย โดยมีความกังวลเกรงจะมีประชาชนจากประเทศเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดนมากขึ้น โดยสธ.ขอให้หน่วนงานความมั่นคงตรึงชายแดนให้ได้มากที่สุด ให้เข้มงวดคนเข้า-ออกให้รัดกุมเข้าช่องทางถูกกฎหมาย และผลักดันคนที่เข้ามาผิดกฎหมายออกไปให้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสธ.ให้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องจัดสถานกักกันในจังหวัดที่อาจจะมีการลักลอบเข้ามา และเตรียมความพร้อมตั้งรพ.สนามในพื้นที่ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ยังไม่ถึงระดับนั้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีความคืบหน้าองค์การอนามัยโลกกรณีวัคซีนพาสปอร์ตสากล นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังพิจารณาเรื่องนี้ แต่ไทยก็ต้องทำในส่วนของประเทศเรา