ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศบค.มีมติไม่เคอร์ฟิว – ไม่ล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มมาตรการพื้นที่สีแดง 18 จังหวัด ห้ามนั่งกินในร้านอาหารเกิน 3 ทุ่มแต่ซื้อกลับได้ ขณะที่ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ตี 4- 5 ทุ่ม แต่ทั้งพื้นที่สีแดงและสีส้ม ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน เริ่มใช้มาตรการ 18 เม.ย. โดย  2 สัปดาห์ประเมินอีกครั้ง 

เมื่อเวลาประมาณ 15.50 น. วันที่ 16 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงมติการประชุม ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุม ว่า สรุปการประชุมวันนี้ไม่มีเคอร์ฟิว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเรื่องการควบคุมและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยขอให้มีการปรับระดับของพื้นที่ให้เป็น 2 สี คือ สีแดง และสีส้ม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ ดังนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง มี 18 จังหวัด ได้แก่ รุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต นครราชสีมา นนทบุรี สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น และ พื้นที่ควบคุม จังหวัดสีส้ม 59 จังหวัดที่เหลือ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า โดยจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมีการแบ่งกลุ่มสี แน่นอนว่าไม่มีเคอร์ฟิว ไม่มีการควบคุมคนเพราะจะเกิดผลกระทบ โดยเฉพาะคนรากหญ้า จึงไปพิจารณาพื้นที่ การจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลเห็นชัด ทั้งสถานบันเทิง โรงเรียน การจัดกิจกรรมของสถาบันการศึกษา การออกค่าย กีฬาฟุตบอล การรับประทานอาหาร การเลี้ยงรุ่นในร้านอาหาร ร้านหมูกระทะ คาราโอเกะ การชุมนุมจำนวนมาก งานบวช หลายกิจกรรมจึงทำให้เกิดการเรียนรู้ จนเกิดข้อกำหนดขึ้น ดังนี้

ข้อที่ 1 ห้ามดำเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือเสี่ยงต่อการแพร่ของโรค

1.ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค

2.ห้ามจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่กักกันโรค เช่น รพ.สนาม เป็นต้น

ข้อที่ 2 ปิดสถานบริการ หรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ให้ความเห็นชอบปิดเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 14 วัน เช่น สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด

ข้อที่ 3 กำหนดพื้นที่สถานการณ์ กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อบังคับใช้มาตรการควบคุมบูรณาการ จำแนกตามพื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดง) และพื้นที่ควบคุม(สีส้ม)

ข้อที่ 4 มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดมาตรการควบคุมที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับสถานที่กิจการ หรือกิจกรรมเป็นระเวลาอย่างน้อย 14 วัน ดังนี้

- พื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดง กำหนดดังนี้

ก. ร้านอาหารร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟต่างๆ เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. สำหรับนั่งรับประทานในร้าน แต่หากซื้อกลับไปที่บ้านสามารถทำได้ถึง 23.00 น.

ข. ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารเด็ดขาด

ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการตามเวลาปกติจนถึงเวลา 21.00 น. และยกเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และตู้เกม เครื่องเล่นต้องงดบริการ

ง.ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดการคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดได้ตามเวลาปกติ แต่ไม่เกิน 23.00 น. สำหรับร้าน หรือสถานที่ ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านสถานที่ใดที่เปิด 24 ชั่วโมง ขอให้เปิดตั้งแต่เวลา 04.00 น.- 23.00 น. (ตี 4- 5ทุ่ม)

จ. สนามกีฬา หรือฟิตเนส ยิมต่างๆ เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม

- พื้นที่ควบคุมสีส้มนั้น กำหนดดังนี้

ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้บริกาจำหน่ายในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น.

ข. การจำหน่ายสุรา ห้ามบริโภคในร้าน

ค.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. ส่วนร้านสะดวกซื้อ สนามกีฬาไม่มีกำหนด

ข้อ 5 การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง รัฐบาลขอความรร่วมมือให้ประชาชนงด หรือชะลอการเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางหรือเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ข้อ 6 การจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ ขอความร่วมมือให้ประชาชนเลื่อนหรืองดการจัดกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยงหรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้

ข้อ 7 การดำเนินรูปแบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม คือ Work from Home โดยภาครัฐขอให้ดำเนินการเต็มรูปแบบ ทั้งปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทำงาน ซึ่งจะลดการเคลื่อนย้าย เป็นมาตรการแทนการเคอร์ฟิว และขอความร่วมมือผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาและให้ความร่วมมือด้วย เมื่อไม่มีเคอร์ฟิวก็ต้องปฏิบัติแบบนี้

ข้อ 8 มาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคโควิด ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด กระทรวงมหาดไทยและศูนย์ปฏิบิติการแก้ไขสถานการณุฉุกเฉินด้านความมั่นคง เร่งดำเนินการจัดหารสถานที่ เพื่อใช้เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกัก กักกันตัว โดยกักกันตัวเป็นกลุ่มยังไม่ติดเชื้อ และแยกกักคือ คนติดเชื้อ โดยขอความร่วมมือสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม หรือสถานที่เหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ ที่สำคัญผู้ติดเชื้อต้องได้รับการตรวจรักษาและแยกกักในสถานที่และตามระยะเวลา จนกว่าจะได้ตรวจทางการแพทย์แล้วว่า พ้นระยะติดต่อของโรค หรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค

ข้อ 9 การประเมินสถานการณ์ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมินสถานการณ์ 2 สัปดาห์ว่าเหมาะสมหรือไม่ จากนั้นนำเสนอต่อ ผอ.ศบค. พิจารณาหรือเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งหากทุกคนร่วมมือกัน 2 สัปดาห์เราผ่านวิกฤตก็จะปรับผ่อนคลายมาตรการได้ ยกเว้นว่า ช่วงเวลา 2 สัปดาห์หากเกิดอะไรขึ้นอีก ทางผู้ว่าฯ ก้สามารถพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ได้ เพื่อความรวดเร็ว

“2 สัปดาห์จะประเมินภาพใหญ่ของประเทศ แต่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ผู้ว่าฯ สามารถประเมินสถานการณ์และมีข้อสั่งการได้ให้สอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด โดยมีผลดำเนินการ 18 เม.ย.2564 เป็นต้นไป สรุปคือ เมื่อไม่มีเคอร์ฟิว คือ ท่านเดินทางได้ เพียงแต่ต้องระวัง และเมื่อร้านค้าปิด ท่านก็ไม่ต้องไป อย่างการเคลื่อนย้าย เมื่อรู้ว่าพื้นที่ไหนเสี่ยงก็อย่าไป อยู่นิ่งๆก่อน ซึ่งตรงนี้ขอความร่วมมือ เพื่อไม่ต้องใช้มาตรการเคอร์ฟิว” โฆษกศบค.กล่าว และว่า ระหว่างนี้ 2 สัปดาห์ตนจะมาสื่อสารกับประชาชน ทุกวันตั้งแต่เวลา 11.30 น.