ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพแก้ปัญหาตรวจโควิดแล็บเอกชนไร้ประสานหาเตียง! จากนี้ไม่มีอีก เตรียมประชุมคอนเฟอเรนซ์กำชับคลินิกต้องไม่ทิ้ง หากไม่ดำเนินการผิดกฎหมาย ขณะที่รพ.เอกชนร่วมด้วยช่วยกันขยายเตียงเพิ่ม!

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ 19 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงกรณีปัญหาการตรวจหาโควิดในคลินิกหรือในแล็บเอกชน เมื่อพบเชื้อแต่ไม่สามารถประสานหาเตียงได้นั้น ว่า กรณีการตรวจผลแล็บต่างๆ เมื่อได้ผลบวกกลับให้ไปหาเตียง หารพ.เองนั้น ขณะนี้เราได้ออกประกาศโดยระบุให้คลินิกแล็บที่ตรวจ ต้องจัดหาต้องให้คำแนะนำในการส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลเพื่อรักษาทันที หากต่อไปท่านไปตรวจแล้วไม่ได้รับการดำเนินการดังกล่าว ถือว่าคลินิกหรือแล็บแห่งนั้นทำผิดกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุย และล่าสุดในวันพรุ่งนี้(20 เม.ย.) จะมีการประชุมคอนเฟอเรนซ์กับคลินิกต่างๆ เพื่อวางระบบแนวทางต่างๆ และคลินิกที่จะตรวจเชื้อต่อไปจะต้องมีการทำ MOU กับสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่จะส่งต่อผู้ป่วย

“ที่ผ่านมาเราได้ลงโทษคลินิกกลุ่มหนึ่งที่มีการโฆษณาอวดอ้างการตรวจแล็บ และมี 2-3 แล็บที่ตรวจคนไข้แล้วไม่มีการประสานสถานพยาบาลให้ผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยเดินทางไปเอง โดยได้ลงโทษสั่งการหากมีความผิดซ้ำจะเพิกถอน หรือพักใช้ใบอนุญาตการตรวจโควิดทันที ก็คาดว่าจะทำให้สถานการณ์เรื่องนี้ดีขึ้น” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาแล้วว่า หากรพ.เอกชนจะมีการขยายเตียงนั้นจะมีการอนุมัติแบบฟาสแทร็ก (fast-track) โดยอธิบดีกรมฯ ซึ่งจะคล่องขึ้นสำหรับรพ.ที่มีพื้นที่อยู่แล้ว อีกทั้ง ในเรื่องสถานกักตัว ASQ ดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยโรงแรมทำสัญญากับรพ.เอกชน ซึ่งมีระบบป้องกันตามมาตรฐานนั้น ที่ผ่านมาขึ้นทะเบียน 100 กว่าแห่งประมาณ 10,000 เตียง จึงคิดว่า หากจะเอา ASQ มาปรับตัวเป็นรพ.ชั่วคราวที่เรียกว่า ฮอสพิเทล ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับการทำ รพ.สนาม โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้ ได้ออกแนวทางและรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2564 จนบัดนี้ 11 วัน ขณะนี้มีรพ.ร่วมกับโรงแรมที่สมัครและผ่านการรับรองแล้ว 34 แห่ง เป็นจำนวนเตียงที่ขออนุมัติภาพรวม 7,200 กว่าเตียง แต่เปิดใช้จริงประมาณ 4 พันเตียง เนื่องจากช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีได้มีการซ่อมแซม ทำความสะอาด ปรับระบบต่างๆ ขณะนี้มีผู้ป่วยมาใช้บริการแล้วกว่า 2 พันราย ซึ่งเป็นกลุ่มสีเขียว แต่ก็เป็นข้อดี เพราะตรงนี้จะช่วยให้รพ.รับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการซับซ้อน

ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า สำหรับรพ.เอกชนในภาวะวิกฤต เรามีมาตรการแจ้งแก่สมาชิก คือ 1. การเปิดฮอสพิเทล 2. ให้ขยายจำนวนเตียงที่อยู่ในรพ. เพื่อรองรับคนไข้ สีเหลือง และสีแดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากท่านนพ.ธเรศ อธิบดีสบส.ไปตรวจให้ อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ที่ผ่านมา รพ.เอกชนมีคนไข้ค้างอยู่ประมาณ 250-300 คน แต่ข้อมูลพบมีผลบวกทุกวัน และระยะเวลากักกันตัวจะใช้เวลา 14 วัน จึงจำเป็นต้องหาเตียงเพิ่มขึ้น อย่างคนไข้สีเขียวก็ต้องไปอยู่ฮอสพิเทลเป็นส่วนใหญ่

“ในรพ.มีการหารือกันว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาโควิดลงปอดรวดเร็วมาก จึงต้องนำผู้ป่วยกลับมาดูแลอีก ทำให้โกลาหลช่วงนี้นิดหนึ่ง เพราะเอาคนไข้สีเขียวออกไปอยู่ในฮอสพิเทล แต่ก็ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการประสานกับโรงแรมในการส่งต่อว่า รวดเร็วแค่ไหน แต่ทุกที่ก็ช่วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกรพ. มีการเตรียมเตียงสำหรับสีเหลืองสีแดง อย่างในเครือก็เพิ่มจำนวน 665 เตียงสำหรับมีอาการลงปอด ซึ่งเป็นการขยายภายใน จากเดิม 300 เตียง โดยเมื่อรักษาดีแล้ว อาการดีก็จะส่งออกเป็นผู้ป่วยสีเขียว เพื่อให้คนไข้หนักเข้าต่อได้” นพ.เฉลิม กล่าว

นายกสมาคมฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังได้จัดคอนเซ็ปต์ วางไว้คร่าวๆ คือ ใครตรวจเจอโควิด19 กลุ่มนั้นต้องขยายโรงแรมฮอสพิเทลมารองรับ เช่น ตรวจที่รพ.เอกชน A ก็ควรขยายและดึงคนไข้กลับ ไม่ปล่อยให้คนไข้เดือดร้อน เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องเรียนตรงนี้เยอะมาก ยืนยันว่าเรายินดีให้ความร่วมมือ และทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้นต้องช่วยกันต่อไปเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : แบ่งระดับสีผู้ป่วยโควิด19 “เขียว-เหลือง-แดง” เพื่อบริหารดูแลอย่างเป็นระบบ)

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ร่วมทุกหน่วยแก้สารพัดปัญหาช่วยผู้ป่วยโควิด19)

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดปัญหาคนไข้โควิดปฏิเสธ รพ.สนาม ขณะที่หากสถานการณ์รุนแรงมากเตรียมตั้งไอซียูสนาม)