ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เชี่ยวชาญเผยสอบสวนอาการไม่พึงประสงค์บุคลากรสาธารณสุข 6 ราย หลังรับวัคซีนซิโนแวค คาดเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด เหตุส่วนใหญ่เกิดภายใน 5-10 นาที ชี้เป็นกลุ่มอาการคล้ายโรคทางระบบประสาท แต่เป็นชั่วคราว ย้ำประโยชน์วัคซีนยังมากกว่า ไม่ต้องหยุดฉีด เพราะฉีดไปกว่า 3 แสนรายไม่พบผู้มีอาการคล้ายกลุ่มนี้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 เม.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการแถลงข่าว “อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19” โดย นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่จังหวัดระยอง จำนวน 6 รายนั้น จากกรณีดังกล่าวคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการรับวัคซีน ได้มีการทบทวนจากข้อมูลที่เกิดขึ้น รวมทั้งนำข้อมูลจากการสอบสวนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ทั้ง 6 ราย โดยวันนี้(21 เม.ย.) มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.ระยอง มีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 6 ราย โดยได้รับวัคซีน CORONAVAC ของซิโนแวค เลขที่ผลิต Lot No. J202103001 m6dik เป็นล็อตเดียวกัน โดยอาการทั้งหมด มีอาการภายหลังรับวัคซีนประมาณ 5-30 นาที ส่วนใหญ่มีค่ากลางประมาณ 50 นาที เหตุทั้งหมดเกิดวันที่ 5 เม.ย. 1 ราย วันที่ 6 เม.ย. 1 ราย วันที่ 8 เม.ย. 2 ราย และวันที่ 9 เม.ย. จำนวน 2 ราย อาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับโรคทางสมอง พบอาการชาครึ่งซีก บางรายอ่อนแรงแขนขา มี 1 รายมีอาการชาแต่ไม่มีอาการอ่อนแรง ทั้งหมดเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานทางการแพทย์ โดยมี 1 รายมีโรคประจำตัว คือ มะเร็ง ส่วนอีก 1รายมีไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน และมีประวัติกินยาคุมกำเนิด 4 ราย

“การฉีดวัคซีนซิโนแวคฉีดไป 6 แสนราย โดยได้เฝ้าระวังติดตามอาการทุกราย ทั้งอาการน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ซึ่งหากอาการผิดปกติรุนแรง ทุกรายจะได้รับการสอบสวนและนำเข้าสู่คณะกรรมการวินิจฉัยพิจารณาต่อไป” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้ง 6 รายมีอาการทางระบบประสาทมากน้อยแตกต่างกัน โดยทั้งหมดเป็นอาการชั่วคราว หายภายใน 1-3 วัน และบางรายอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง (สโตรก) ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เพราะจากการสืบสวนโรค ทั้ง MRI สแกนก็พบว่าปกติ จึงบอกได้แค่ว่า กลุ่มอาการคล้ายสโตรก และเกิดชั่วคราว โดยส่วนใหญ่เกิดในสตรีที่อายุไม่มาก และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคสโตรกมาก่อน ส่วนใหญ่อาการจะปนๆกัน ทั้งง่วง ทั้งชา ทั้งอ่อนแรง ไม่ชัดเจนในบางราย

“รวมๆกันอาการไม่พึงประสงค์ตรงนี้ จึงเรียกว่า เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท บางรายคล้ายสโตรก และคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะเกิดภายใน 5-10 นาทีเป็นส่วนใหญ่ มีบางรายเกิดช้าหน่อย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้จำเป็นต้องเฝ้าติดตามต่อไป โดยสิ่งที่คณะกรรมการทำอันดับแรก คือ การตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในล็อตดังกล่าวก็ไม่พบความผิดปกติ ซึ่งวัคซีนล็อตนี้ไม่ได้ใช้แค่จังหวัดเดียว แต่ใช้ทั่วประเทศ แจกไปแล้วประมาณ 5 แสนโดส มีผู้รับไปแล้วมากกว่า 3 แสนราย ยังไม่เจอปัญหาเหมือนกันในที่อื่น แต่เราก็ต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม อาการของทุกคนเป็นชั่วคราว และกลับมาเป็นปกติ” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า คณะกรรมการลงความเห็นว่า สามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เพราะประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่า อาการข้างเคียงที่เป็นชั่วคราว ส่วนอัตราการเกิดก็ไม่ชัดเจน เพราะฉีดไปหลายแสนโดสแล้ว แต่เจอกลุ่มนี้ ยังไม่เจอกลุ่มอื่น และจากการใช้วัคซีนนี้ในประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่มีรายงานลักษณะนี้

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับคำถามว่ากลุ่มบุคลากร 6 รายสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถฉีดได้ในยี่ห้อเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้รับวัคซีนด้วย โดยตามระบบการรายงานผลข้างเคียงหลังการรับวัคซีน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะต้องรายงานไปยังผู้ผลิตเพื่อเป็นข้อมูล ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการรายงานที่ต่างกันไป วัคซีนซิโนแวคที่ฉีดแล้วมีอาการเช่นนี้ก็อาจพบในประเทศอื่นได้เช่นกัน อย่างเช่นข้อมูลในวารสารทางการแพทย์ ที่มีรายงานอาการชักกระตุกหลังรับวัคซีน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องรายงานไป เพื่อให้เกิดเป็นคำแนะนำในการใช้วัคซีนต่อไป 

พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ทุกเคสมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา บางรายมีอาการชาครึ่งซีก โดยทั้ง 6 ราย เป็นทันที หรือหลังจากฉีดวัคซีนไม่นาน ซึ่งทางแพทย์ที่รพ.ระยอง ได้มีการตรวจวินิจฉัยพบว่า มีอาการจริง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยวบางราย ทั้งนี้ ทุกเคสได้รับการรักษาและวินิจฉัยตามมาตรฐาน ด้วยการส่งตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทางสมอง ซึ่งไม่พบความผิดปกติ โดยได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และในเคสสงสัยโรคหลอดเลือดสมองได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดไป ซึ่งทุกรายอาการกลับมาเป็นปกติ มีเคสรายที่ช้าที่สุดประมาณ 3 วัน

พญ. ทัศนีย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มีการตรวจวินิจฉัยเอ็กซเรย์ MRI เพิ่มเติมไม่พบความผิดปกติในสมอง ไม่พบเนื้อสมองตาย หรือไม่พบความตีบหรืออุดตัน ดังนั้น ทั้ง 6 รายเป็นอาการคล้ายกลุ่มอาการหลอดเลือดสมอง คิดว่าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เพราะมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนอาจมีระบบทางกลุ่มประสาทที่เกี่ยวข้องได้ แต่ไม่บ่อย และเป็นเพียงชั่วคราว จะดีขึ้นกลับมาเป็นปกติ จึงขอให้ทุกท่านอย่าตื่นตระหนก คล้ายๆการฉีดวัคซีนที่มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งเป็นอาการชั่วคราว รวมทั้งในส่วนอาการทางระบบประสาทที่พบบ่อย อย่างอ่อนเพลีย ง่วงนอนก็พบได้บ่อยกว่า และเป็นชั่วคราวเช่นกัน ดังนั้น กรณีระยองเบื้องต้นคิดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด แต่รายละเอียดเชิงลึกต้องติดตามต่อไป

เมื่อถามกรณีว่า สมองไม่ผิดปกติแล้วทำไมต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า กรณีอาการเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ตามมาตรฐานจะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5ชั่วโมง เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการ เป็นการรักษาฉุกเฉิน แล้วมาพิจารณาสาเหตุภายหลัง หากมาตรวจพบทีหลังว่าไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมองก็ไม่เป็นไร และการรักษาไปก่อนนั้นไม่ได้อันตรายเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาต้องช่วยชีวิตคนไข้ เพราะจำกัดด้วยเวลา

นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อฉีดวัคซีนโควิดแล้วและพบว่ามีอาการเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ขอให้แพทย์ที่พบรักษาตามกลุ่มอาการทันที และขอให้แพทย์รายงานเข้ามาที่กองระบาด ไม่ว่าอาการชา อ่อนแรง หรือลักษณะใดก็ตาม เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาทำการสอบสวนโรคต่อไป