ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์เชี่ยวชาญประชุมคอนเฟอเรนซ์บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศแนะแนวทางรับมืออาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิด เป็นสโตรก หรือ ISRR พร้อมย้ำอย่าแชร์โซเชียลฯไร้ตรวจสอบ ยิ่งกระตุ้นเกิด ISRR ได้ ขอให้รีบแจ้งเข้าระบบ ปรึกษาแพทย์หาวิธีร่วมกัน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุมคอนเฟอเรนซ์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเกี่ยวกับแนวทางการรับมืออาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาท ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้เรื่องนี้

ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้บัญญัติศัพท์ Immunization Stress Related Response หรือ ISRR เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีน ซึ่งคำศัพท์นี้ทำไว้ตั้งนานแล้ว ก่อนจะมีการระบาดโควิดเสียอีก อย่างของประเทศไทยกรณีการฉีดวัคซีนเอชพีวีในเด็กนั้น ซึ่งมีคนที่เกิดความเครียดมาก ไม่ใช่แค่ไทย ในต่างประเทศก็พบมาก อาการพวกนี้ไม่ได้แกล้งทำ โดยองค์การอนามัยโลกได้นิยามคำนี้คือมา ซึ่งมีหลายประเภท ทั้งก่อนปักเข็มก็เริ่มมีอาการ เป็นลมก็มี หรือหลังการฉีดก็มี

“การสังเกตอาการ ISRR มักเจอเป็นกลุ่มก้อน เหมือนอย่างกรณีจ.ระยอง หรือแม้แต่ในกรณีข่าวที่จ.ลำปาง จำเป็นต้องสืบสวนให้ชัดเจนว่า เกิดจากอะไร ซึ่งการสืบสวนในคลัสเตอร์ ISRR จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่อยากให้ไปพลาดว่า จริงๆ เพราะวัคซีน หรือเป็นเพราะ ISRR อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะมีแนวทางปฏิบัติร่วมกับการพิจารณา ISRR ทั้งต้องมีอากาศถ่ายเทดี ไม่ร้อนอบอ้าว การจัดระบบรองรับให้ดี ไม่ต้องรอนาน ลดความแออัด ผู้รับบริการต้องมีความพร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้ ส่วนคนที่กลัวเข็มมาก แนะนำให้ฉีดท่านอน และแนะนำให้พูดคุยกันเพื่อคลายความกังวลใจ เป็นต้น ซึ่งจะมีการส่งแนวทางดังกล่าวให้บุคลากรที่ให้บริการต่อไป” ศ.พญ. กุลกัญญา กล่าว

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า ปกติอาการ ISRR เกิดเร็วครึ่งชั่วโมง แต่จะคงอาการนานแค่ไหนก็มีตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ไปจนถึง 2 วันก็มี แต่ก็ต้องพิจารณาหลายๆอย่างร่วมกัน อย่างไรก็ตาม หากเจออาการที่เกี่ยวข้องต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที และต้องสื่อสารให้ผู้รับบริการผ่อนคลาย เพราะเมื่อมี ISRR ร่วมด้วยจะเป็นอาการทันทีทันใด และจะเกิดชั่วคราว ทั้งนี้ ขอย้ำว่า เมื่อพบอาการคล้ายเช่นนี้ต้องตรวจวินิจฉัยให้ดีว่า เป็นอาการป่วยจริง หรือ ISRR ส่วนว่าควรรับวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 หรือไม่ ขอให้พิจารณาเป็นรายๆ ไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขออย่าเพิ่งลงสื่อโซเชียลฯมากนัก เพราะเมื่อไม่ได้ตรวจสอบ จะกระจายไปเร็ว และอาจได้รับผลกระทบได้

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปฏิกิริยาหลังรับวัคซีนนั้น โดยปกติจะให้สังเกตอาการภายใน 1 เดือน และภายในเวลาดังกล่าวหากมีอาการผิดปกติต้องมีรายงานเข้าสู่ระบบ ซึ่งอาการอาจเกี่ยวข้องกับวัคซีน หรือไม่เกี่ยว ส่วนอาการที่เกิดขึ้น อาจเป็นไปได้ทั้งผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับวัคซีน หรือคุณภาพของวัคซีน หรืออาจเกิดจากความผิดพลาดของการเตรียมการของวัคซีน หรืออาการไม่ถึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับ Immunization Stress Related Response หรือ ISRR รวมทั้งอาจมาจากเหตุการณ์ร่วมกับการฉีดวัคซีน เช่น รับวัคซีนไปแต่เกิดไปติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนก็จะต้องแยกมาลงประเด็นเหล่านี้

ทั้งนี้ สำหรับอาการที่เกี่ยวเนื่องกับ ISRR จะเป็นลักษณะเมื่อเรามีความกังวล อย่างสภาวะทางจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจส่งผลต่อร่างกายได้ ซึ่งอาการจะเป็นชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติ โดยเมื่อมีภาวะเหล่านี้ก็อาจทำให้ใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถเกิดได้ก่อนรับวัคซีน และหลังรับวัคซีนอาการเหล่านี้จะเกิดเร็วภายใน 5 นาที แต่หลังจากนั้นหากความกังวลยังมีอยู่ อาการก็อาจเกิดต่อเนื่องเป็นวันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ISRR จะสังเกตได้ทั้งสภาวะร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับอายุ เพศ น้ำหนัก

“ปัจจัยเหล่านี้เสริมให้บุคคลเหล่านี้เกิดปฎิกิริยา ISRR ได้ เช่น เพศหญิง อายุน้อย จึงมักเจอเหตุการณ์เหล่านี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากแบ็คกราวน์ทางด้านจิตใจ คือ มีความกังวลอยู่แล้ว หรือมีประสบการณ์การรับวัคซีนจนทำให้มีความกังวลเกิดขึ้น ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดีย ปัจจุบันมีผลเยอะมาก เพราะอินเทอร์เน็ต ข่าวลือ ข่าวปลอมจะยิ่งกระตุ้นไปเร้าให้เกิดความกังวลเหล่านี้ได้ ซึ่งเมื่อมีความกังวลเหล่านี้ ก็จะส่งผลต่อร่างกาย ไม่ได้แกล้งกัน แต่เป็นความผิดปกติจริงๆ” พญ.จุไร กล่าว

ด้าน พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการสังเกตนั้น เราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสงสัยว่าเป็น ISRR กับกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรกจริงๆ เพราะไม่เช่นนั้นอาจสับสนได้ อย่างกลุ่ม ISRR จะเป็นค่อนข้างเร็ว อาจเป็นภายใน 15 นาทีหลังจากฉีด และอาการไม่มาก อาจอ่อนแรง หรือมีอาการปวดๆ เสียวๆ ชาๆ อาจเป็นบริเวณแขนที่ฉีดมาปลายมือ หรือจากแขนที่ฉีดมาที่ปลายเท้า หรือลามจากข้างซ้ายที่ฉีดไปข้างขวา บางรายมีอาการชารอบปาก พูดไม่ชัก เกร็งกระตุก การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผิดปกติ แต่สิ่งที่เจอบ่อยคือ ง่วง และอ่อนเพลีย ส่วนกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง อาจต้องแยกว่า เป็นหรือไม่ อย่างกลุ่มที่สงสัย คืออาจมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก และค่อนข้างมาก ไม่สามารถยกต้านแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ซึ่งก็ต้องมีการวินิจฉัยเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม คนที่เป็น ISRR ให้สังเกตอาการ อาจไม่ต้องแอดมิททุกราย ส่วนใหญ่กลับบ้านได้ โดยให้ติดตามในสถานพยาบาลหลังฉีดวัคซีน ครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หากอาการไม่รุนแรงให้ต่อเข็มที่ 2 ได้ แต่อยู่ที่ความต้องการของคนไข้ ทั้งนี้ หากเป็นโรคสโตรกจริง ต้องรักษาตามแนวทางการรักษา และอาจต้องพิจารณาการเลื่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป

ขณะที่ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีอาการทางระบบประสาทจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญแพทย์หรือบุคลากรต้องให้ข้อมูลว่า การฉีดวัคซีนไม่ใช่วัคซีนโควิดย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างอาการ ISRR จะพบได้ตั้งแต่น้อยมากๆ คือ อาการชาบริเวณปาก ซึ่งมักเป็นข้างที่ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ฉีดข้างซ้าย ซึ่งอาการจะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากอาการนานเกิดไปกว่านั้น และมีอาการทางระบบประสาท มีอาการอ่อนแรงกล้ามเนื้อ หรือลานสายตาผิดปกติ การสื่อสารฟังไม่เข้าใจ ก็ต้องพิจารณาว่า มีกรณีโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ และจำเป็นต้องให้ยารักษาก่อนหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญต้องปรึกษาแพทย์ และรายงานอาการไม่พึงประสงค์เข้าระบบทันที

“ขอฝากกรณีการแชร์ข้อมูล ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลที่อาจมีการเสริมเติมแต่ง มีข้อมูลไม่เป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดอาการ ISRR ได้ เพราะการรับข้อมูลเหล่านี้ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด ISRR ขออย่าแชร์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ให้รีบแจ้งในระบบดีกว่า เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที” นพ.เมธา กล่าว

พญ.ภาวินี ด้วงเงิน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กล่าวถึงการรายงานอาการไม่พึงประสงค์รับการรับวัคซีน ว่า เมื่อมีการติดตามอาการประชาชนผู้รับวัคซีนโควิด 30 นาที หากพบอาการไม่พึงประสงค์ ขอให้ทางรพ.รายงานข้อมูลเข้าสู่ระบบ ส่วนหากกรณีผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ ก็จะให้ประชาชนรายงานข้อมูลมาทางไลน์ “หมอพร้อม” รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะมีการติดตามภายหลังการฉีดวัคซีนด้วย

ทั้งนี้ สามารถติดตามการประชุมคอนเฟอเรนซ์อย่างละเอียดได้ทางเฟซบุ๊กระทรวงสาธารณสุข