ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญแนวทางให้ยาผู้ป่วยโควิด19 ปรับเกณฑ์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เร็วขึ้นกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม ย้ำไม่ให้ทุกคน ไม่หว่านแห เหตุส่งผลต่อเชื้อดื้อยา และอาจมีผลข้างเคียง หนำซ้ำปัจจุบันยังมียารักษาโควิดตัวเดียว ส่วนยาอื่นๆยังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ว่า จากกระแสข่าวการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ที่อาจทำให้เกิดความสับสนได้นั้น ล่าสุดได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด19 จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ทั้งจากโรคติดเชื้อ โรคปอด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรณีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่ไม่มีอาการ และไม่มีโรคร่วมจะไม่มีการให้ยารักษาเฉพาะ

2.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน และมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยง จากเดิมจะยังไม่ให้ยา เป็นการรักษาตามอาการ แต่แนวทางใหม่เมื่อมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยง อย่างระลอกนี้ คนมีภาวะอ้วนเสียชีวิตมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้รวบรวมข้อมูล จึงระบุให้รักษา โดยการให้ยาต้านไวรัสตามดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษา

3.กรณีผู้ติดเชื้อยืนยัน ที่มีอาการเล็กน้อยและมีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย นอกเหนือจากการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว การให้ยาสเตียรอยด์ในรายที่มีอาการรุนแรงสามารถลดอาการรุนแรงที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งก็ทำได้

4.ผู้ติดเชื้อยืนยืน ปอดอักเสบ ความเข้มข้นออกซิเจนในเลือดที่อุณหภูมิห้องน้อยกว่า 96% หรือปอดอักเสบรุนแรง จะยังใช้แนวทางเดิม

“เกณฑ์การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะให้เร็วขึ้น แต่ไม่ได้ให้ทุกคน และไม่ให้แบบหว่านแห เพราะการกินยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง ทานไปหลายคนมีปัญหาตับอับเสบได้ และการหว่านแหจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ เพราะตอนนี้เท่าที่ดูยังไม่มีหลักฐานยืนยัน มีต่างประเทศที่ยังอยู่ในการวิจัยสเตจ 2 และ 3 ซึ่งเป็นยาตัวอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องเก็บยาตัวนี้เพื่อเป็นอาวุธในการใช้ จึงไม่อยากทำแบบหว่านแห ที่สำคัญเรายังพบว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม ซึ่งมีประมาณ 30-40% เราพบว่า 80-90% กลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือสีแดง โดยไม่จำเป็นต้องกินยาเลย หากให้ยาไปจะเป็นการเปล่าประโยชน์ ทั้งหมดนี้มาจากการพิจารณาร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั้งแพทย์โรงเรียนแพทย์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อฯ” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ส่วนภาวะโรคร่วมหรือปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง ประกอบด้วย อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกันเรื้อรัง ร่วมโรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ มีการกระจายไป 2 ล้านเม็ดทั่วประเทศ ส่วนอีก 3 ล้านเม็ดจะเข้ามาอีกประมาณกลาง พ.ค.นี้ อัตราการใช้ปัจจุบันประมาณวันละ 5 หมื่นเม็ด โดยจำนวน 5 ล้านเม็ดทั้งหมดจะใช้ได้ประมาณ 3 เดือนกว่า ทั้งนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการองค์การเภสัชกรรมให้มีสต๊อกประมาณ 2 ล้านเม็ด ซึ่งจะมีการเติมตลอด ขณะนี้มีการกระจายไปทุกจังหวัดแล้ว โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขจะปรึกษาในเขตสุขภาพและกระจายไปทุกจังหวัด เพื่อให้การเบิกจ่ายยาเป็นไปด้วยความสะดวก

ส่วนพื้นที่กรุงเพทฯ มีการกระจายยาไปที่รพ.เอกชน ที่เป็นเครือข่ายใหญ่ๆ ส่วนรพ.เล็กๆ มีประมาณ 20 แห่งที่ไม่มีเครือข่ายได้มีการนำยาไปสำรอง และค่อยใช้วิธีเบิกทดแทนเอา ขณะที่โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลของกทม. หรือกลาโหม ตำรวจได้มีการสำรองเช่นกัน และยังมีการนำยาไปไว้ที่ฮอสพิเทล และโรงพยาบาลสนามด้วย เพราะแม้อาการไม่มาก แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงก็จะให้ยา นี่คือ กระบวนการที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลนั้น มีคนถามว่าสรุปให้กลับบ้านได้ระยะเวลาเท่าไหร่ โดยหลักการอยากให้เป็น 14 วัน แต่หากพื้นที่ไหนมีปัญหาการบริหารจัดการเตียง ก็สามารถจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลได้ตั้งแต่วันที่ 10 หรือ 10 วันเป็นต้นไป และกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน ให้ปฏิบัติดังนี้

1.ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการให้พักในรพ.หรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในจังหวัดที่มีปัญหาการบริหารเตียงอาจให้อยู่ รพ. 10 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 4 วัน จนครบ 14 วันจับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ

2.ผู้ป่วยที่อาการน้อยให้พักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ เมื่อครบหากยังมีอาการให้อยู่ในรพ.ต่อ หรือในสถานที่รัฐจัดให้จนไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24 หรือ 48 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้น โดยในจังหวัดที่มีปัญหาการบริหารเตียงอาจให้อยู่ รพ. 10 วัน หากอาการดีขึ้นเป็นปกติแล้วกลับไปกักตัวต่อที่บ้าน จนครบ 14 วัน นับจากวันที่มีอาการ