ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ยังคงเป็นทางเดียงที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับประเทศไทยนอกจากการฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มด่านหน้าอาทิตำรวจ ทหาร ตามแนวชายแดน ผู้เสี่ยงสัมผัสกับโรคโควิด หรือผู้ทำงานใน Hospital ต่างๆ แล้ว ยังมีการฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ในการรณรงค์ ทำความเข้าใจ การจัดการกับข่าวลือ ความเข้าใจผิด ให้ประชาชนในพื้นที่เห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน และการบริหารจัดการเพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว เพิ่มจำนวนผู้ได้รับวัคซีนให้มากขึ้นโดยเร็วที่สุพื่อควบคุการระบาด วิธีการกระจายวัคซีนซึ่งในบางภวะ เช่นการแพร่ระบาดที่ขยายมากขึ้น อาจต้องยืดหยุ่นแนวทางที่ได้รับนโยบายเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ

ประสบการณ์จาก 3 โรงพยาบาลในการฉีดวัคซีนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนในเวทีการเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ถอดบทเรียนการฉีดวัคซีน COVID-19” ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus สำนักข่าว The Reporter ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ(The Active) และ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา น่าสนใจอย่างยิ่ง

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ซี่งเคยเป็นคลัสเตอร์การระบาดใหญ่ที่เริ่มมาจากแรงงานต่างด้าวในตลาดกุ้ง กล่าวว่า การระบาดรอบ 3 ช่วงเดือน เม.ย. แผนที่จะได้ 1 แสนโดส แต่ได้มาเพียง 7,840 โดส ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นให้คนมาฉีดวัคซีนพอสมควรเนื่องจาก มีการกระตุ้นโดยการรณรงค์กันอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้

“พอ Supply มา 7,000 กว่าจาก 1 แสน กระทบจริงๆ ทำให้การบริหารจัดการในจังหวัด ความเชื่อมั่นในการระดมคนมาฉีดก็ยากขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เรายังได้แอสตร้าเซเนก้าสำหรับฉีดให้กับผู้สูงอายุมาอีก 3 หมื่นโดส การดำเนินงานที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายที่ต้องฉีดเป็นคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 8 แสน ฉีดไปแล้ว 1.6 แสนโดส คิดเป็นประมาณ 1 แสนคน โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 8.8 หมื่นคน ส่วนแอสตร้าเซเนก้าฉีดไปแล้วประมาณ 1.6 หมื่นโดส สรุปแล้วเมื่อเทียบกับประชากรไทยที่อายุมากกว่า 18 ปีมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 12.48 % ในขณะที่มีคนต่างด้าวราวๆ 2-3 แสนคนใน จ.สมุทรสาคร ซี่งแรงงานต่างด้าวทั้งหมดยังไม่ได้รับวัคซีน ต้องดูว่านโยบายจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าไวรัสคงไม่รู้ว่าคนนี้เป็นคนไทยคนนี้เป็นคนพม่า" ผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร ชี้แจงข้อมูลดำเนินงาน

นพ.อนุกูลกล่าวว่า ผลการติดตามการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พบว่าในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ที่ไม่มาฉีด 2,675 คน ติดตามกลับมาฉีดได้ 86 % น่าจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจ เนื่องจากเลยวันนัดแล้วไม่กล้ามา แต่ระยะหลังปัญหานี้ลดลง ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ จ.สมุทรสาคร ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 93.99 % ทำให้บุคลากรมีความเชื่อมั่นในการทำงานมากขึ้น ต้องขอบคุณทีมที่จัดสรรวัคซีน สธ. ทำให้ Care Worker มีกำลังใจ การทำงานที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินดังกล่าว ผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร วิเคราะห์ว่า ผลการฉีดวัคซีนยังไม่สามารถสรุปได้เพราะขณะนี้ฉีดให้กับประชากรในจังหวัดเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

"จะเห็นได้ว่าระลอกที่ 3 นี้ แม้เราจะเป็นปริมณฑล มีการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่าง กทม.กับสมุทรสาครตลอดเวลา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นมาไม่มาก ถ้าตัดเฉพาะคลัสเตอร์ 1 เม.ย. ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวันยังนิ่งๆ มีข้อมูลที่ชาวสมุทรสาครอยากให้แสดงตัวเลขมาก เพราะที่ผ่านมาเขารู้สึกไม่สบายใจเวลาที่ ศบค.ประกาศมาตรการต่างๆ ว่าจังหวัดไหนอยู่สีอะไร และตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน พอมาแยกดูจริงๆ เราจะเห็นว่าผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร เป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากนอกจังหวัดประมาณครึ่งหนึ่ง ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนสมุทรสาครรู้สึกถูกบูลลี่ พอรอบนี้เหมือนจะดีขึ้นปรากฏว่าตัวเลขดูไม่ค่อยดีเพราะว่ามีคนจาก กทม.มาขอตรวจที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำยาไม่พอ เตียงไม่มี ปฏิเสธการตรวจบ้าง เลยไหลมาจากจังหวัดข้างเคียง เราอยู่ใกล้ กทม.แหล่งคลัสเตอร์ แต่ยอดติดเชื้อยังไม่มาก" นพ.อนุกูล กล่าว

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาครอธิบายเพิ่มเติมว่า จ.สมุทรสาคร มีจุดฉีดไม่กี่แห่ง จากเดิมมี 1 จุด ฉีดได้ 800 คนต่อวันที่โรงพยาบาล ต่อมาขยายเป็น 4 จุด รองรับได้ 1,900 คนต่อวัน ปัจจุบันมี 5 แห่ง ได้แก่ ห้างแลนด์มาร์ค โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลเกตุมดีฯ โรงพยาบาลนครท่าฉลอม โรงพยาบาลวัดบางปลา และ อบต.ท่าทราย ซึ่งขณะนี้ย้ายจาก อบต.ท่าทราย มาที่ห้างเซ็นทรัลมหาชัย เพราะน้ำท่วมขัง โดยสามารถรองรับได้ 4,000 คนต่อวัน ในวันที่ 17 พ.ค.นี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ 5,000 รายต่อวัน

"สาเหตุที่ทำให้มีคนต้องการฉีดวัคซีนมากพอสมควรเพราะเมื่อมีคนฉีดแล้วไม่เป็นอะไร เป็นการบอกต่อที่สำคัญมาก ช่วงแรกมีคนมาฉีดน้อยมาก กำนันผู้ใหญ่บ้านมาฉีดประมาณ 30 % คราวนี้พอกำนันผู้ใหญ่บ้านฉีดน้อยก็ไปบอกลูกบ้านยาก หลังๆ เลยค่อยเจาะกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฉีดแล้วทำข่าว สร้างความมั่นใจ เพราะความมั่นใจสำคัญมาก เมื่อไหร่ที่มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับวัคซีนความต้องการลดลงทันทีเลย กว่าจะดึงขึ้นมาก็ยากมาก ที่เรากังวลจริงๆ คือในโรงงานที่มีคนต่างด้าวอยู่ ซี่งยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าเชื้อระลอกใหม่เข้าไปในชุมชนต่างด้าวมันจะไปเร็ว มีข้อสังเกตจากทีมรักษาคือคนต่างด้าวที่เป็นโควิดอยู่ในวัยทำงานอาการรุนแรงน้อยมาก แต่คนไทยเวลาติดโควิดแล้วอาการไปเร็ว" ผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร สรุป

จังหวัดชลบุรีก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มจำนวนค่อนข้างมาก พญ.จิรวรรณ อารยะพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่ายึดหลักไม่เก็บไว้ในตู้เย็นได้มาเท่าไหร่ให้เร่งฉีด

“นโยบายของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มองว่าการได้รับวัคซีนมาไม่ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะฉะนั้นได้รับวัคซีนมาเท่าไรให้ฉีดเสร็จภายใน 1 วัน ด้านการมีส่วนร่วมทางจังหวัดได้มีกลยุทธ์ในการขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนฉีดวัคซีนด้วยกัน ให้ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนเสนอว่าต้องการวัคซีนเท่าไร เมื่อเสนอมาเราก็ยินดีให้ แต่ทุกคนต้องฉีดให้ได้ภายใน 1 วัน ทำให้การฉีดวัคซีนใน จ.ชลบุรีทำได้อย่างรวดเร็ว" พญ.จิรวรรณ กล่าว

ประเด็นต่อมาคือ ความตั้งใจของผู้ให้บริการในการจัดบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วงที่ฉีดวัคซีนจำนวนผู้ป่วยในจ.ชลบุรีไม่ได้ลดลง มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง จำนวน 626 เตียง และภาระดูแลจำนวนผู้ป่วยใน รพ.ชลบุรีอีก 200 เตียง

"อย่างที่ทราบคือผู้ป่วยโควิดเป็นปอดบวมมากขึ้น ใส่เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น วัคซีนก็น่าจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี อีกอย่างหนึ่ง จ.ชลบุรีก็เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่ระบาด เมื่อได้วัคซีนมาเราไม่ได้กระจายอย่างเท่าเทียมกันตามจำนวนประชากร แต่จะดูพื้นที่ระบาดในจังหวัดด้วย มี อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.เมือง ระบาดเยอะ จึงกระจายไป 3 อำเภอมากกว่า"

ด้านระบบบริการให้ผู้มาฉีด ผอ.โรงพยาบาลชลบุรีกล่าวว่า จะต้องไม่ได้รับผลข้างเคียง สถานที่เหมาะสม อากาศเย็นสบาย บุคลากรหรือที่เรียกว่า Station มากพอขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่ได้มากี่โดส จัด Station ให้เสร็จภายใน 1 วัน นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการข้อมูลของโรงพยาบาลที่เชื่อมกับ สธ.ให้เห็นได้ทันที

"ส่วนสำคัญที่เราคิดว่าจะทำให้การฉีดวัคซีนได้รวดเร็วคือผู้รับบริการมาฉีดวัคซีน (AEFI) ช่วงแรกอาจจะไม่มีปัญหาเพราะเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์และกระทรวง สธ. มีการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยระบบ Google Form เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชลบุรีมีประมาณ 3,500 กว่าคน ต้องทำโพลก่อนว่าใครจะฉีด แรกๆ ปรากฏว่ามีคนไม่ฉีดถึง 43 % เพราะไม่ฉีดเลยกับรอแอสตร้าเซเนก้า จึงฉีดให้กับคนที่เป็นเป้าหมายก่อน ช่วงหลังพอเราให้สแกน QR Code ลง Google Form คนที่เปลี่ยนใจมาฉีดก็มีมากขึ้น" ผู้อำนวยการ รพ.ชลบุรี ชี้แจง

ในขณะที่ 7กลุ่มโรคเสี่ยง ที่โรงพยาบาลชลบุรี ต้องรับผิดชอบมีประมาณ 9 หมื่นคน โดยต้องจัดสรรเวลาบริหารการบริการให้เหมาะสม ซึ่ง สธ. ให้เวลา 54 วัน แต่ทางจังหวัดก็ท้าทายตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ในเวลา 35 วัน ซึ่งคำนวณแล้วว่าต้องฉีด 2,800 โดสต่อวัน จึงจัดหาสถานที่หอประชุมขนาดใหญ่เป็นของ อบจ.ไว้รองรับ

"วัคซีนเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะหน่วยบริการที่เป็นโรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลศูนย์ที่มีขนาดใหญ่ต้องรองรับผู้ป่วยหนักเข้าสู่โรงพยาบาล ถ้า รพ.ชลบุรี ไม่สามารถฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ข่ายใหญ่ก็จะไม่มีทางรับผู้ป่วยหนักเข้ามาดูแลได้ การฉีดวัคซีนถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคน" พญ.จิรวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ประสบการณ์กรณีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ยอมฉีดวัคซีน ผู้อำนวยการ รพ.ชลบุรี ให้ความเห็นว่า โรคโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ถึงจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์แต่ถ้าไม่ตามข้อมูลตลอดเวลาก็จะตามไม่ทัน

"ถ้าตามเฉพาะสื่อที่ทำให้กลัวก็จะทำให้คล้อยตามไป เราก็จัดกิจกรรมว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจเรื่องวัคซีนมากขึ้น แรกๆ เห็น 43 % ไม่ฉีดเราก็จัดกิจกรรมเลย เอาหมอที่เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อมาพูดให้ฟัง และไลฟ์สด มีคุณหมอที่ตอบคำถามและพูดได้ดี ทำให้คนเปลี่ยนใจ นอกจากนี้ยังมีการประชุม EOC ที่รพ.ชลบุรี เกือบทุกวัน เวลา 8 โมงเช้า เมื่อมีการระบาดเยอะก็ต้องมีการประเมินสถานการณ์ในโรงพยาบาลของเราด้วย คนไม่ฉีดเราวิเคราะห์ถึงว่าเป็นใคร ตำแหน่งอะไร อยู่หน่วยไหน เพื่อส่งคนเข้าไปทำความเข้าใจ ถ้าเป็นแพทย์ก็ไม่เป็นไรเราสื่อสารเรื่อยๆ เขามีศักยภาพที่จะรู้ด้วยตัวเอง ถ้าเป็นพยาบาลเราก็จะจัดกลุ่มให้ได้พูดคุย ส่งทีมพยาบาลที่มีความรู้และติดตามตลอดเวลาเข้าไปพูดคุย แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วว่ากลุ่มนั้นเป็น Back Office เราก็จะมีการสื่อและคุยกันอีกแบบหนึ่ง ล่าสุด มี 61 คนที่ปฏิเสธทั้ง 2 วัคซีน วิเคราะห์แล้วเป็นทั้ง Back Office และกลุ่มที่เป็นพยาบาล เราก็ส่งเรื่องให้หัวหน้าเขาเพื่อประเมินว่ากังวลเรื่องอะไรเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุด" พญ.จิรวรรณ อธิบาย

อีกพื้นที่หนึ่ง นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งถือว่าอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดหรือ "สีแดงเข้ม" บอกเล่าประสบการณ์บริหารจัดการการฉีดวัคซีนหลังจากเป็นจังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับพื้นฐานสูงถึง 1 หมื่นรายต่อวัน ช่วงที่ได้รับวัคซีน 2 แสนโดสสามารถจัดการฉีดได้เสร็จสิ้นภายใน 20 วัน และบางวันให้บริการฉีดวัคซีนได้มากถึง 1.5 หมื่นโดสต่อวัน

"จังหวัดภูเก็ต มีนโยบายขับเคลื่อนภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จึงได้มีการทำ phuketfirstjuly เปิดจังหวัดวันที่ 1 ก.ค. ปรับเป้าหมายเรื่องของกระบวนการต่างๆ เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามา จ.ภูเก็ต โดยนักท่องเที่ยวต้องได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว ซึ่งคนภูเก็ต 70 % เองก็ต้องมีภูมิต้านทานเช่นเดียวกัน นี่คือสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก และต้องฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน มิ.ย. ที่ต้องคุยกันคือกำหนดกลุ่มเป้าหมายกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ คำนวณศักยภาพที่จะต้องให้บริการวัคซีนแต่ละที่ การเตรียมสถานที่ ขั้นตอน ทีมงาน และหากลุ่มเป้าหมายต้องมีการพูดคุยกันประจำและต้องได้ข้อสรุปออกมา"

"จังหวัดภูเก็ตได้กำหนดประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ไม่นับอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีจำนวน 3.1 แสนคน ประชากรแฝงที่ยังอยู่ขณะนี้ประมาณ 9.4 หมื่นคน เราตั้งเป้าหมายว่าทุกคนต้องฉีดวัคซีน ส่วนแรงงานในธุรกิจอื่นๆ อีก 7,500 คน เราตั้งเป้าไว้ 70 % ส่วนแรงงานต่างด้าว 8.1 หมื่นคน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล ตั้งเป้าเอาไว้ก่อนว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 70 %”

แนวทางหนึ่งของจังหวัดภูเก็ตคือการลงทะเบียนฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์ภูเก็ตชนะ ซึ่งการฉีดในหลายพื้นที่เมื่อฉีดวัคซีนให้ผู้ลงทะเบียนไปแล้วมีวัคซีนเพียงพอก็จะฉีดให้กับคนในพื้นที่นั้นซึ่งยังไม่ได้ลงทะเบียนเป็นการเปิด White List หน้างาน อำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่ภายหลังก็พยายามที่จะให้มาตามระบบนัดเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ผู้ที่ walk in เข้ามาก็จะน้อยลง ระหว่างรอมีดนตรีจากจิตอาสาให้ผู้รอฉัดวัคซีนได้ผ่อนคลาย

“เรามีการติดสติกเกอร์มห้ผู้มาฉีด เข็มแรกสีน้ำเงิน ฉีดเข็มสองสติกเกอร์สีแดง ติดที่บัตรประชาชน ประโยชน์คือการผ่านเข้า-ออกเมืองถ้าแสดงสติกเกอร์ก็จะไม่ต้องตรวจ swap และสามารถใช้แสดงขอรับส่วสนลดจากร้านค้าที่เข้าร่วมรายการกับ’ภูเก็ตชนะ’ เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งทำให้คนภูเก็ตสนใจอยากฉีดวัคซีน มีผู้ลงทะเบียนฉีดแล้ว 120,000 คน เพื่อเป้าหมายให้คนภูเก็ตทุกคนต้องได้รับวัคซีนทันภายในกลางเดือนมิ.ย.เพราะคนภูเก็ตได้รับผลกระทบมานานแล้วก็อยากจะพลิกฟื้นเศรษบกิจให้กระเตื้องขึ้น”

นี่คือประสบการณ์ของโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจจะเป็นแบบอย่างให้โรงพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ ปรับให้ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนให้ประชาชนซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการระดมฉีดวัคซีนซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์การควบคุมโรคของประเทศไทย

หมายเหตุ : ภาพประกอบ การฉีดวัคซีนของจ.ภูเก็ต ซึ่งแม้ไฟฟ้าจะดับเป็นเวลากว่า 30 นาที แต่เจ้าหน้าที่และจิตอาสา ก็ช่วยกันส่องไฟฉายเพื่อให้การฉีดวัคซีนดำเนินการต่อไปได้