ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

บทนำ

โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงเห็นว่าสุขภาพกาย ใจที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพเป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขึ้น เป็นการเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขัง ให้ได้รับการบริการสุขภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไป

เรื่องเล่า

บทนำที่ข้าพเจ้าได้เกริ่นมานั้นฟังดูคร่าวๆ ก็ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับเภสัชกรธรรมดาๆ เฉกเช่นข้าพเจ้านัก เพราะหน้าที่หลักคือการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค (ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ) ให้ประชาชนเขตอำเภอเมือง เราก็ตามควบคุมกำกับมาตรฐานและดูแลผู้ป่วยจากการที่ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในพื้นที่ที่รับผิดชอบของเราไป อาจเป็นด้วยลิขิตของชีวิตให้ข้าพเจ้าต้องเข้าไปดำเนินงานในดินแดนราชทัณฑ์ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากคุณกนกพิชญ์ กาฬหว้า พี่พยาบาลที่ดูแลโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ว่า มีผู้ต้องขังเสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด (Asthma) 1-2 คน และยังมีผู้ต้องขังที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด (Asthma) อีกจำนวนหนึ่ง อยากจะให้ข้าพเจ้าไปช่วยดูแล

เมื่อฟังเช่นนั้นข้าพเจ้าก็มิอาจมีข้อแม้ใดๆ ได้ ถึงจะแอบหวาดหวั่นกับดินแดนราชทัณฑ์อยู่ไม่น้อย แต่ก็มิวายเร่งศึกษาข้อมูลอย่างมุ่งมั่น ศึกษาจำนวนผู้ป่วยและข้อมูลความเจ็บป่วย วางระบบบุคลากรซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีตำแหน่งในกรมราชทัณฑ์และอาสาสมัครเรือนจำ อีกทั้งระบบยาและสิ่งแวดล้อมให้พร้อมเพียงที่จะให้บริการ เพื่อให้เกิดการจัดตั้งคลินิกโรคหอบหืดขึ้นในสถานที่ราชทัณฑ์ทั้งสองแห่งในจังหวัดขอนแก่น เบื้องต้นทราบว่าเป็นคลินิกโรคหอบหืด (Asthma Clinic) แห่งแรกในภาคอีสาน พร้อมผู้บริหารได้เปิดโอกาสที่เอื้อต่อการวางระบบทั้งคน เงิน ของ มีการจัดสร้างตึกผู้ป่วยในไว้บริการโดยเฉพาะหากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และตั้งแต่ปีมกราคม 2563 – มีนาคม 2564 ผู้ป่วยต้องขังทั้งหมดที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด(Asthma) มีทั้งสิ้น 82 คน พบว่า ไม่ต้องใช้ยาพ่นสูดชนิดใช้แก๊ส(MDI)ในการรักษาจำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 17 และไม่มีผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด(Asthma) เสียชีวิตเลยนับตั้งแต่จัดตั้งคลินิกโรคหอบหืด(Asthma Clinic)

ปัจจัยหลัก ที่ทำให้ดำเนินการสำเร็จจนไม่พบผู้เสียชีวิต และผู้ป่วยไม่ต้องใช้ยาพ่นชนิดยาพ่นสูดชนิดใช้แก๊ส (MDI) ก็คือ คือ ผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคหอบหืด (Asthma) ที่ปฏิบัติตนในเรื่องวิธีการพ่นยาอย่างเคร่งครัด (อาจเพราะเขารู้สึกว่ามีคุณค่าที่มีคนดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ) และในวินาทีที่แพทย์ประเมินคนไข้จากค่าสภาวะหลอดลม (%PEFR) เพื่อหยุดให้ใช้ยาพ่นสูดชนิดใช้แก๊ส (MDI) ทำให้ผู้ป่วยดีใจจนบางคนน้ำตาไหลระคนกับคำพูดที่ข้าพเจ้าปลื้มใจยิ่งกว่าได้สมบัติล้ำค่าดังข้อความทิ้งทาย

ปัจจัยรอง น้องๆ อาสาสมัครเรือนจำ (ที่ไม่มีองค์ความรู้ด้านวิชาชีพเภสัชกรรมมาก่อน) น้องๆ ได้รับการฝึกฝนการดูแลผู้ป่วยจากข้าพเจ้าอย่างเข้มข้น มีทั้งคนที่นั่งเครียดและอาการถอดใจ บางคนถึงกับบ่นว่า “จะแมนยากหลายแทะคุณเภสัชฯครับ” (ยากจังครับคุณเภสัชฯ) ด้วยศาสตร์การดูแลผู้ป่วยที่เป็นเทคนิคเฉพาะด้านเช่น การใช้เทคนิคการใช้เครื่องทดสอบสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) และการใช้ยาพ่นสูดชนิดใช้แก๊ส (MDI) รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของวิธีการใช้ยาพ่นสูดชนิดใช้แก๊ส (MDI) นั้นหมายถึงการเรียนวิชาหนึ่งในวิชาด้านเภสัชกรรมนั่นเอง

อีกปัจจัยแวดล้อมคือ นโยบายของกรมราชทัณฑ์เรื่อง “ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต้องขัง”และการจัดห้องแยกโรคที่มีระบบถ่ายเทอากาศกรณีผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีอาการหอบถี่

“คุณหมอครับขอบคุณมากครับที่มาดูแลพวกผมเป็นอย่างดี จนปอดผมดีขึ้น ขอบคุณด้วยใจจริงๆครับ” (เสียงชายไทยอายุ 38 ปีต้องมาอยู่ดินแดนราชทัณฑ์ กล่าวระคนแสดงสายตาอันเป็นประกาย)

แม้ต้องใช้ความเพียรและความเหนื่อยล้าเพียงใด แต่คุณค่าของชีวิตมิอาจซื้อหาได้ด้วยเงินตรา หากการได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นและเขาเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เท่านี้ก็สุขใจ

มีท้อนะค่ะแต่ะข้าพเจ้าก็ภูมิใจในคำว่า “เภสัชกรของพระราชาในดินแดนแห่งราชทัณฑ์”

 

ผู้เขียน : ภญ.รัตติกาล แสนเย็น หัวหน้างานคุ้มครองผู้บริโภค กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่น