ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขรับเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรปฏิบัติงานโควิด-19 เผยมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์เงินค่าเสี่ยงภัยปี 63 ยังไม่ได้รับ! ตั้งแต่มี.ค. -ก.ย. ขณะที่ทวงถามขั้นเงินเดือนโควิด 1% เตรียมทำหนังสือสอบถามทางกระทรวงสาธารณสุข ขอความชัดเจน เพื่อขวัญกำลังใจคนทำงาน

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับการสอบถามจากสมาชิกชมรมนักวิชาการสาธารณสุขจากทั่วประเทศ ผ่านช่องทางต่างๆ ถึงกรณีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านโควิด-19 ยังไม่ได้รับมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามมติ ครม. กรณีเงินค่าเสี่ยงภัยปี 2563 และขั้นโควิด 1% ทั้งนี้มติดังกล่าวล่วงเลยเกิน 1 ปี บุคลากรสาธารณสุขจึงมีความกังวลว่ายังจะได้รับสิทธิประโยชน์อีกหรือไม่

โดยปี 2563 ถือเป็นปีแรกที่มีการระบาด และมีมาตรการสิทธิประโยชน์ ทั้งเรื่องบรรจุหลายหมื่นตำแหน่ง ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีการบรรจุ ตามมติครม.ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฏว่ามีบุคลากรหลายจังหวัดมาร้องเรียนว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้สิทธิประโยชน์เรื่องค่าเสี่ยงภัยและขั้นโควิด

“จากมติครม.เรื่องค่าเสี่ยงภัย ในปี 2563 ตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึง ก.ย. เป็นเวลา 7 เดือน นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ข้าราชการ ลูกจ้างแต่ละประเภท วิชาชีพหรือสายงานใดที่ควรได้รับค่าเสี่ยงภัยบ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทำงานโควิดโดยตรง 1,500 บาท หรือบุคลากรที่ทำงานสนับสนุนได้รับ 1,000 บาท จากการรับเรื่องร้องเรียน สมาชิกแจ้งว่ายังไม่ได้รับเลย” นายริซกี กล่าว

แฟ้มภาพ

นายริซกี กล่าวอีกว่า สำหรับ มีหลักเกณฑ์ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินการส่งหลักฐานเบิกเงินค่าเสี่ยงภัยปี 2564 แล้ว แต่สำหรับค่าเสี่ยงภัยปี 2563 จำนวน 7 เดือน ยังไม่มีความชัดเจนหลายคนจึงยังคงสอบถามประเด็นนี้เรื่อยมา จึงอยากให้ทางกระทรวงออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจกับบุคลากรสาธารณสุขในเรื่องนี้ เนื่องจาก มีบางกระแสแจ้งว่า ตอนส่งข้อมูลขาขึ้นมีการส่งจำนวนผู้ปฏิบัติน้อยกว่าผู้ปฏิบัติงานจริง ทำให้เมื่อได้รับงบประมาณมา จึงไม่ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานจริงซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่ง หากไม่มีความชัดเจนจากกระทรวงฯ เรื่องค่าเสี่ยงภัย ในปี 2563 ทั้ง 7 เดือน ก็จะเกิดคำถามประเด็นนี้มาเรื่อยๆ

“ค่าเสี่ยงภัย ในปี 2563 ควรชัดเจนตั้งแต่นิยามผู้ปฏิบัติงานโดยตรงได้รับ 1,500 บาท ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนได้รับ 1,000 บาท จะยึดสายงานหรือการปฏิบัติงาน คำจำกัดความเรื่องการคัดกรอง การอยู่เวรประเภทต่างๆยังไม่ชัดเจน เช่นการคัดกรองตามด่านระหว่างจังหวัด การติดตาม การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ก็ไม่สามารถเบิกค่าเสี่ยงภัยได้ ต้องเบิกเงินบำรุง รพ.สต. ซึ่งมีอย่างจำกัดอยู่แล้ว จึงเกิดคำถามมากมาย โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติใน รพ.สต. ซึ่งกังวลเรื่องรายชื่อว่ามีในคำสั่งในปี 2563 หรือไม่ และยังมีสิทธิได้รับค่าเสี่ยงภัยปี 2563 อีกหรือไม่ อีกประเด็นคือเรื่องขั้นโควิด 1% ในปี 2563 ยังคาราคาซัง ว่าข้าราชการที่ปฏิบัติงานโควิดจะได้ทุกคนหรือไม่ ครอบคลุมกี่สายงาน แต่ทราบว่ามีหลายจังหวัดเริ่มขยับทำคำสั่งเรื่องขั้นโควิดกันแล้ว จึงอยากขอให้ทางกระทรวงฯออกมาให้ข้อมูลเรื่องสิทธิประโยชน์ตรงนี้ เพื่อความชัดเจนและเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิดอย่างเข้มแข็งต่อไป” นายริซกี กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายริซกี  กล่าวอีกว่า  สืบเนื่องจากการที่สมาชิกบางส่วน ได้ร้องเรียนมายังอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ฯ ของสภาการสาธารณสุขชุมชน ในหลายประเด็น ทั้งเรื่องความคืบหน้าของการตั้งคณะทำงานกำหนดตำแหน่งใหม่ของนักสาธารณสุข โดย อกพ.กระทรวงสาธารณสุข ค่าตอบแทนวิชาชีพ รวมถึงสิทธิด้านต่างๆ ซึ่งอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ฯ ของสภาการสาธารณสุขชุมชนจะรวบรวมประเด็น และนัดประชุมหารือในประเด็นเหล่านี้ภายในเดือน มิ.ย. 2564 และจะทำหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามและสอบถามความคืบหน้าในเร็วๆนี้

 

(ข่าวเพิ่มเติม : “หมอสุระ” เผยค่าตอบแทนพิเศษปฏิบัติงานโควิดปี 63 อยู่ระหว่างรอสำนักงบประมาณจัดสรร)

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เตรียมทำหนังสือทวงถามสำนักงบฯ ปมเงินเพิ่มพิเศษบุคลากรสู้โควิด19)

หลักเกณฑ์ค่าเสี่ยงภัยปี 2563

หลักเกณฑ์ค่าเสี่ยงภัยปี 2563

หลักเกณฑ์ค่าเสี่ยงภัยปี 2563 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง