ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับถอยหลัง 1 ส.ค. ฤกษ์เปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อำเภอเมืองเชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า ในแคมเปญ "เชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์" หลังธุรกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จนเศรษฐกิจปี 2564 ซบเซา ขณะเดียวกันก็ยังมีคำถามถึงความพร้อมการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากมีการตั้งแคมเปญเชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์ และมีการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีน จนถึงขณะนี้มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 1.9 แสนโดส เข็มแแรกประมาณ 8-9 หมื่นคน ส่วนจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่สองน่าจะราวๆ 6-7 หมื่นคน ถ้ารวมแอสตร้าเข็มแรก จะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วทั้งหมดแล้วเกินแสนโดสนิดหน่อย ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ 70 % ของประชากรในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอคือ 286,383 คน

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ มองภาพการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวจากแคเปญแซนด์บ็อกซ์ในอนาคตว่าจำเป็นจะต้องพิสูจน์ให้รัฐบาลเห็นถึงแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

"แนวปฏิบัติเราเป็นผู้นำเสนอ สิ่งที่เราต้องพิสูจน์คือต้องทำเห็นแนวความจริงที่เป็นไปได้ว่า ถ้าทำแบบนี้แล้วมันไม่ได้สร้างความเดือดร้อนในเรื่องสาธารณสุข เราต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยว่าระบบในการติดตามคนที่เข้ามาแล้วจะไปไหน เราทราบว่าเขาอยู่ไหนบ้าง ถ้าใช้เทคโนโลยีช่วยได้ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) ประสานกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แล้วก็ประสานหน่วยงานที่เป็นเอกชนที่เก่งด้านไอที เราก็มีแอปเชียงใหม่ชนะ ก็ต้องเอาหลายส่วนมาประยุกต์ใช้กัน"

สำหรับการวางแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในเรื่องความเชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้นได้ มีอยู่ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.วัคซีน ต้องมีคุณภาพดีฉีดให้ประชาชนมีความต้านทานหมู่ให้ได้

2.สร้างความเชื่อมั่นให้คนที่จะมา จ.เชียงใหม่ ว่าปลอดภัย มีมาตรฐาน Safety Healthy Administration ของกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อ ดำเนินการ 2 ประเด็นนี้คู่กันเรียกว่า SHA Plus

3.แซนด์บ็อกซ์ หรือแผนการฟื้นฟูซึ่งต้องมีความน่าเชื่อถือ ทำได้จริง มีประสิทธิผลจนรัฐบาลเห็นว่าเป็นผลดีมากกว่าเสีย

4. Marketing (การตลาด) ด้วยข้อความที่นำไปสื่อสารสู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

"แซนด์บ็อกซ์ก็เป็นแค่การยกตัวอย่างสร้างกระบะทราย เวลาหกล้มเข้ามาแล้วไม่เจ็บตัวมาก ล้มในทรายก็ดีกว่าล้มในซีเมนต์ การบริหารจัดการที่ดีจะทำให้มีความน่าเชื่อ รัฐบาลเห็นผลดีมากว่าผลเสียก็จะยอมให้เราทำ ในส่วนมาร์เก็ตติ้ง เมื่อทำออกมาแล้วไม่ว่าจะกักตัว 14 วัน หรือเปิดประเทศภายใน 120 วันอนาคต จะมีวิธีการอย่างไร ก็เอาข้อความนี้ไปสื่อสารให้กับคู่ค้าต่างชาติไม่ว่าจะเป็น เอเย่นต์ทัวร์ กลุ่ม ดีเอ็มซีที่จะจัดกรุ๊ปเหมาลำเข้ามา ต้องไปทำการพูดคุยการขาย นักธุรกิจจะได้เจรจากันซึ่งมีความท้าทายอยู่ค่อนข้างเยอะเพราะว่าคนยุโรปส่วนใหญ่ที่เข้ามาบินระยะทางไกลๆ ต้องไปลงภูเก็ตหรือ กทม.ก่อนต้องอยู่ที่นั่น เราไม่มีไฟลท์ตรง แต่คนที่จะมาชุดแรกๆส่ วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มาจากกลุ่มอิสราเอลในฤดูฝนแบบนี้ หรือจากมิดเดิ้ลอีสท์หรือจากยุโรป ส่วนตลาดถ้าเข้าฤดูหนาวแล้ว เชียงใหม่จะมีกุญแจความสำเร็จปลายทางสำคัญคู่ค้าของเรา เกาหลี จีน จะเอาด้วยไหม ยอมให้ ประชาชนของเขาเดินทางออกมาเที่ยวบ้านเราหรือยังก็ต้องไปดูที่เรตของเคสรายใหม่ของผู้ติดเชื้อในบ้านเราเยอะแค่ไหน" นายพัลลภ ให้ความเห็น

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ วิเคราะห์อีกว่า เมื่อนำเอาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ย้อนหลังบวกลบ 14 วันมาคำนวณเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 3 พันกว่า ไม่ควรเกิน 4 พันคนต่อวัน ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มเกินแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้เราก็จะอยู่ใน Ranking ที่ไม่น่าสนใจเท่าไร จากความเสี่ยงที่เริ่มสูง

"ถ้าเชียงใหม่เราฉีดวัคซีนกับตีกรอบแซนด์บ็อกซ์แล้ว ผู้ว่า ททท.ก็จะต้องไปโน้มน้าวให้เขาเข้าใจว่าในบ็อกซ์กับในประเทศแม้จะอยู่ในพื้นที่เดียวกันแต่ก็ถูกตีกรอบแล้ว อัตราการติดเชื้อใหม่ในบ็อกซ์ไม่ได้สูงมากเท่ากับค่าเฉลี่ยทั้งหมดของประเทศ ถ้าเราทำได้ ก็จะทำให้มันเกิดให้ได้ เพราะว่าพี่น้องนักธุรกิจและ SME แม่ค้าร้านตลาดขายของที่ระลึก ถนนคนเดิน ไนท์บาซาร์ รถสองแถว เขาเจ็บปวดกับรายได้ที่หายไปนานพอสมควรแล้ว"

ส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ถือว่าเป็น "โมเดลตั้งต้น" ให้กับ จ.เชียงใหม่ คือ "แซนด์บ็อกซ์กอล์ฟ" นายพัลลภ อธิบายถึงเหตุผลในการใช้กีฬากอล์ฟมาสร้างความเชื่อมั่นในการเริ่มเปิดเมืองว่า แม้จะเป็น "กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ" และไม่ได้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจในจังหวัดแบบทันตาเห็น แต่ก็ยอมรับว่าจำเป็นจะต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ หากประสบความสำเร็จก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถค่อยๆขยับไปยังธุรกิจอื่น

"แผนแซนด์บ็อกซ์ของเราทำตัวที่มันปลอดภัยที่สุดคือกอล์ฟ เป็นมินิบ็อกซ์ หรือจะเรียกว่า Seal Route การปิดผนึกเส้นทางที่จะไปตีกอล์ฟ ลงสนามบิน เข้าที่พักในสนามกอล์ฟเลย มีบริการนวดในสนามให้เบ็ดเสร็จเรียบร้อย ถ้าอยากไปเที่ยวข้างนอกก็มีการซีลเส้นทางให้ไม่ไปมีโอกาสเสี่ยงให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ วันที่ 7 ก.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จ.เชียงใหม่ ก็คาดว่าจะนำเสนอ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เมตตาจะผลักดันเอาให้ได้ ความเป็นไปได้ก็น่าจะมีความปลอดภัยทำให้สำเร็จแล้วมีไฟลท์เข้ามา ค่อยๆ ปรับปรุงกันไป วันที่ 7 ก.ค.เสนอจังหวัด แล้วเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคต่อไป เสนอ ททท.ให้ยื่นเรื่องผู้ที่มีอำนาจสั่งการว่าเดือนนั้นเดือนนี้จะมีไฟลท์เข้ามา เพื่อดูว่าจะทำได้หรือไม่ได้ เอาความรู้ด้านการตลาด สาธารณสุข หลักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็มาช่วยกันอยู่ เราเชื่อว่าเราอาจจะต้องทดลองแบบนี้ก่อน กอล์ฟก็เป็นสัญลักษณ์ที่ทำแล้วสำเร็จก็จะเป็นว่าเชียงใหม่มีไฟลท์บินมา เอกชนรายอื่นเห็นก็จะได้คิดหาวิธีทางอื่นให้สำเร็จด้วย แต่มันก็ยังไม่ได้ทำให้พี่น้องเราปากท้องอิ่มทุกคนหรอก แต่ว่ามันต้องมีก้าวแรกก่อน"

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชียงใหม่ยอมรับว่า แซนด์ลบ็อกซ์กอล์ฟที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่จะกอบกู้รายได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่อย หากหวังเช่นนั้นก็ต้องบินตรงแบบ Regular Flight หรือที่บินตรงเป็นประจำ

“เงื่อนไขมันอยู่ที่รัฐบาลยอมลดเงื่อนไขให้เป็นแบบสากลน้อยที่สุด เหมือนสิงคโปร์หรือยุโรป ว่าฉีดวัคซีนแล้ว ประเทศเขายอมรับ คือทำให้เสมือนหนึ่งว่าไปเที่ยวปกติ ตราบใดที่ยังมีเงื่อนไขเยอะอยู่ลูกค้าก็จะลดลงเรื่อยๆ อยู่ในกลุ่มจำกัดมากๆ ที่เชียงใหม่เลือกกอล์ฟที่เป็นกลุ่มจำกัดมากๆเพราะว่าทางออกทางเข้าเมืองมีนับ 10 เส้นทาง เราจะตั้งด่านได้ทุกที่หรือเปล่า ลักษณะทางกายภาพของเราใช้โมเดลภูเก็ตอาจจะไม่เหมาะสมนัก เราต้องหาโมเดลในแบบของเราเหมือนกัน อาจจะเลือกอะไรที่ไม่ได้อิ่ม แต่ค่อยๆ ให้มีคนเข้ามา แล้วลองผิดลองถูก เมื่อโมเดลนี้ทำได้ก็จะได้เริ่มขยับไปโมเดลที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเราก็เตรียมเอาไว้พอสมควร" นายพัลลภ ฉายภาพการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ทำการยกเลิกจัดจองและซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากถ้าจองวัคซีนแล้วจะได้รับการส่งมอบในเดือน ต.ค.

"ทางนายกฯอบจ.บอกว่า ช่วงเวลานั้นโมเดอร์นาคาดว่าจะเข้ามาแล้ว ถ้าซื้อแล้วได้เวลานั้นสถานการณ์อาจจะเปลี่ยน กลายเป็นว่าการที่เราฉีดวัคซีนช้าอาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว" ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่ เล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจของนายก อบจ.เชียงใหม่

"ไฟลท์บินตรงที่พอจะทำได้มีสิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี จีน แต่เนื่องด้วยจีนถ้าประเทศเขามีนโยบายให้คนออกได้จีนน่าจะมาเป็นรายแรกๆ เพราะนักธุรกิจมีความกระตือรือร้น ถ้าสัญญาณดีเขาทำแน่ ที่ยังขยับไม่คล่องเพราะว่าลูกค้าหลัก (จีน) รัฐบาลยังไม่มีสัญญาณให้คนเขาออกก็ยังขยับไม่ได้ ส่วนเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ก็มีเจรจาเขาก็สนใจ เป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ แต่มาเลเซียความเสี่ยงสูงกว่า เป็นทางเลือกรองลงไป เวียดนามอาจจะยังไม่มีการคุยกัน เชียงใหม่ต้องเอาตัวเราให้อยู่ก่อน เหมือนช่วงก่อน 2021 ตอนนั้นไทยมีอัตราคนติดโควิดน้อยมาก แต่ตอนหลังมีหลายคลัสเตอร์ไล่กันไม่ถูกแล้ว มันตึงมากแล้ว ก็เป็นตัวที่น่าห่วง" นายพัลลภ กล่าว

ภาพประกอบจากเฟซบุค วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร Doi Suthep