ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีเสวนา “COVID-19 Home Care ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์-ประชาชน” เปิด “ระบบ COVID-19 Home Care ” ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนพร้อมพูดคุยให้คำปรึกษากับผู้ป่วยโควิดผ่าน LINE OA ได้ตลอดเวลา เน้นเชื่อมต่อบริการคุณภาพ อาสาช่วยผู้ป่วยโควิดรอเตียง ส่งกล่อง “COVID Care Box” ยา เครื่องยังชีพเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิคที่อยู่ในเกณฑ์ต้องไปกักตัวที่บ้าน

วันที่ 12 ก.ค. 2564 สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ – HEC ได้จัดเสวนาเรื่อง “COVID-19 Home Care ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์-ประชาชน” โดยมี นพ.ฆนัท ครุฑกุล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการ COVID-19 Home Care นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมอภิปราย

นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์โครงการ COVID-19 Home Care

นายอารยะ กล่าวว่า ในสถานการณ์ระบาด covid แห่งประเทศไทยในกรุงเทพฯมีความสำคัญมาก เราได้รับการประสาน ผู้ป่วยรอเตียงผู้ป่วยขาดเตียง และผู้ป่วยต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงมีคนเสียชีวิตอยู่ที่บ้านโดยที่ไม่มีเวชภัณฑ์และอาหารที่เพียงพอ จึงได้มีการพอคุยกัน ในภาคเอกชนหรือองค์กรต่างๆ เพื่อจัดทำ โครงการ Covid Home Care ซึ่งโครงการนี้เราจะมีการมอบกล่อง covid care box ซึ่งประกอบด้วย เวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น ออกซิเจน เทอร์โมมิเตอร์ ยาฟ้าทะลายโจร ยาละลายเสมหะ รวมทั้งสเตอรอยด์ในการพ่นคอ

“ทั้งนี้ เราอยากให้คนที่ไม่สามารถเข้าไปรับบริการการรักษาโควิดในโรงพยาบาลได้ ขอให้ท่านรู้จักโครงการของเราและ Add LINE OA ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาท่านโดยตรง ซึ่งจะทำให้ท่านไม่ต้องรักษาคนเดียวเพียงลำพังที่บ้าน เพราะสามารถพูดคุยสอบถามเข้ามาทาง LINE OA ได้ตลอดเวลา”นายอารยะ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์

ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home isolation มาตรการนี้ถ้าไม่มีความจำเป็นเราไม่อยากใช้มากนัก เพราะมีผลเสียอยู่ 2 อย่างคือ 1. ผลเสียต่อสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอง เนื่องจากต้องอยู่ที่บ้านคนเดียวโดยที่ไม่มีใครช่วยดูแลอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ 2. ผลเสียต่อชุมชน เช่น ผู้ติดเชื้อเดินทางไปซื้อของข้างนอก ทำให้มีการแพร่เชื้อภายในชุมชนได้

อย่างไรก็ตาม เรายังมีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการ Home isolation เนื่องจากเตียงไม่พอรองรับรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้นในทุกวัน

 

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ด้าน นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาช่วยในเรื่อง covid home care ก่อนหน้านี้ได้มีการช่วยในเรื่อง ของโทรศัพท์ที่ให้สามารถติดต่อกันได้ รวมถึงศูนย์วัคซีนต่างๆ โรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอยต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้จัดทำ LINE OA สนับสนุนบุคลากรทั้งหมดเพื่อให้เกิดเป็นโครงการ Covid Home Care ดังกล่าว

สำหรับข้อดีของ LINE OA คือสามารถทำหน้าที่เป็นคลินิกออนไลน์และมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษาติดต่อกับผู้ป่วยดูแลผู้ป่วยโควิคได้ ว่ามีอาการรุนแรงหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งการทำงานในครั้งนี้เราจะพยายามคัดกรองประสิทธิภาพประสิทธิผลและพัฒนาจุดเด่นจุดด้อยต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าหากไม่สามารถติดต่อ LINE OA ได้เรายังมีช่องทางให้ติดต่อ เช่น call center ของโครงการ หรือ Facebook Fan page ได้

ทั้งนี้ ระบบ LINE OA จะเริ่มใช้งานได้เต็มรูปแบบในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นี้ เป็นเฟสแรก และเมื่อมีผู้เข้าสู่ระบบตามขั้นตอนต่างๆเสร็จสมบูรณ์ จะเริ่มคัดกรอกผู้ป่วยและมีเจ้าหน้าที่จัดส่ง กล่อง COVID-19 Care Box ให้แก่ท่านต่อไป หากหน่วยงาน ภาคเอกชน ประชาชนที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผ่านโครงการ “COVID-19 Home Care” ท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ : We care network – เครือข่ายเราดูแลกัน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ฆนัท ครุฑกุล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC)

ขณะที่ นพ.ฆนัท กล่าว ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้เราพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านี้การดูแลรักษาเราจะเน้นว่าต้องเข้าสถานพยาบาลเพื่อกักตัวไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด แต่เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทำให้ทรัพยากรไม่พอสำหรับผู้ป่วยโควิด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะพยายามช่วยเหลือโดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ สำหรับการเข้าร่วมโครงการ covid home care คนที่สามารถเข้าร่วมโครงการไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ติดเชื้อโควิค แต่สามารถเข้ามาสอบถามข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของโครงการนี้เราสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ที่ติดเชื้อโควิคที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเข้าไปกักตัวที่บ้าน เพื่อให้สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอด

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ด้านดร.ธนกร กล่าว วันนี้สถานการณ์ในประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่เราต้องร่วมมือกันจริงๆ รวมทั้งทุกฝ่ายทุกหน่วยงานทุกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงเข้ามาสนับสนุนในส่วนของการสื่อสารในภาวะวิกฤตทำการสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งข้อมูลการแพร่ระบาดค้นข้อมูลข่าวสารที่เป็นเฟคนิวส์จะมาพร้อมกันเลย พบว่าข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพและโควิด ไปเร็วกว่าข่าวที่ดีและถูกต้อง ทำให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์มีภารกิจที่จะระงับยับยั้งข่าวสารทั้งหลาย ในสโลแกนที่ว่า “ลดทอนข่าวร้ายกระจายข่าวดี” เพื่อทำให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ในช่วงของการแพร่ระบาด covid ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน ประชาชนต้องช่วยดูแลตนเอง รวมถึงในชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้พัฒนาและสนับสนุนในหลายเรื่อง ทั้งในแง่ของการจัดตั้งศูนย์กรองข่าวก็ดี การติดตามข้อมูลข่าวสารที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย จะมีมาตรการการสนับสนุนในการผลิตสื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

“วันนี้อยากบอกว่าสำหรับผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านขอให้รักษาตัวอยู่ที่บ้านจริงๆ และที่สำคัญที่สุดต้องลดในการเปิด Application การรับข่าวสารผ่านโทรศัพท์ เพราะว่าข้อมูลที่เราเปิดรับส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงลบ หรือถ้าจำเป็นต้องรับข้อมูลข่าวสาร เวลาที่ท่านเห็นข้อมูลแล้วท่านอย่าปักใจเชื่อไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่าเพิ่งตัดสินว่าข้อมูลนี้ถูกหรือผิด ควรพิจารณาว่าข้อมูลมาจากแหล่งข่าวไหน และเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ รวมถึงเปรียบเทียบกับข้อมูลแหล่งอื่นๆด้วย และอยากฝากให้ทุกคนดูแลตัวเองให้กำลังใจตัวเองให้มากอย่าคิดว่าตัวเองเป็นคนผิดปกติ รวมถึงคนรอบข้างควรให้กำลังใจด้วยเช่นกัน” ดร.ธนกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กล่องโควิค care box ที่เราจะส่งไปให้ผู้ป่วยโควิดตามบ้านจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่กรุงเทพฯเท่านั้น และคนไข้ที่อยู่ต่างจังหวัดที่ไม่สามารถติดต่อไปทางโรงพยาบาลได้ และจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แต่อยากได้กล่อง care box ในการดูแลจะทำอย่างไรได้บ้าง

นายอารยะ กล่าวว่า กล่องโควิค care box ไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯที่จะได้รับ แต่คนไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตที่บ้าน ซึ่งขณะนี้เราเริ่มที่ 1,000 กล่อง ถ้าเรามีกำลังหรือแรงสนับสนุนมากขึ้น เราจะทำขยายไปในทุกพื้นที่ ในช่วงอาทิตย์นี้เราเริ่มที่กรุงเทพฯก่อน แล้วจากนั้นเราจะค่อยขยายไปในทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้นช่องทางการติดต่อสื่อสารเราชัดเจนคือ LINE OA ในการที่จะมาลงทะเบียนและประเมินว่าจะส่งอะไรไปบ้าง

ซึ่งแต่ละกล่องอาจมีอุปกรณ์หรือเวชภัณฑ์ไม่เหมือนกัน เราจะพิจารณาตามอาการของผู้ป่วยและจำนวนตนในแต่ละบ้าน ว่ามีหรือขาดเหลืออะไรแล้วบ้าง เช่นบ้านไหนที่มีที่วัดออกซิเจนอยู่แล้วเราก็จะไม่ส่งไปซ้ำเพื่อจะเก็บทรัพยากรไว้กับคนที่ต้องการ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) ขอเน้นย้ำว่า ข้อควรปฏิบัติขณะกักตัวรอเตียงอยู่ที่บ้านหรือถ้าท่านติดเชื้อ และไม่สามารถที่จะไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาได้ ควรปฏิบัติดังนี้

1) งดเยี่ยมระหว่างการกับตัว 2) รักษาระยะห่างและงดสัมผัสผู้อื่นโดยเด็ดขาด 3) แยกห้องพักที่นอนของใช้ส่วนตัวต่างๆ 4) เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท อย่าอยู่ในที่อับ 5) ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน 6) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 7) ล้างมือบ่อยๆเพื่อที่จะลดการรับเชื้ออื่นเข้ามา 8) แยกซักเสื้อผ้าหรือของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น  9) แยกใช้ห้องน้ำ แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ขอให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แล้วหลังจากนั้นทำความสะอาดห้องน้ำโดยการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ