ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนออกนอกราชอาณาจักร มอบให้สถาบันวัคซีนฯ-กรมควบคุมโรคพิจารณาผลกระทบ ความเป็นไปได้ และส่งกลับเข้ากรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ส่วนประเด็นคำเตือนองค์การอนามัยโลก มีคณะกรรมการวิชาการพิจารณาอีกชุด ขออย่าตัดถ้อยคำ WHO อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

 

ต่อมาเวลา 13.10 น. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบ 2 วาระ โดยวาระแรก เห็นชอบและอนุมัติให้จัดหาวัคซีนอีก 120 ล้านโดส โดยให้จัดหาในรูปแบบวัคซีนกลุ่ม mRNA ไวรัลเวคเตอร์ โปรตีนซับยูนิต และรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม และตอบสนองกับไวรัสกลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยให้มีการจัดหาเพื่อให้มีเพียงพอ ฉีดกับประชากรที่ยังเข้าไม่ถึง และฉีดเพิ่มเติมกรณีกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป รวมทั้งเป็นการสำรองกรณีระบาด ทั้งหมดเป็นกรอบจัดหาวัคซีนปี 2565 นอกจากนี้ มีมติให้กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติเร่งจัดหาวัคซีนปี 2564 ให้ได้ 100 ล้านโดสด้วย

ส่วนวาระที่สอง การพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิดไปภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาผลกระทบและความเป็นไปได้ รวมทั้งเรื่ององค์ประกอบอื่นๆที่ต้องพิจารณาต่อไปข้างหน้า ซึ่งได้เห็นชอบในหลักการให้ออกประกาศนี้ โดย ณ เวลานี้ มอบให้ฝ่ายเลขานุการ คือ สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนเนื้อหาของร่างประกาศนี้ โดยพิจารณาผลกระทบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศด้านต่างๆ และของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศ และเมื่อได้ผลอย่างไรให้กับมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่างประกาศต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าการกำหนดสัดส่วนการส่งออกมีสัดส่วนในการพิจารณาอย่างไร นพ.นคร กล่าวว่า ตัวประกาศยังไม่ออก แต่โดยเนื้อหา ได้ให้ฝ่ายเลขาฯ ไปพิจารณาเนื้อหาเพื่อทบทวนผลกระทบด้านต่างๆ ให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างเวลานี้ก็ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้ส่งมอบกับประเทศไทยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศ

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาเจรจาการส่งมอบอย่างไร นพ.นคร กล่าวว่า มีการเจรจา และผู้ผลิตบอกแนวทางการจัดสรร ว่า จะให้อยู่ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะยอดการสั่งซื้อของเราอยู่ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด เขาจะจัดส่งวัคซีนให้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากการผลิตไม่ได้มีโดสการผลิตที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกำลังการผลิตของแต่ละช่วงเวลา จึงเป็นข้อตกลงว่า 1 ใน 3 ของการผลิตแต่ละช่วงเวลา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ประชุมมีการพิจารณาหรือหารือถึงข้อเสนอที่ท่านนายกรัฐมนตรี กำชับให้มีการพิจารณาคำเตือนขององค์การอนามัยโลกหรือไม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวันนี้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่จะมีคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จะพิจารณาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แต่ต้องย้ำว่า องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศเรื่องนี้ค่อนข้างยาว การไปตัดท่อนใดท่อนหนึ่งก็จะเกิดปัญหาได้ แต่ภาพรวมองค์การอนามัยโลกเห็นว่า ถ้าหน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศ มีข้อมูลวิชาการในการสนับสนุน ในการเลือกใช้วัคซีนแบบใดแบบหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศ