ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยกรณีวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดสจะส่งไทยทันปี 64 หรือไม่ ต้องรอดูอีกกว่า 5 เดือน เหตุขณะนี้บริษัทเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่แผนการปรับสูตรให้วัคซีนสลับชนิด ไม่ส่งผลต่อปริมาณแอสตร้าฯ ในช่วงนี้ ต้องรอดูเดือนต่อไป ย้ำ! คกก.พิจารณา 2 สูตร คือ “ซิโนแวคเข็มแรก+แอสตร้าเข็มสอง” กับ “แอสตร้า+แอสตร้า”โดยสูตรสองเน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง ส่วนผู้สูงวัยฉีดแอสตร้าฯเข็ม 1 เข็มต่อไปยังเป็นแอสตร้าฯ

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 ก.ค.2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการเสวนาวิชาการวัคซีนโควิด19 สำหรับสื่อมวลชน ว่า   ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตโควิด19 โดยเดือนก.ค.เป็นเดือนที่มีผู้ป่วยโควิดสูงเฉลี่ยรายวัน 9 พันราย อย่างวันนี้มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดถึง 98 ราย ตั้งแต่มีระบาดโควิดปี 2563 วันนี้สูงที่สุด ขณะที่การระบาดก็พบการติดเชื้อหลายพื้นที่  ส่วนใหญ่เกิดจากคนที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร(กทม.) และปริมณฑล เมื่อปิดสถานประกอบการก็เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปด้วยนั้น  อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุข ทั้งกรุงเทพฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกรมควบคุมโรคเร่งดำเนินการป้องกันโรคอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์ก็ยังน่าเป็นห่วงระยะหนึ่ง การป้องกันโรคจึงยังต้องเน้นคนสูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยต้องเน้นฉีดวัคซีนให้มากที่สุด

นพ.โสภณ กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนของไทย ว่า ประเทศไทยสั่งวัคซีนมา 2 ตัว โดยก่อนหน้าที่มีการระบาดของโควิด ได้มีการพิจารณาวัคซีนที่เหมาะสม โดยไทยเจอโควิดปี 2563 แต่เราควบคุมการระบาดได้ดี ตอนที่จองก็ใช้ได้ดีในประเทศไทย ทั้งการเก็บรักษา และมีโอกาสผลิตในไทย คือ ไวรัล เวกเตอร์ คือ แอสตร้าฯ ซึ่งจองไว้เยอะสุด 61 ล้านโดส แต่เมื่อมีการระบาดเพิ่ม เราได้จองวัคซีนซิโนแวค ชนิดเชื้อตาย เพราะเป็นวัคซีนที่เรานำเข้าไปเร็วที่สุด ส่วนไฟเซอร์ โมเดอร์นา ไม่สามารถซื้อได้ ณ เวลานั้น เพราะต้องจองหลายเดือน จึงได้ซิโนแวคมาในเดือน ก.พ. และนำมาฉีดในการควบคุมการระบาด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับไปก่อนหน้านั้น เรียกว่า ซิโนแวคมาเสริมในขณะที่รอวัคซีนอื่นๆ ส่วนแอสตร้า มาเรื่อยๆ อย่างเดือนมิ.ย.ได้ 6 ล้านโดส รวมๆวัคซีน 2 ตัวตกเดือนละ 10 ล้านโดส และเราก็ฉีดได้เฉลี่ยวันละ 3 แสนโดส บางวันเกิน 3 แสนโดส

00 วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดสจะเข้าถึงปี 2564 หรือไม่ ต้องรอดูธ.ค. แต่มีความเป็นไปได้อาจขยับไปปีหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แอสตร้าฯ จำนวน 61 ล้านโดสจะมาไม่ทันปี 2564 นพ.โสภณ กล่าวว่าตอนนี้เดือนกรกฎาคม เหลืออีก 5 เดือนเศษ กว่าจะสิ้นปี ทั้งนี้ เราสั่งจองวัคซีนครั้งแรก 26 ล้านโดส ตอนนั้นหากสถานการณ์ระบาดไม่รุนแรงก็จะทยอยฉีดไปถึงสิ้นปี แต่เดือน ม.ค. รัฐบาลพิจารณาสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงมอบให้กรมควบคุมโรคอีก 35 ล้านโดส โดยรวม 61 ล้านโดส ซึ่งเราก็บอกบริษัทขอให้จัดส่งภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทก็มีความพยายามทำตามที่ขอ เพราะในสัญญาไม่ได้ระบุวันส่งมอบชัดเจน เนื่องจากเป็นการสั่งจองตอนวัคซีนยังไม่สำเร็จ อยู่ระหว่างวิจัยพัฒนา แต่ด้วยความที่บริษัทอยู่ในไทย ผลิตในไทย แต่มีออเดอร์จากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทก็พยายามให้ได้มากที่สุด โดยเราจอง 1 ใน 3 ของกำลังผลิตของเขา แต่เราก็ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเพิ่มผลผลิต เราคงบอกไม่ได้ว่าจะส่งทัน หรือส่งไม่ทันในปีนี้ เพราะมีความพยายามเทคโนโลยีการผลิตก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปได้ก็คงจะได้วัคซีนมากที่สุดตามโควต้าที่เราจองไว้ จะทันหรือไม่ให้รอวันที่ 31 ธันวาคมนี้

เมื่อถามต่อว่าในสัญญาไม่ได้ระบุว่าขยายเวลาส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. 2565 เพราะมีผู้บริหารบางท่านให้ข้อมูลไว้ นพ.โสภณ กล่าวว่า การส่งมอบมีไทม์ไลน์กว้างๆ และมีการระบุจำนวน หมายความว่า หากบริษัทจะส่งเกินไปปีหน้าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญากำหนดไว้ก่อนมีวัคซีนจริง ดังนั้น ในเรื่องระยะเวลาแต่ละเดือนจึงไม่ได้บอกว่าจะส่งเท่าไหร่ ที่เราเห็นบ่อยๆ คือ 6 ล้านในเดือน มิ.ย. และ 10 ล้านในเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. และจบท้าย 5 ล้านโดสเดือน ธ.ค. ตรงนั้นเป็นศักยภาพการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เพราะเคยประมาณการณ์ หากเราต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันร้อยละ 70 หรือ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดสจะฉีดได้ทันหรือไม่ ซึ่งประมาณการณ์เบื้องต้นว่า หากใช้รพ.ทุกแห่งของสธ. และรัฐส่วนอื่นๆ ประมาณ 1,000 แห่ง โดยรพ.ละ 500 คนต่อวัน ก็ได้ประมาณ 5 แสนโดสต่อวัน คูณ 20 วันทำการก็ประมาณ 10 ล้านโดสต่อเดือน จึงเป็นที่มาของกำลังการฉีดและนำไปช่วยวางแผน แน่นอนว่า ช่วงแรกบริษัทแอสตร้าฯ ก็ไม่สามารถจัดได้เต็ม เพราะบริษัทผลิตวัคซีนครั้งแรก ก็จะมีเรื่องจำนวนที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความคงตัวของผลผลิตที่ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสรอดูอีก 5 เดือนครั้งหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บางส่วนอาจขยับไปปีหน้า

 

00 ชี้สูตรให้วัคซีนสลับชนิดมี 2 สูตร

เมื่อถามว่าในเดือน ก.ค. แอสตร้าฯ ส่งมอบเท่าไหร่ และเมื่อปรับสลับวัคซีนต้องเพิ่มแอสตร้าฯหรือไม่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนการส่งมอบวัคซีนของบริษัท บวกกับวัคซีนจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส ในเดือนนี้จะมีมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แม้จะปรับสูตรการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ แต่อย่าลืมเดิมเราฉีดแอสตร้าฯเป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมด ดังนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่เข็ม 1 มาใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ เมื่อคำนวณตัวเลขการเตรียมวัคซีนแอสตร้าฯเพิ่มเข็มที่ 2 บวกกับของผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง หากวัคซีน 10 ล้านโดส ก็จะมากกว่าเดือนที่แล้วนิดหน่อย ก็จะดำเนินการได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อไปมากกว่า

เมื่อถามว่าการใช้วัคซีนสลับชนิดจะแบ่งแนวทางการใช้ในผู้สูงอายุอย่างไร นพ.โสภณ กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณา 2 สูตร คือ สูตรแรก เป็นการฉีดซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ส่วนสูตร 2 เหมือนเดิมคือ แอสตร้าฯตามด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งอันที่สองจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้สูงอายุจะฉีดซิโนแวคไม่ได้ เพราะมีการรับรองว่าสามารถฉีดได้ แต่การบริหารภาพรวมจะเป็นไปตามสูตรดังกล่าว เพื่อให้รวดเร็ว

 

00 ศบค.ประชุม 16 ก.ค. สรุปแนวทางให้รพ.ฉีดวัคซีนสลับชนิดอย่างเป็นทางการ

เมื่อถามว่าได้มีการแจ้งการฉีดวัคซีนสลับชนิดกับทางโรงพยาบาล พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการแล้วหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้สื่อสารกับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ไปแล้วผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว แต่เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ค. ทางท่านนายกฯ ให้ทบทวน จึงได้มีการทบทวนและล่าสุดจากการพิจารณาของคณะกรรมการ 2 ชุดแล้วก็มติเดิม โดยในวันพรุ่งนี้(16 ก.ค.) จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ศบค. หากท่านนายกฯ และศบค. เห็นชอบก็จะแจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนรพ.ที่ดำเนินการไปแล้วก็ถือว่าดำเนินการได้ตามแนวทางที่เคยได้ให้แนวทางไว้

 

00 ย้ำชัด! ผู้สูงอายุฉีดแอสตร้าฯเข็มแรก เข็มต่อไปยังเป็นแอสตร้าฯ

เมื่อถามว่าผู้สูงอายุยังกังวลกรณีฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เมื่อฉีดแอสตร้าฯไปแล้วเข็มแรก กรณีเข็มที่สองยังคงเป็นแอสตร้าหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้สูงอายุฉีดแอสตร้าฯ ไปแล้วเข็มแรก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่สอง เนื่องจากไม่มีคำแนะนำสลับในรูปแบบเริ่มต้นจากแอสตร้าฯ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org