ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กทม.และเครือข่ายส่งชุด "CCR Team" ลงพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในเขตเมืองค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 แก้ปัญหาการเข้าถึงตรวจหาเชื้อและผู้เสี่ยงสูง พร้อมดูแลผู้ป่วยโควิดแยกกักที่บ้าน และชุมชนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 ก.ค.2564 ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาที่พบในการจัดการผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือที่เรียกว่า Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน ที่เรียกว่า Community Isolation (CI)

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ปัญหาที่พบมี 2 เรื่องที่สำคัญคือ 1. ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความซับซ้อน เช่น ในเขตเมือง มีประชาชนจำนวนมาก เจ็บป่วยไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการได้เลย ในขณะที่ทีมสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ ก็เข้าไปไม่ถึง

2. ปัญหาการดูแลสุขภาพ การให้วัคซีน การรักษาพยาบาล รวมทั้งการตรวจค้นหาเชิงรุก ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความหลากหลายของหน่วยงาน ดังนั้นภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ และยังมีเรื่องของ อุปโภค บริโภคหรือแม้กระทั่งความเป็นอยู่ พบว่าลูกติดเชื้อแต่ยังต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ ย่า ที่อาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกันอีกด้วย ทั้งหมดนี้จะเป็นความซับซ้อนในการแก้ไขปัญหา ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นปัญหาดังกล่าว เราจึงมีทีม Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team เกิดขึ้น

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า CCR Team จึงมองว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีแดงนี้ สามารถพาพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยดังกล่าว มาที่โรงพยาบาลได้เพื่อให้ได้รับการรักษา และยังมีผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการอาจถึงขั้นรุนแรงและเสี่ยงที่จะเสียชีวิต ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่มีอาการรุนแรงไปถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญอย่างมากที่เกิดขึ้นในชุมชนมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกันจะทำอย่างไรให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่สามารถไปแพร่เชื้อต่อบุคคลอื่นได้

“การดำเนินการดังกล่าว เราได้ลงพื้นที่ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เป็นหน่วยทดลองลงไปในพื้นที่จริงร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 8 ต้องขอบคุณทางกรุงเทพมหานครอย่างยิ่งที่เข้ามาร่วมดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงหน่วยบริการปฐมภูมิซึ่งมีภาคเอกชนเข้ามา และในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความซับซ้อนนั้น เราได้เน้นพื้นที่เฉพาะที่กำลังประสบปัญหาและจัดทีมเคลื่อนที่เข้าไปดำเนินการประเมินและตอบสนองโดยเร็ว” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

นอกจากนี้ เราจะมองปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เป็นตัวตั้ง มองถึงคุณปู่ คุณย่า พ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกมาได้ ดังนั้นการแก้ปัญหานี้เป็นของระบบปฐมภูมิ สำหรับในเขตเมืองในภาวะที่วิกฤตแบบนี้เเราจึงได้นำทีมดังกล่าวได้เข้าไปทำการรักษาและมีการแจ้งกับเจ้าหนาที่เพื่อทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับการทำ Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน ที่เรียกว่า Community Isolation (CI) เราได้เข้าไปสอบถามสภาพปัญหาและได้มีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยเราจะทำความเข้าใจกับชุมชนตลอดว่าถึงแม้ผลตรวจจะเป็นลบ ก็ต้องป้องกันและปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งคัด เช่น การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และดูแลสุขภาพอยู่ตลอด

 “ผู้สูงอายุในชุมชนที่ซับซ้อนเหล่านี้เกือบ 100% ไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะลงทะเบียนไม่เป็น หรือลงทะเบียนได้แต่ไม่มีผู้พาไปฉีดวัคซีน หากไม่ดำเนินการฉีดวัคซีนภายในระยะเวลานี้ ภายใน 7-14 วัน ภาพสถานการณ์ไม่เกิน 1 เดือนข้างหน้า กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้อาจติดเชื้อ ซึ่งจะมีโอกาสอาการรุนแรง เสียชีวิตได้” นพ. รุ่งเรือง กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้การดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้เราต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพราะจำนวนการติดเชื้อไม่ได้ลดลงเลย ในขณะเดียวกันในหลายประเทศได้เน้นฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุนั้น ปรากฏว่าผู้ที่ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตมีอัตราลดลง

“อย่างไรก็ตาม ทีมที่ลงพื้นที่สิ่งที่สำคัญคือ การดูแลอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าจากวันที่เราไปลงพื้นที่ ถ้าเรามีการดูแลอย่างต่อเนื่องบางคนพร้อมที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยจะมี แพทย์ พยาบาล เข้าไปให้คำปรึกษาอยู่ตลอด การเข้าไปพูดคุยแนะนำการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง หากป่วยหนักจะส่งระบบยารักษา มีทั้งยาเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ ถึงหน้างานด้วย ขณะเดียวกันต้องขอบคุณทางกรุงเทพมหานครโดยสำนักงานอนามัยทั้ง 69 แห่ง รวมถึงหน่วยงาน สปค. ในพื้นที่ที่เข้ามาดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชนด้วย” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

“สิ่งสำคัญที่จะสำเร็จได้คือการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนทรัพยากรที่พร้อมในการทำงาน ขณะนี้มีทีม 188 ทีม เราพร้อมที่จะขยายไปทั่วประเทศในพื้นที่เขตเมืองทั้งหมด และจะขยายมากขึ้นด้วย” นพ.รุ่งเรือง กล่าว

วันนี้ทีม CCR Team ที่ลงไปจะสามารถแก้ไขปัญหาโดยภาพรวมในการบูรณาการดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายอย่างน้อย 188 ทีมในการเข้าถึงปฏิบัติงานเชิงรุก ท่านสามารถขอความช่วยเหลือหรือแจ้งให้ทีมเราลงไป ณ พื้นที่ได้ ผ่านทางหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ หรือติดต่อ 1669