ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผศ.ดร.ธนยศ สุมาลย์โรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภายในเดือนส.ค.นี้จะเปิดเว็บไซต์เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ ซึ่งมุ่งเน้นให้กับผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีนักวิชาการมาให้ความรู้ในด้านต่างๆ สามารถดาวน์โหลดเป็นคู่มือ หรือแนวทางสร้างความเข็มแข้งทางใจเพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง

“จุดเริ่มต้นของโครงการทำมาแบบ on site แต่พบว่ามีข้อจำกัด จึงได้กำหนดขึ้นมาให้เป็นวัคซีนใจ พัฒนาออกมาเป็นรูปแบบเว็บไซต์ช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ สามารถเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง ช่วยให้คนฟันฝ่าวิกฤตทั้งภายนอกและภายใน แม้จะมีจุดเริ่มมุ่งเป้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่การนำเว็บไซต์ไปใช้ในทางปฏิบัติสามารถนำไปใช้กับบุคคลธรรมดาโดยเข้าไปเรียนรู้และใช้เว็บไซต์ได้ สามารถดาวน์โหลดเป็นคู่มือได้ เราทำเป็นคลิปวีดีโอนำนักวิชาการมาให้ความรู้ โดยจะมีการนำเสนอเว็บไซต์ในเดือน ส.ค.นี้" ผศ.ดร.ธนยศกล่าว

ผศ.ดร.ธนยศ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ 6 จังหวัดที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ เพื่อเก็บข้อมูล พบว่าคนในพื้นที่มีความเข้มแข็งอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะการมีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นตัวอย่าง ซึ่งทำให้ภาคท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆเชื่อว่าศักยภาพของตนเองก็สามารถทำได้

"เราเก็บข้อมูลตั้งแต่พนักงานระดับล่าง พบว่าคนพร้อมจะให้กำลังใจตัวเองและบุคคลรอบข้าง หลายๆคนไม่คิดสั้น และยังอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อ เขาเชื่ออย่างมากว่าสถานการณ์จะหนักขนาดไหนเขายังมีครอบครัว มีลูกค้าเก่าๆ เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้พร้อมจะสู้กับเขาจนถึงวันฟ้าเปิด ทุกคนเชื่อว่าจะมีวันสิ้นสุด โดยมีภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็น milestone เมื่อเห็นว่าภูเก็ตทำได้ เขายังเชื่อว่าจังหวัดเขาก็ต้องทำได้" ผศ.ดร.ธนยศ กล่าว

นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่แล้วได้ทำการรวมตัวเลขการท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ พบว่า in bound ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยว 6.7 ล้านคน เฉพาะใน 3 เดือนแรกเท่านั้น ส่วนอีก 9 เดือนหลังนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่หลักพันคนเท่านั้น

"การท่องเที่ยวในประเทศติดลบ 55 % ภาพรวมตัวเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 8 แสนล้านบาท ติดลบ 73 ส่วนในปีนี้สภาอุตสาหกรรท่องเที่ยวประเมินน่าจะเหลือ 8.3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดที่เคยมีมา จะมีการสร้างรายได้ 2.2 แสนล้านบาท หลังจากที่ติดลบ 24 เดือนเต็มๆ ลดลงกว่า 80 % เรายังมีการเก็บข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นภาคการท่องเที่ยวพบว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 11 จาก 100 ปกติหากดัชนีความเชื่อมั่น 70 ก็ถือว่าแย่แล้ว คาดว่าไตรมาสหน้าจะอยู่ที่ 33 รายได้จากการเปิดกิจการเหลือ 50 % ซึ่งเป็นการเปิดเพียงบางส่วน อาจจะมีรายได้ 75%ทำให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะนำมาจ่ายเงินให้กับพนักงานได้ไม่เกิน 50% โรงแรมบางแห่งจ่ายเงินให้พนักงานแค่ 25% เท่านั้น พนักงานเองก็เข้าใจเพราะเห็นว่าเจ้าของโรงแรมก็ควักเนื้อจนหมดแล้ว" นายกิตติ กล่าว

ประธานอนุกรรมการ Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่าได้มีการสอบถามกับผู้ประกอบการถึงไตรมาสต่อไปที่จะมีการเปิดประเทศ 64% บอกว่าคงอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน จากเดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป หากไม่มีมาตรการ Soft loan และจะเหลือผู้ประกอบเพียง 11% เท่านั้น

"ช่วงเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คนภูเก็ตมีความหวังมาก แม้ว่าวันแรกที่เปิดจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 300 คนต่อวัน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปวันละ 3 หมื่นคน คนภูเก็ตมองมัลดีฟส์เป็นต้นแบบ โดยคนในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆก็มองภูเก็ตเป็นต้นแบบ ขวัญกำลังใจคนท่องเที่ยวดีกว่าปีที่แล้ว เพราะเห็นปลายทาง รู้ว่ากลไกในการเปิดจังหวัดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะภูเก็ตเพราะเขาเคยเป็นแชมป์มาก่อน เมื่อโดนต่อยน็อคลงไปการกลับมาจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว"

"ผมสัมผัสได้ว่าสัปดาห์นี้คนท่องเที่ยวเสียกำลังใจมากที่สุด ส่วนการฟื้นฟูในระยะกลางถ้าโควิดดีขึ้นเราอยากให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาการเยียวยาจากรัฐส่วนใหญ่คนภาคท่องเที่ยวจะไม่ได้ กู้ก็ไม่ผ่าน ซึ่งตรงนี้เราชินแล้ว เราขอแค่มีงานก็พอ ผู้ประกอบการถ้าปิดโรงแรมต้นทุนก็ติดลบ ไม่หวังกำไรแล้วในปีนี้ขอแค่มีรายได้ให้พนักงานก็พอ นอกจากนี้หากจะมีการช่วยแชร์หรือสร้างคอนเทนต์ดีๆให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คอนเทนต์ในโซเชียลตามคอนเซ็ปท์ที่เรียกว่าเที่ยวทิพย์ แชร์สถานที่ที่เคยไปใช้บริการ แค่เราเห็นเราก็ดีใจแล้ว หากมีอะไรให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือเช่น ชวนเชฟทำอาหารไปสอนนักศึกษา หลายคนยินดีช่วย ทำให้เขาได้ภาคภูมิใจ ที่เรียกว่า Self esteem ให้เข้ารู้สึกว่าเขายังมีคุณค่าอยู่ ไม่ได้เงินก็ไม่เป็นไร คนในภาคการท่องเที่ยวต้องการแค่นี้ เพราะยังมีทักษะอื่นๆที่มีประโยชน์นำไปพัฒนารูปแบบต่างๆในเชิงสุขภาพก็ได้" นายกิตติ กล่าว

ด้าน ดร.ศรัณย์ พิมพ์ทอง อาจารย์สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า วัคซีนใจเป็นโครงการพัฒนาสุขภาวะทางด้านจิตใจในกลุ่มเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและ SME หลังจากในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 แล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่หายไปส่งผลต่อผู้ประกอบการจนถึงพนักงานระดับล่าง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันหมด เศรษฐภาวะลดน้อยถอยลงจนเกิดความเครียดเรื้อรังมา 2 ปี

ดร.ศรัณย์ อธิบายว่าโครงการนี้เป็นการใช้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก เป็นภูมิทางจิตวิทยาเชิงบวก หรือที่เรียกว่า HERO เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เป็นผู้บริหารไปจนถึงพนักงานที่ไม่ได้สะดวกจะใช้เว็บไซต์ โดย HERO มาจาก Hope สร้างความหวัง สร้างเป้าหมายที่เป็นจริง วัดผลได้ มีความเฉพาะเจาะจง และต้องสำเร็จได้ Educacy รับรู้ความสามารถของตัวเอง ให้เห็นต้นแบบที่คล้ายคลึงที่ผ่านวิกฤตและประสบความสำเร็จ เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ให้กำลังใจ สำรวจสภาวะอารมณ์ตัวเอง Recerience ฮึดอึดสู้ ซึ่งเริ่มใช้มาจากเหตุการณ์สึนามิ ในเว็บไซต์จะให้คนได้สำรวจปัจจัยภายในตัวเองว่ามีจุดเด่นอะไรบ้าง นิสัย ความคิด ที่บุคคลต้องตระหนักถึงขุมทรัพย์ภายในตัวเองให้ได้ Optimism ทำให้คนมีวิธีมองโลกในแง่บวก โดยเว็บไซต์จะมีวิธีให้ฝึก คิดอย่างไรถึงจะมีกำลังใจ

"จิตใจเราเป็นภาวะมีขึ้นมีลง วัคซีนใจฉีดแล้วก็มีภูมิ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปภูมิอาจลดลง วัคซีนใจที่พัฒนานี้สามารถเติมได้ทุกตัวไม่เหมือนวัคซีนจริง วันนี้ทุกข์ พรุ่งนี้ก็สุข อารมณ์เป็นสภาวะ ไม่มีอะไรเป็นสีขาวหรือสีดำตลอด วิกฤตนี้ทุกภาคส่วนเจอด้วยกันหมด เราต้องปรับตัวให้ได้" อาจารย์สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดโควิดส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยว ร้านอาหารยังมีความเป็นไปได้แม้จะปิดหน้าร้านแต่ยังมีเดลิเวอรี่ แต่ภาคท่องเที่ยวต้องปิดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ การระบาดทำให้โรงแรมต้องปิดส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยจนถึงขนาดกลาง ทาง สสส. มองว่าการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่เรียกว่าวัคซีนใจ อึด ฮึดสู้ จะสร้างวิธีการเติมพลังในการใช้ชีวิตอยู่บนจิตวิทยาเชิงบวกให้กับคนที่อยู่ในภาคท่องเที่ยว