ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการสหภาพพยาบาลฯ สะท้อนผลกระทบที่ได้รับจากโควิด พยาบาลทำงานหนักเพิ่มขึ้นหลายเท่า! เสี่ยงติดเชื้อ ซ้ำร้ายอาจเสียชีวิต ที่สำคัญยังขาดเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันตัวเองในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะชุดปกป้องระบบทางเดินหายใจขั้นสูง (Powered Air Purifying Respirator:PAPR) วอนรัฐจัดหาเข้าพื้นที่โดยเร็ว!

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับโควิด “พยาบาล” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ทำงานตรงนี้ นางสาวปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เล่าถึงหน้าที่การปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ในภาคอีสาน ขนาด 10-90 เตียง ที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเจอในการปฏิบัติงานครั้งนี้

นางสาวปุญญิศา กล่าวว่า ตั้งแต่มีโรคระบาดโควิดเข้ามา สำหรับภาระงานที่ได้รับผิดชอบ คือในส่วนของการบริการไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยโควิดและประชาชนทั่วไปที่เข้ารับบริการ งานเราจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 100 เท่า โดยถ้าเป็นโรงพยาบาลชุมชน จะเป็นการร่วมมือเครือข่ายทั้งอำเภอ โดยจะมี อสม. อสส. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) รวมถึงฝ่ายปฐมภูมิร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ ที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข รวมถึงเจ้าพนักงานสาธารณสุขด้วย ซึ่งจะคอยรายงานผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เมื่อมีปัญหาจะทำการติดต่อศูนย์ center หรือทางโรงพยาบาล ว่าแต่ละรายมีความเสี่ยงระดับใด

หลังจากนั้นส่งทำการเก็บตัวอย่าง Swab ตรวจเชื้อ แบบรวดเร็วบริเวณจมูก ทราบผลในวันเดียว และแบบ RT-PCR บริเวณลำคอและโพรงจมูกแม่นยำกว่า แต่รอผลตรวจ 2-3 วัน ช่วงแรกเราทำวันละจำนวนไม่มากก็เสร็จ แต่ปัจจุบันเราทำวันละเกือบ 200 ราย หากเมื่อไหร่ที่มีคลัสเตอร์ใหญ่ในชุมชน สถานที่ไม่เพียงพอจึงได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการเป็นรถเคลื่อนที่ เราจะเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆ โดยจะมีทั้งแพทย์พยาบาลรวมถึงนักวิชาการสาธารณสุขที่เข้ามาช่วยงานในส่วนนี้

นางสาวปุญญิศา กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยมีประวัติเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เป็นอาการไข้ทั่วไป เราก็จะมีการแยกผู้ป่วยไว้ตามแผนกที่จัดตั้งไว้แยกจากผู้ป่วยปกติ ถ้ามีคนไข้ฉุกเฉินอาการหนัก ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หากคนไข้มีอาการเชื้อลงปอดหรือมีอาการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทางโรงพยาบาลชุมชนจะไม่มีอุปกรณ์พร้อม ขณะที่รอผลตรวจ บุคลากรจะช่วยเหลือแทนเครื่องมือช่วยหายใจและใส่ชุด PPE ที่ร้อนและอึดอัดเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ระหว่างการดูแลใช้บีบด้วยมือ Ambu Bag ไปด้วยหรือการช่วยฟื้นคืนชีพ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจคอยผลตรวจหรือเคลียร์เตียงรองรับ เพื่อรอส่งต่อคนไข้ไป รพ. จังหวัดได้นั้น แพทย์ พยาบาล เสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด

ซึ่งเป็นปัญหาหนักต่อบุคลากรที่ต้องใส่ชุด PPE นานๆ บางคนถึงขั้นหมดสติไป เพราะว่าชุด PPE นั้นจะใส่ในระยะสั้นๆ ถ้ามีชุด PAPR เป็นชุดที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานนานๆ จะเป็นผลดีมาก แต่โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศแทบจะไม่มีเลย จะมีแค่ ICU ซึ่งตอนนี้พวกเราต้องการมาก แม้ในโรงพยาบาลสนามเราก็ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลยแต่อย่างใด ตอนนี้เราอยู่ได้ เพราะมีภาคประชาชนและเอกชน มีส่วนร่วมนำมาบริจาคเยอะมาก มีทั้งชุด PPE หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์เครื่องมือทางแพทย์ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งยังทำการเพิ่มตึก COHORT เพิ่มจำนวนเตียงจากเดิม โดยยุบเตียงผู้ป่วยทั่วไปลง เช่น จาก 40 เตียง เพิ่มประมาณ 120 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่และเดินทางมาขอรับการรักษาจากพื้นที่เสี่ยงที่เตียงล้น โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มอาการน้อย หรือไม่มีอาการ 2. ผู้ป่วยสีเหลือง คือ กลุ่มอาการป่วยปานกลาง ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง รับการรักษาตามมาตรฐานอย่างน้อย 14 วัน และ 3. ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ กลุ่มมีอาการหนัก

ซึ่งมีพยาบาล 2 คนต่อผู้ป่วย 40 คนในเวรเช้า เวรบ่าย/ดึก พยาบาล 1 คนต่อผู้ป่วย 40 คน แพทย์เวรต้องดูแลผู้ป่วยในตึกรับไว้นอน เพิ่มเป็น 200 คนต่อวัน จากเคยดูแล วันละ 20-40 คน และสำหรับผู้ป่วยนอกที่เป็นโรคเรื้อรังหรือมีความจำเป็นที่ต้องรับยา ทางโรงพยาบาลจะจัดสรรยาทั้งหมดทำการส่งคนไข้ถึงที่บ้าน ส่วนโรคทั่วไปพบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงเยอะ เนื่องจากผู้ป่วยเองไม่อยากเข้ามารับเชื้อที่โรงพยาบาล

นางสาวปุญญิศา กล่าวต่อว่า สิ่งที่เราต้องการและจะสามารถทำงานต่อไปได้คือ ขอวัคซีน mRNA ป้องกันพวกเรา เพราะถ้าต่อให้ระวังแค่ไหน แต่ก็มีช่วงเหตุการณ์ที่พลาดพลั้ง เช่น จากการปกปิดประวัติของผู้ป่วย แต่ถ้าเราได้มีวัคซีนที่ดี สร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ก็ทำให้พวกเรามีความมั่นใจในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ออกมาเรียกร้อง 7 ประเด็นคือ 1. จัดตั้งกองทุนสวัสดิการบุคลากรสาธารณสุข 2. เพิ่มความคุ้มครองจากเดิมเป็น 10 เท่า เช่น เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด เป็นเงิน 4 ล้านบาท 3. เร่งจัดหาวัคซีน mRNA ให้แก่พยาบาลทุกคน และเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขทุกคน 4. เพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทนบำเหน็จกรณีพิเศษแก่พยาบาลทุกคนที่ป่วยหรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ 5. เพิ่มเวลาราชการทวีคูณ แก่พื้นที่สีแดงเข้มและควบคุมสูงสุด 6. ขยายตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญ เพิ่มจากเดิม 100 % 7. จัดหาอุปกรณ์การป้องกันชุดที่เพียงพอ และทั่วถึง ได้แก่ 1. ชุด Surgical Gown 2. ชุด Coverall และ 3.ชุด PAPR ชุดป้องกันเชื้อพร้อมเครื่องกรอง ชุด PAPR ชุดเกราะสู้โควิด

“ ถึงแม้อัตรากำลังเพิ่มไม่ได้ ถ้ามีขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพอย่าให้พยาบาลที่มีประสบการณ์สูงดูแลคนไข้หนักอยู่ใน ICU และที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ที่มีจำนวนมากขึ้นทวีคูณต้องอยู่ในตำแหน่งชำนาญการไปตลอด เมื่อไหร่ที่แรงหมดโดยไม่มีสิ่งที่จะมาชดเชย จะทำให้พยาบาลเก่งลาออก คนไข้จะไม่ปลอดภัย แรงจูงใจในการทำงานมันต้องมีให้บ้าง ” นางสาวปุญญิศา กล่าว

“สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ทุกคนหน้างาน จะต้องได้รับ ชุดอุปกรณ์ป้องกันและการป้องกันขั้นสูงด้วยชุด PAPR และขอวัคซีน ทุกคน รวมไปถึงประชาชนทุกคนก็ควรจะได้รับวัคซีนด้วย มันถึงจะสามารถหยุดการระบาดเชื้อโควิดได้” นางสาวปุญญิศา กล่าว