ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.บุษราคัม เผยข้อมูลรักษาผู้ป่วยโควิดสะสมกว่า 1.4 หมื่นรายตลอด 82 วัน พร้อมตั้งไอซียู 17 เตียงรองรับกลุ่มวิกฤตสีแดง ขณะเดียวกันปรับระบบการทำงานเพื่อลดภาระงาน และลดการสัมผัสผู้ติดเชื้อของพยาบาลที่เข้าปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวในการแถลงข่าวผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” ว่า รพ.บุษราคัม ได้เปิดให้บริการมา 82 วัน มีผู้ป่วยสะสม 14 ,213 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 11,000 คนโดยประมาณ ปัจจุบันยังนอนรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 3,333 คน มีผู้ต้องใช้ออกซิเจนประมาณ 450 คน โดยเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประเภทไฮโฟล์ 169 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 2 คน เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมามีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 287 ราย แต่ก็รับเข้ามาใหม่ 378 ราย ข้อสังเกตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยใช้เครื่องออกซิเจนลดลงปกติใช้ 750 ราย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ช่วงค่ำเหลือ 450 ราย แต่ยังคงมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟล์อยู่ประมาณ 160 ราย เฉลี่ยมีผุ้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 8-10 คนต่อวัน

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ในทุกๆ วันจะมีผู้ป่วยในระดับวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่โดยตลอด การส่งต่อไปยังรพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่าต้องรอคอยนาน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องเตียงไอซียูในกทม. และปริมณฑล ทำให้รพ.บุษราคัมต้องดูแลผู้ป่วยหนักตลอด ส่งต่อยากมาก ซึ่งเดิมรพ.ไม่ได้จัดระบบดูแลผู้ป่วยวิกฤต แต่ที่ผ่านมาเราต้องดูแลตลอด ที่ประชุมศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุขจึงอนุมัติให้ตั้งไอซียูที่รพ.บุษราคัม ซึ่งขณะนี้ตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้พื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง มีทั้งหมด 17 เตียง เป็นหอผู้ป่วยไอซียู 13 เตียง อีก 4 เตียงเป็นห้องแยกผู้ป่วยความดันลบ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่นี่ ในส่วนที่เป็นคนไข้หนักที่ต้องดูแลใกล้ชิดภายในเป็นโครงสร้างกึ่งถาวรมีอุปกรณ์เทียบเท่ามาตรฐาน ICU ครบกันมีทีมแพทย์เฉพาะทางที่พยาบาล ICU ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเข้ามาปฏิบัติหน้าที่

“วันนี้(4 ส.ค.) มีการรับผู้ป่วยอาการหนักภายในรพ.บุษราคัมมาที่ไอซียู โดยเปิดใหม่ 3-5 คน เพื่อเป็นดูแลก่อน และประเมินผล หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีก็จะทยอยรับผู้ป่วยอาการหนักเข้ามาเต็มศักยภาพคือ 17 เตียง” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว และว่า เราไม่ปฏิเสธ รับทุกคน กรณีมีเกณฑ์ต้องห้ามเข้ารพ.บุษราคัม ก็จะมีการประสานให้ได้รับการดูแลในระบบต่อไป

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาได้มีการทำความสะอาด บริเวณพื้นที่บริเวณแรกรับผู้ป่วยโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มาช่วยทำความสะอาดพื้นที่ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่ให้บริการมายังไม่เคยได้รับการทำความสะอาดเลย จากนี้จะมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอบริเวณสถานที่แรกรับ นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่แยกส่วนเป็นพื้นที่ผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยที่แข็งแรงกว่าผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางเป็นส่วนส่วนเพื่อเข้ารับบริการเป็นช่องทางด่วน ส่วนห้องน้ำ ห้องส้วมประสานไปยังรพ.พระนั่งเกล้าในการจ้างพนักงานทำความสะอาดเพิ่มขึ้น และเพิ่มรอบการทำความสะอาดถี่ขึ้น

“ ได้มีการปรับระบบการทำงานเพื่อลดภาระงาน และลดการสัมผัสผู้ติดเชื้อของพยาบาลที่เข้าปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย โดยเมื่อผู้ป่วยเข้ามาที่จุดแรกรับถ้าพิจารณาแล้วจำเป็นต้องเจาะเลือดก็ให้เจาะที่จุดแรกรับเลย ไม่ต้องย้ายไปเจาะในหอผู้ป่วยและให้รับยาที่จำเป็นเช่นฟาวิพิราเวียร์ หรือยาอื่นๆ ตั้งแต่จุดแรกรับ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือการย้ายผู้ป่วยซึ่งเป็นงานหนักสำหนักพยาบาลก็ได้เพิ่มกำลังพลเข้าไปเสริม มีการเพิ่มเตียงลมสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ขยับตัวลำบาก เพื่อป้องกันแผลกดทับ และมีการ ปรับปรุงเตียงที่ชำรุดจากการใช้งานมาระยะเวลาหนึ่งด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าหากต้องการมารักษาที่รพ.บุษราคัม ต้องติดต่ออย่างไร นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องนำเรียนว่า เมื่อถึงเกณฑ์การรักษามาตรฐานกรมการแพทย์ เมื่อครบแล้วเราจะให้กลับบ้าน จากนั้นก็จะมีการรับผู้ป่วยใหม่ เพื่อให้ใช้เตียงที่มีภายใต้ทรัพยากรบุคคลที่เรามีอยู่ โดยจะรับให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการรักษาของรพ.บุษราคัม นั้น จะรับผ่านคอลเซนเตอร์ต่างๆ ทั้ง 1330 , 1668 และ 1669 รวมทั้งจากรพ.โรงเรียนแพทย์ใน กทม. จากรพ. สังกัดกรมควบคุมโรค สังกัดกรมการแพทย์ และจะรับผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆที่ส่งเข้ามา แต่อาจมีเพิ่มเติมจากองค์กรมูลนิธิต่างๆ หรือเอ็นจีโอที่เป็นจิตอาสา เป็นเครือข่ายในการนำผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์มารักษา