ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ อย.แจงข้อสงสัย หลังบริษัทเอกชนส่งหนังสือถึงผอ.รพ.เอกชน ระบุถูกงดเว้นการกระจายยาเรมเดซิเวียร์ (Remdisevir)

จากกรณีที่พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ภาพประกาศของบริษัทแห่งหนึ่ง ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เรื่อง งดเว้นการกระจายยาRemdisevir ที่ส่งถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุข้อความว่า “ยาฉีดพิฆาตcovid ที่ดื้อต่อฟาวิพิราเวีย วันนี้โดนห้ามขายให้เอกชน”และระบุด้วยว่า “ยานี้โรงพยาบาลทุกแห่งควรต้องมีไว้ใช้กรณีคนไข้ได้รับยาฟาวิพิราเวียแล้วไม่ตอบสนอง ถือเป็นไม้ตาย เดิมซื้อได้ในทั้งภาครัฐและเอกชนตอนนี้มีคำสั่ง 24ก.ค.64จำหกัดห้ามขายเอกชน ซึ่งจะทำใหห้คนไข้ที่จะเข้าถึงยาในภาคเอกชนยากขึ้นแน่นอน ควรหาทางป้องกัน ก่อนเกิดปัญหาขาดยาให้ผู้ป่วยเพราะระบบการเบิกจ่ายรัฐไม่รวดเร็วพอ”นั้น

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน หมายความในข้อบ่งใช้ทั่วโลกยังไม่ชัดเจนว่าจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์อย่างไร เพราะฉะนั้นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยปกติทั้งวัคซีนหรือยา ช่วงที่ฉุกเฉินก็มีการจำกัด ต้องมีการกระจายให้กับทั้งหมดทุกภาคส่วนทั้งหมด โดยยาตัวนี้ในช่วงแรกมีการซื้อโดยใช้เงินของรัฐบาลในการซื้อยา และกระจายให้กับรพ.รัฐและเอกชนทั่วประเทศ ในช่วงที่ผ่านมามีเอกชนได้รับการกระจายยานี้ฟรีไปแล้วมากกว่า 2,600 ไวอัล(ขวดบรรจุยาขนาดเล็ก) ซึ่งการกระจายจะเป็นไปตามข้อบ่งใช้ของกรมการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญของประเทศเป็นผู้พิจารณากำหนด จึงกระจายไปตามข้อบ่งใช้

00 ช่วงแรกส่งยาเรมเดซิเวียร์ให้เอกชน 70 กว่าแห่ง

“ในปี 2563 ประเทศไทยมีการซื้อยานี้เข้ามา แต่ข้อบ่งใช้ไม่มี เพราะองค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ให้ใช้ แต่ต่อมาในผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่ามีประโยชน์บางจุด จึงมีการสำรองไว้ระดับหนึ่งและมีการกระจายไปให้ภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทที่เข้ามาเป็นได้รับอนุญาตเป็นผู้นำเข้ายานี้ในช่วงแรกก็มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นเอกสารที่กำหนดในช่วงแรกจึงกำหนดว่าต้องกระจายให้กับภาครัฐ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะรพ.ของรัฐ แต่หมายถึงกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ซื้อมา แล้วก็กระจายตามข้อบ่งใช้ไปทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งมีรพ.เอกชน 70 กว่าแห่งได้รับการกระจายยาเรมเดซิเวียร์ไปแล้ว”นพ.สุรโชคกล่าว

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ช่วงแรกยาเรมเดซิเวียร์ในประเทศอินเดียไม่ให้มีการส่งออกมา แต่ประเทศไทยมีการเจรจาได้มาระดับหนึ่งและมีการกระจายได้ทั่วถึง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาที่ภาครัฐต้องมีกระจายยาเอง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยาแต่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถที่จะซื้อเพื่อมากระจายให้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนได้ เพราะบริษัทที่กระจายไม่รู้ ไปกระจายให้กับบางแห่งมากเกินไป การที่อย.มีประกาศย้ำเตือนในช่วงนั้นเนื่องจากปริมาณยามีไม่มาก

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

00 รัฐไม่ต้องช่วยกระจายยาอีก รพ.เอกชนสามารถจัดซื้อกับบริษัทได้ แต่ต้องมีระบบติดตาม

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ขึ้นทะเบียนนำเข้ายาตัวนี้ในประเทศไทยมากขึ้นเป็น 4 ทะเบียน ผู้ติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้ง ข้อบ่งใช้มีการปรับเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องช่วยการกระจายแล้ว เนื่องจากมีบริษัทที่สามารถจำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ เหตุการณ์ต่างๆเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆก็เปลี่ยนไป ก็ต้องมีการปรับ โดยบริษัทสามารถไปขายให้ภาคเอกชนได้ แต่บริษัทยา แพทย์ หรือโรงพยาบาลนั้นที่ซื้อยาไป จะต้องมีการเฝ้าระวังหลังการกระจาย โดยรายงานการใช้ว่าใช้กับใคร ใช้ในข้อบ่งใช้อย่างไร ใช้แล้วคนไข้เป็นอย่างไรกลับมายังอย. เพราะยาตัวนี้เป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน การศึกษายังไม่ครบสมบูรณ์

“เดิมยาตัวนี้คิดขึ้นมาเพื่อใช้รักษาอีโบลายังพิสูจน์เรื่องการรักษาอีโบล่ายังไม่ครบ แต่มีการนำมาใช้ในการรักษาโควิด ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บางประเทศก็ยอมรับในการใช้ บางประเทศไม่ยอมรับในการใช้ บางประเทศยอมรับในบางประเด็น ของประเทศไทยรับมาที่จะใช้บางข้อกำหนดที่มีการปรับไปเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการกระจายยาตัวนี้ฟรีไปให้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทำให้บางโรงพยาบาลหรือผู้จำหน่ายบางแห่งไม่ทราบกติกาตรงนี้มาก่อน ทำให้เอกสารที่ออกไปอาจจะไม่ตรง”นพ.สุรโชคกล่าว

00 ย้ำ! รัฐมีสำรองยาเรมเดซิเวียร์ กรณีฉุกเฉิน

นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ภาครัฐมีการสำรองยาเรมเดซิเวียร์ไว้มากพอระดับหนึ่งที่สามารถกระจายให้กับทุกรพ.ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ ซึ่งรัฐต้องสำรองไว้สำหรับกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่มีการจัดการจากส่วนกลาง อย่างที่เห็นก่อนหน้านี้กรณีหน้ากากอนามัยที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วว่า ถ้าให้ขายเองจะเกิดปัญหาบางแห่งซื้อได้ บางแห่งซื้อไม่ได้ ขณะที่สินค้ามีจำนวนเพียงพอ แต่มันถูกไปสำรองในบางจุดมากเกินไป ทำให้บางที่ไม่มี เพราะฉะนั้น สถานการณ์ภาวะฉุกเฉินต้องบริหารจัดการส่วนกลางระดับหนึ่ง เพื่อให้กระจายได้เพียงพอ และในส่วนที่เกินจากตรงนี้ ในบางรพ.ที่อยากจะใช้นอกจากข้อบ่งใช้ที่กรมการแพทย์กำหนดแล้ว ก็อาจจะสามารถซื้อจากบริษัทไปใช้ได้

“ขณะนี้ภาครัฐวางแผนจะซื้อเข้ามาประมาณ 1 แสนไวอัลสำหรับใช้ทั้งรพ.ภาครัฐและเอกชน เพราะเอกชนบางแห่งอาจจะหาซื้อไม่ได้ โดยเดิมมีอยู่ 1 หมื่นกว่าไวอัลก็มีกระจายไป ส่วนสัปดาห์นี้ก็เข้ามาอีก 1 หมื่นไวอัล ส่วนสัปดาห์หน้าองค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะมีการสั่งซื้อเข้ามาสำรองอีก 1 แสนกว่าไวอัลโดยจะมีการทยอยเข้ามา”นพ.สุรโชคกล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง