ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการนำเสนอข่าวพบผู้ติดเชื้อจากการเก็บขวดน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอาชีพขับซาเล้งเก็บขยะที่จังหวัดนครราชสีมานั้น  จากกรณีนี้นับว่ามีความเสี่ยงจากการใช้มือสัมผัสขวดน้ำพลาสติกที่อาจมีปนเปื้อนเชื้อโรคบนผิวสัมผัสได้ โดยเฉพาะหากพบขวดน้ำที่บรรจุหน้ากากอนามัยไม่ควรไปเก็บหรือสัมผัสอย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดการติดเชื้อจากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโควิดได้ รวมถึงอาจติดโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่อาจมีการปนเปื้อนมากับขยะ ส่วนเชื้อโควิด-19 ที่ติดอยู่กับภาชนะหรือวัตถุต่าง ๆ เช่น ภาชนะที่เป็นพลาสติก สแตนเลสสตีล จะอยู่ได้นาน 2-3 วัน สำหรับพื้นผิวที่เป็นกระดาษแข็ง ผ้าคอตตอน อยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง  ส่วนพื้นผิวทองแดง อยู่ได้นาน 4 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งจะอยู่ได้นานหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศชื้น แต่สภาพแวดล้อมในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนและมีแสงแดด อาจทำให้เชื้อโควิด-19 อยู่ได้ไม่นาน และ หากมีการสัมผัสขวดน้ำที่บรรจุหน้ากากอนามัยโดยไม่มีการล้างมือ แล้วนำมือไปสัมผัสกับใบหน้า ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ประกอบอาชีพเก็บของเก่า ขวดเก่าขาย จำเป็นต้องรู้จักวิธีการป้องกันตนเองขณะปฏิบัติงาน ดังนี้ 1) ให้สวมถุงมือขยะปฏิบัติงานทุกครั้ง หรือหากไม่สามารถหาถุงมือได้ ให้ใช้ถุงพลาสติกสวมแทน หรือให้ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ แทน เพื่อลดการสัมผัสกับมือโดยตรง  2) สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือขยะจากสารเคมีมาสัมผัสร่างกายได้ 3) ขณะปฏิบัติงานให้สวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา เพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อได้ง่าย และ 4) หลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง ให้ทิ้งถุงมือ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วในภาชนะที่ปิดสนิทหรือถุงพลาสติก โดยมัดปากถุงให้แน่น แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ และหลังเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน ผู้ปฏิบัติงานต้องอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดทันที

           “สำหรับการจัดการขยะทั่วไปอย่างถูกวิธีนั้น ขอให้ประชาชนคัดแยกมูลฝอยในครัวเรือนเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1) มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมนำไปทิ้งลงในถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขน และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป 2) มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ก่อนและรอจัดการในภายหลัง และ 3) มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับ เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขน นำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป ทั้งนี้ ขยะแต่ละประเภทขอให้ไปทิ้งในจุดรวบรวมขยะที่องค์กรปกครอง  ส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด