ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรมเร่งจัดหา Antigen Test Kit ให้ สปสช.ตรวจโควิด คาดภายในเดือนสิงหาคมเริ่มกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ พร้อมปรับแผนเพิ่มการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ รองรับการรักษาที่จ่ายยาเร็วขึ้น  เดือนสิงหาคม-กันยายน 2 เดือน 120 ล้านเม็ด  ตุลาคม-ธันวาคม  300 ล้านเม็ด และทยอยกระจายสู่หน่วยบริการแม่ข่ายตามการจัดสรรของศูนย์ PHEOC อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์วิฑูรย์  ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจาก โรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19  แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง(COVID-19 Antigen self-test  Test Kits : ATK ) จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) สำหรับใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดซื้อชุด ATK ดังกล่าว โรงพยาบาลราชวิถี สปสช.และองค์การฯ ได้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดหามีความชัดเจน โปร่งใส เกิดการแข่งขัน และเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ ได้ชุดตรวจATK ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด 

ล่าสุด สปสช.ได้ปรับข้อกำหนดคุณสมบัติ (Spec) ส่งให้องค์การฯดำเนินการจัดหา โดยเชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)มายื่นซองเสนอราคา ในวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 นี้ ซึ่งองค์การฯจะตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติต่าง ๆ และประกาศบริษัทผู้ชนะการเสนอราคา  พร้อมส่งให้โรงพยาบาลราชวิถีรับทราบราคา  ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  คาดว่าภายในสิงหาคม 2564 จะส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่าง ๆตาม  ที่ สปสช.กำหนดต่อไป

นายแพทย์วิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ชุดตรวจโควิด ATKที่จัดซื้อครั้งนี้ เป็นชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา -19 เชิงคุณภาพชนิดตรวจหาแอนติเจน(Screening Test)  สามารถอ่านผลการตรวจจากการเกิดแถบสีบนแถบทดสอบรู้ผลภายใน 30 นาที เป็นชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ โดยมีค่าความไว(Sensitivity) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งหมายถึง ผู้ติดเชื้อจริง 100 คน ตรวจด้วยชุดทดสอบนี้จะให้ผลบวกไม่น้อยกว่า 90 คน และมีความจำเพาะ(Specificity) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 98  ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่ติดเชื้อ 100 คน เมื่อตรวจด้วยชุดทดสอบแล้ว จะให้ผลเป็นลบไม่น้อยกว่า 98 คน และผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.

“องค์การฯ ไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืนหยัดที่จะทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการป้องกันต่างๆให้กับพี่น้องประชาชน” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

สำหรับการปรับแผนเพิ่มการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ รองรับการรักษาที่จ่ายยาเร็วขึ้น  เดือนสิงหาคม-กันยายน 2 เดือน 120 ล้านเม็ด  ตุลาคม-ธันวาคม  300 ล้านเม็ด และทยอยกระจายสู่หน่วยบริการแม่ข่ายตามการจัดสรรของศูนย์ PHEOC อย่างต่อเนื่อง
นพ.วิฑูรย์  กล่าวว่า  องค์การฯได้ทำการปรับแผนการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อรองรับการปรับเกณฑ์แนวทางการรักษาใหม่เพื่อจ่ายยาให้ผู้ป่วยเร็วขึ้น ได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยจะมีการเพิ่มการสำรองทั้งจากยาที่องค์การฯผลิตเองและจัดหาจากต่างประเทศ โดยเดือนสิงหาคม-กันยายน รวม 2 เดือน จำนวน 120 ล้านเม็ด  และเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพิ่มอีกเดือนละ100 ล้านเม็ด รวมจำนวน 300 ล้านเม็ด

โดยทั้งนี้จะมีติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้ใกล้ชิด เพื่อทำการปรับแผนการสำรองให้ทั้งการผลิตเองและจัดหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจำนวนยาทั้งหมดในข้างต้นจะมีการทยอยผลิตเองและจัดหาเข้ามาสำรองอย่างต่อเนื่อง   นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมได้จัดหายาแรมเดซิเวีย (Remdesivir) เป็น 2 แสนขวด และจะพิจารณาจัดหาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เพียงพอตามเกณฑ์การรักษาใหม่ โดยยาเรมเดซิเวียร์นั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาฉีดให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ ผู้มีปัญหาในการดูดซึมยา ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมอย่างรุนแรง  ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมดจะมีจัดสรรให้กับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลแม่ข่ายต่างๆ ตามการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) โดยกลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์และส่งกำลังบำรุง ผ่านระบบการบริหารคลังสินค้า  หรือ VMI  (Vender Management Inventory) ขององค์การเภสัชกรรม และองค์การฯเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งกระจายตามการจัดสรรให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่  ซึ่งหลังจากนั้น หน่วยงานแม่ข่ายจะทำการบริหารจัดการและกระจายให้แก่หน่วยบริการลูกข่ายในแต่ละพื้นที่ต่อไป