ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลการปฏิบัติการเชิงรุก CCR Team ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล มีทีมร่วมปฏิบัติการ 41 ทีมกับ 4 ภารกิจหลัก คือ ตรวจ ค้นหา รักษา และฉีดวัคซีน จากการร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายภาคประชาสังคมกรุงเทพมหานคร  โดยงานในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคมที่ผ่านมา จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าประมาณ 98% เราได้ตรวจ ATK ไปทั้งหมด 145,566 ราย มีผลบวก 16,186 ราย คิดเป็นอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.1 และเมื่อเปรียบเทียบผลตรวจผู้ติดเชื้อในการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าผลเป็นบวกครั้งที่ 1 คือ 9% ครั้งที่ 2 คือ 16.1% และครังนี้ 11.1% สะท้อนว่าอัตราติดเชื้อในชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นยังอยู่ในระดับที่ต้องติดตามและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 11 ส.ค. 2564 ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และทีม CCR TEAM ภูมิภาค กล่าวถึง ผลการปฏิบัติการเชิงรุก CCR Team ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ที่ผ่านมา

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เราได้สรุปและใช้คำเรียกขานว่า เป็นปฏิบัติการที่สร้างความหวังให้กับทุกคนในสถานการณ์โควิดที่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยใช้พื้นที่สีแดงเป็นตัวกำหนด โดยท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดชื่อทีมแล้วก็ได้สร้างสรรค์ Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CCR Team ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายภาคประชาสังคมกรุงเทพมหานคร ให้มีภารกิจกู้ภัยโควิดเชิงรุกพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง

โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14-16 กรกฎาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กรกฎาคม ในการปฎิบัติการครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคม มีทีมร่วมปฏิบัติการ 41 ทีม รวมผู้ปฏิบัติงานทั้งสิ้นจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 400 คน แต่ละทีมประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหวิชาชีพ ในการทำหน้าที่ร่วมกัน โดยมีการทำงานเชิงรุก 4 ภารกิจหลัก คือ ตรวจ ค้นหา รักษา และฉีดวัคซีน

ภารกิจที่ 1 คือ การใช้ชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐานทราบผลในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 30 นาที และเมื่อทราบผลว่ามีใครเป็นผู้ติดเชื้อก็จะมีการดำเนินการใน ภารกิจที่ 2 ทันทีคือการติดตามผู้สัมผัสเสียงสูงร่วมบ้านหรือร่วมชุมชน เข้ามาตรวจเพิ่มเติม เมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะนำเข้าสู่ภารกิจที่ 3 คือ มีการประเมินความรุนแรงโดยแพทย์ทุกราย ประเมินเสร็จก็จะให้การรักษา หากเข้าเกณฑ์การจ่ายยาเราจะให้ยารักษาด้วยฟาวิพิราเวียร์ทีนที หากไม่เข้าเกณฑ์เราจะให้ยาฟ้าทะลายโจรหรือคำแนะนำในการใช้ชีวิต และทุกคนจะได้รับการเข้าระบบ Home Isolation (HI)

นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ตรวจด้วย ATK แล้วเป็นบวก ก็ส่งยืนยันการตรวจซ้ำด้วย Rt พีซีอาร์ ส่วนที่อาจตรวจ ATK เป็นบวกจะมีการดำเนินงานในภารกิจที่ 4 ต่อ โดยประเมินว่าอยู่ในกลุ่ม 608 หรือไม่ เป็นผู้สูงอายุหรือไม่ เป็นผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังและเป็นคนท้องหรือไม่ จากนั้นจะฉีดวัคซีนให้กับทุกรายที่เข้าเกณฑ์ในส่วนที่ตรวจ ATK เป็นลบ นอกจากนี้เรายังลงไปตรวจถึงบ้านถึงชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานคร โดยงานในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคมที่ผ่านมา จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าประมาณ 98% เราได้ตรวจ ATK ไปทั้งหมด 145,566 ราย มีผลบวก 16,186 ราย คิดเป็นอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.1 และเมื่อเปรียบเทียบผลตรวจผู้ติดเชื้อในการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าผลเป็นบวก ครั้งที่ 1 คือ 9% ครั้งที่ 2 คือ 16.1% และครังนี้ 11.1%

สำหรับในเรื่องของความกว้างขวางความทั่วถึงในการตรวจครั้งที่ 3 นั้นได้มีการตรวจเข้าไปในชุมชนแออัด คอนโดมิเนียม ที่พักอาศัย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้วหลายร้อยชุมชน เมื่อผลการดำเนินงานปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ 11.1% นั้นสะท้อนว่าอัตราติดเชื้อในชุมชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นยังอยู่ในระดับที่ต้องติดตามและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง จากการประเมินอาการผู้ติดเชื้อ เราพบว่าที่อยู่ในระดับสีเขียวมีจำนวน 11,216 คน คิดเป็นร้อยละ 69.3 ในขณะที่ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็นร้อยละ 28.7 และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับสีแดงจำนวน 331 คน คิดเป็นร้อยละ 2 สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชน

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปว่าเรายังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในชุมชนเพื่อที่จะรักษาโดยเร็ว ส่วนในการดำเนินการฉีดวัคซีนครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7,761 คน ซึ่งเป็นการเติมเต็มช่องว่างของการเข้าถึงของผู้ป่วยที่รอฉีดวัคซีนและเขาไม่สามารถออกมาฉีดวัคซีนตามจุดต่างๆของกรุงเทพมหานครได้ ก็ทำให้เห็นว่าสถานการณ์ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังมีความน่าเป็นห่วง แต่มาตรการที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขกรุงเทพมหานครภาคประชาสังคมและชุมชนต่างๆนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้ความหวังในการควบคุมสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ เป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการตามแนวคิด CCR Team ยังคงต้องมีต่อไป แต่การระดมกำลังจากภูมิภาคเช่นนี้จะมีอีกหรือไม่นั้นก็จะมีการพิจารณาต่อไปอีกครั้ง