ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน” เปิดปฏิบัติการตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่พระภิกษุสงฆ์-สามเณร-ประชาชน ในพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ “แพทย์หัวหน้าทีม” ระบุ หากผลเป็นบวก สามารถเข้าระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนได้

คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช., นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ให้กับพระภิกษุสามเณร และบุคลากรวัดชลประทานรังสฤษฏ์ โดยมี ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นทีมตรวจ

สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 500 ราย แต่ได้มีการประเมินเผื่อไว้ในกรณีที่มีพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาตรวจด้วย โดยคาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 800 ราย ซึ่งได้มีการเตรียมชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อรองรับอย่างเพียงพอ

พระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี กล่าวว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกในครั้งนี้มีการปรึกษากันว่าจะต้องทำให้สมบูรณ์ เมื่อมีการตรวจแล้วพบเป็นบวกแต่ไม่มีอาการก็สามารถรักษาตามระบบได้ ขณะนี้วัดกู้ จ.นนทบุรี ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอย (Community isolation) รองรับได้ 60 เตียงและกำลังรอการขยาย ในกรณีถ้าเป็นสีแดงโรงพยาบาลชลประทานก็จะเข้าไปดูแล และมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้อุปถัมภ์ รวมไปถึงเทศบาลนครปากเกร็ดลงพื้นที่เข้าไปบริการดูแล

“ถ้าทำแบบนี้ได้การใช้วัดก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าจะเอาคนป่วยมาให้พระดูแล โดยที่พระเองก็ไม่รู้ ก็จะทำให้ยิ่งพัวพันโดยไม่จำเป็น” พระปัญญานันทมุนี กล่าว

พระปัญญานันทมุนี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านเคยมีการตรวจคัดกรองในวัดแล้ว และพบว่าผู้ที่เข้ามาช่วยเหลืองานในวัดนั้นครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 3 ราย ด้วยการจัดการยังไม่เป็นระบบที่ถูกต้อง และไม่มีการตอบรับ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอถึง 8 วันเนื่องจากระบบไม่เอื้ออำนวย

สำหรับสิ่งที่อยากเห็นคือ สปสช. เทศบาลนครปากเกร็ด โรงพยาบาลชลประทาน และคณะสงฆ์ จ.นนทบุรีลุกขึ้นมาตรวจเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับแบบไม่มีอนาคต รวมไปถึงถ้าในชุมชนสามารถขยายให้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หมดพระสงฆ์ก็จะได้ไปด้วย เพราะพระไม่ได้เรียกร้องสิทธิเฉพาะตนเองเท่านั้น

“อาตมาไม่อยากแยกว่าพระรอด ประชาชนต้องไม่รอด เราไม่อยากเห็นคนตายและวัดต้องทำหน้าที่เผา สุดท้ายไม่อยากเห็นแต่ก็ต้องเห็น การตรวจคัดกรอง มียาที่ใช้ดูแล และมีระบบอุปถัมภ์ อาตมาอยากเรียกร้องตรงนั้นมากกว่า” พระปัญญานันทมุนี กล่าว

นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักศูนย์ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า วัดชลประทานฯ เป็นพระอารามหลวง มีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทั้งที่อยู่ประจำและเวียนเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ทางพระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานสฤษดิ์ เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงอยากให้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพระสงฆ์ สามเณร ประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัด ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่วัด

นอกจากนี้ ทางเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ ยังได้ปรึกษากับรองเจ้าคณะจังหวัดเพื่อประกาศเชิญพระสงฆ์และสามเณรใน จ.นนทบุรี ที่ต้องการตรวจคัดกรอง ให้เดินทางมาตรวจได้ที่วัดชลประทานฯ โดยการตรวจครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างวัดชลประทานฯ เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี โรงพยาบาลชลประทาน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระสงฆ์และสามเณรที่ตรวจคัดกรองแล้วมีผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) หากเป็นกลุ่มอาการสีเขียวและได้รับการประเมินแล้วว่าสภาพกุฏิหรือสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม ก็สามารถรักษาตัวผ่านระบบ Home isolation ได้ แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะมีการส่งต่อไปรักษาด้วยระบบ Community isolation ที่วัดกู้ จ.นนทบุรี ซึ่งกำลังพัฒนาเป็น Community isolation สำหรับพระสงฆ์และสามเณรโดยเฉพาะ ส่วนกรณีที่เป็นพระสงฆ์และสามเณรที่อยู่นอกพื้นที่ก็จะมีระบบส่งต่ออย่างเป็นระบบต่อไป

สำหรับประชาชน ได้มีการประสานการทำงานกับเทศบาลนครปากเกร็ด โดยผู้ที่ผลตรวจเป็นบวกและอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวที่อยู่ในพื้นที่ปากเกร็ด ก็สามารถเข้ารักษาด้วยระบบ Home-Community isolation ได้ทันที แต่ในกรณีที่เป็นประชาชนนอกพื้นที่ ก็จะมีการประสานงานกับทาง สปสช. เพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามระบบต่อไป

“การตรวจคัดกรองครั้งนี้ทาง สปสช. ได้มีการสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจร รวมไปถึงโรงพยาบาลชลประทานก็เตรียมอุปกรณ์ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบปลายนิ้ว และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งพระสงฆ์ และประชาชนในกรณีต้องรักษาตัวด้วยระบบ Home isolation” นพ.ธนวัฒน์ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกนี้ นอกจากทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายแล้ว หากกรณีพบผลเป็นบวกก็ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ได้ทันที และหากมีอาการก็จะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง

สำหรับการเข้าระบบ Home Isolation สามารถทำได้ 2 วิธี คือผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 และลงทะเบียนเข้าระบบผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/ โดยขณะนี้สายด่วน 1330 มีการเพิ่มคู่สายเป็น 2,100 คู่สายต่อวัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากในกรณีที่คู่สายเต็ม เบอร์ที่โทรเข้ามาก็จะถูกเข้าคิวไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการติดต่อกลับในภายหลัง

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยเอง ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. นี้ และหากไม่เพียงพอก็จะจัดหาเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ด้วย โดย สปสช. พร้อมสนับสนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะแยกตัวผู้ป่วยออกมาดูแลรักษาได้อย่างเร็วที่สุด
 
สำหรับหน่วยบริการหรือคลินิกเอกชนที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในระบบ HI หรือให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK สามารถเบิกค่าบริการจาก สปสช.ได้ โดยกรณีตรวจด้วยเทคนิค Chromatography จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้ง และกรณีตรวจด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FLA) จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้ง