ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานอนุกรรมการบริหารวัคซีนฯ เผยสถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเสี่ยง “ผู้สูงอายุ -ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-หญิงตั้งครรภ์” อยู่ราว 30% ยังต้องเร่งดำเนินการฉีดให้ได้ตามเป้าหมาย คาดภาพรวม ส.ค.นี้ได้ 50% รับยังมีกลุ่มเสี่ยงกลัววัคซีน และไม่ต้องการฉีดสูตรไขว้ ขอพื้นที่สื่อสารทำความเข้าใจ สูตรสลับชนิดปลอดภัย และกระตุ้นภูมิได้เร็ว ช่วยลดป่วยหนักเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 12 ส.ค. เวลา 12.09 น. ฉีดไปแล้วกว่า 22 ล้านคน คิดเป็น 23.81% ในภาพรวมทั้งหมด ขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และคนท้องอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป หรือที่เรียกว่า กลุ่ม 608 ฉีดไปแล้วประมาณเกือบ 30% อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทางสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดสีแดงเข้ม 29 จังหวัดต้องเร่งฉีดให้ได้ตามเป้า 70% ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ จะฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม 50% ของกลุ่มเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการประเมินหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดจึงยังฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ได้เพียง 30% จากทั้งประเทศ นพ.โสภณ กล่าวว่า บางคนยังกังวลในเรื่องวัคซีน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ผู้สูงอายุบางส่วนมองว่าโอกาสติดน้อย เพราะไม่ได้ออกไปไหน ขณะเดียวกันยังมีคนที่กังวลเรื่องการฉีดไขว้ ก็ต้องเร่งทำความเข้าใจมากขึ้นว่า การฉีดไขว้ระหว่างซิโนแวคเข็มแรก และแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สองไม่ได้แตกต่างกับการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันแตกต่างไม่มาก แต่ระยะเวลาของการเกิดภูมิคุ้มกันของการฉีดไขว้เร็วกว่า ในสถานการณ์การระบาดหนักขณะนี้ จึงมีความจำเป็นมาก

เมื่อถามว่าผู้สูงอายุกังวลเรื่องนี้ และอยากได้แอสตร้าฯ สองเข็มมากกว่า นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ก็ต้องสื่อสาร เพราะผลการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้จำกัดอายุ และภูมิต้านทานไม่ได้แตกต่างกัน ขณะที่ ภูมิต้านทานขึ้นเร็วกว่า อย่างการฉีดสลับซิโนแวคและแอสตร้าฯ ใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันขึ้นแล้ว แต่หากแอสตร้าฯ ทั้งสองเข็มต้องใช้เวลา 12-14 สัปดาห์

“เราต้องเร่งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงเร็วที่สุด และครอบคลุมให้มากที่สุด เพราะตัวเลขชัดเจนว่า 70% ที่เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี อีก 20% อายุต่ำกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ 90% เป็นกลุ่ม 608 ดังนั้น เชิงยุทธศาสตร์ก็ต้องเน้นฉีดให้กลุ่มนี้มากที่สุด แต่หลายคนอยู่บ้านเข้าไม่ถึงการนัดหมาย ยิ่งผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด จึงต้องทำเชิงรุกด้วย อย่างตอนนี้ฉีดไปประมาณ 20 ล้านโดส มีความปลอดภัย จากเดิมกำหนดว่า ต้องฉีดในรพ. แต่ขณะนี้ให้ฉีดเชิงรุกในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ได้ รวมไปถึงกรณีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง สามารถจัดทีมบุคลากรเข้าไปฉีดวัคซีนถึงบ้านได้ ซึ่งบางแห่งมีการดำเนินการแล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอพร้อม” เปิด “Heat Map” แสดงข้อมูลฉีดวัคซีนรายจังหวัด พร้อมทำระบบจองคิวตรวจโควิด